guideubon

 

ประวัติชื่อถนนสายสำคัญของเมืองอุบล

ชื่อถนน-อุบล-01.jpg

การวางผังถนนในเขตเทศบาลนครอุบลราชธานี หากมองจากภาพถ่ายทางอากาศจะเป็นเป็นเส้นตัดแนวตั้งกับแนวนอน เป็นสี่เหลี่ยมคล้ายตารางหรือตะแกรงปิ้งปลา อีกทั้งการตั้งชื่อถนน ก็มีความคิดเป็นหมวดเป็นหมู่สมกับที่ได้ชื่อว่าเป็นเมืองนักปราชญ์

สุวิชช-คูณผล-01.jpg

เรื่องชื่อถนนสายสำคัญในเขตเทศบาลนครอุบลราชธานี คุณพ่อสุวิชช คูณผล ปราชญ์เมืองอุบล เจ้าของรางวัล มูนมังเมืองอุบลราชธานี สาขาวรรณกรรม ประจำปี 2558 ได้กรุณาเขียนบทความเรื่อง "ประวัติชื่อถนนสายสำคัญของเมืองอุบล" ตีพิมพ์ในวารสารข่าวหอการค้าจังหวัดอุบลราชธานี ฉบับเดือนเมษายน-กรกฎาคม พ.ศ.2547 จำนวน 4 ตอนต่อเนื่องกัน และไกด์อุบลดอมคอมนำมารวบรวมไว้ในที่เดียวกัน ดังนี้

พระปทุมวรราชสุริยวงศ์ (คำผง) นำไพร่พลมาสร้างเมือง เป็นเวลา 1-2 ปี จึงแล้วเสร็จบริเวณ ตัวเมืองอุบลฯ เดิมเป็นดงใหญ่ เรียกว่า "ดงอู่ผึ้ง" เพราะอุดมไปด้วยต้นไม้นานาชนิด เป็นที่อาศัยของหมู่ผึ้งมากมาย ชี้ให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของอุบลในยุดก่อน ภายในดงมีกู่หรืออโรคยาคารของขอม (ปัจจุบันคือสถานีกาชาดหรืออนามัย 7) ภายหลังโปรดฯ ให้สร้างวัดเหนือท่า วัดเหนือเทิง (คือบริเวณวิทยาลัยอาชีวศึกษาในปัจจุบัน) เมื่อสร้างวัดสุปัฏนาราม จึงได้ยุบวัดเหนือท่า วัดเหนือเทิง พระประธานที่วัดเหนือเทิง ย้ายไปประดิษฐานที่วิหารวัดทุ่งศรีเมือง เรียกว่า พระเจ้าศรีเมือง ตามชื่อวัด

ในการสร้างเมือง ได้สร้างถนนสายแรก คือ ถนนเขื่อนธานี โดยการพูนดินเป็นเขื่อน แล้วสร้างเชิงเทิงดินรอบเมืองด้านเหนือ แนวถนนเขื่อนธานี มีประตูเข้าเมือง 4 ประตู ทำค่ายคูประตูเมืองด้วยเสาไม้แก่น รอบเมือง 3 ด้าน เนื้อที่ของเมืองประมาณ 2,400 ไร่ ประตูทั้งสี่ตั้งอยู่ที่แยกถนนหลวง ถนนอุปราช สี่แยกถนนราชบุตร ถนนราชวงศ์ ที่ตัดกับถนนเขื่อนธานี ตลอดสาย

เดิมทีถนนหนทางในเมือง คงเป็นทางเดินในละแวกบ้านธรรมดา มีทางเกวียนเป็นพื้น ทั้งนี้ ก็เพราะไม่มีรถอย่างทุกวันนี้ จะมีรถม้าและรถลากเป็นครั้งแรก ในสมัยที่กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ มาประทับที่เมืองอุบลราชธานี ในตำแหน่งข้าหลวงต่างพระองค์ และแต่นั้นมา จึงมีการตัดถนนหนทางเป็นสัดส่วนและเรียบร้อย และนำเอาชื่อเจ้านายพื้นเมืองมาใส่เป็นชื่อถนน เช่น ถนนพรหมเทพ หมายถึง เจ้าพรหมเทวานุเคราะห์วงศ์ ถนนพรหมราธ หมายถึง พระพรหมราชวงศา เจ้าเมืองอุบลราชธานี ถนนเขื่อนธานี หมายถึง ถนนตามแนวกำแพงดินของเมือง ถนนพิชิตรังสรรค์ หมายถึง เสด็จในกรมหลวงพิชิตปรีชากร ที่เป็นข้าหลวงต่างพระองค์องค์แรก ถนนสรรพสิทธิ์ ก็เช่นกัน ระยะแรกถนนเหล่านี้ เป็นหินลูกรัง

โดย บำเพ็ญ ณ อุบล

ชื่อถนน-อุบล-02.jpg

ในสมัยก่อน มนุษย์ติดต่อไปมาหาสู่กันโดยเส้นทางเดินเท้า ต่อมาได้ปรับขยายให้กว้างขึ้น เป็นถนนที่ยานพาหนะ เช่น เกวียน รถม้า รถลาก สามารถสัญจรไปมาได้ด้วย ระยะแรกถนนเหล่านี้ ยังไม่ได้มีชื่อ และยังเป็นดินหรือหินลูกรัง ต่อเมื่อบ้านเมืองเจริญขึ้น ถนนจึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีชื่อกำกับ เพื่อใช้บอกตำแหน่งที่ตั้งของที่อยู่อาศัย หรือสถานที่สำคัญอื่นๆ ในชุมชนได้อย่างเป็นสากล เนื่องจากการสร้างถนนในสมัยก่อน ต้องใช้ความรู้ความสามารถ ความวิริยะอุตสาหะอย่างมาก เพราะยังไม่มีบริษัทรับเหมาก่อสร้างและเครื่องจักรกลที่ทันสมัย ใช้แต่แรงงานคน ดังนั้น การตั้งชื่อถนน จึงเป็นการให้เกียรติแก่ผู้สร้างหรือผู้ปกครองบ้านเมืองในตำแหน่งต่าง ๆ ในสมัยนั้นเป็นสำคัญ

ชื่อถนน-อุบล-03.jpg

การสร้างถนนในเมืองอุบลราชธานีก็เช่นเดียวกัน ได้ตั้งชื่อถนน ตามชื่อนามสกุลหรือราชทินนาม ของบุคคลสำคัญในท้องถิ่นเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งนับว่าเป็นกุศโลบายที่ดี เพราะถนนก่อสร้างด้วยวัตถุที่คงทนถาวร ย่อมยืนยงคงอยู่ ที่อนุชนรุ่นหลังจะได้รำลึกถึงผู้ให้สร้าง ผู้สร้างหรือบุคคลสำคัญนั้นๆ ที่ทำคุณประโยชน์ให้แก่บ้านเมือง สืบต่อไปชั่วกาลนานไปชั่วกาลนาน

ในเมืองอุบลฯ (ในเขตเทศบาล) ผู้ตั้งชื่อถนนเริ่มแรก (สมัยกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์) ได้แบ่งการตั้งชื่อถนน ตามทางโคจรของดวงอาทิตย์ กล่าวคือ ถ้าเป็นถนนที่เริ่มจากทิศตะวันออกไปทางทิศตะวันตก หรือที่เรียกว่า ถนนตามตะวัน จะใช้พระนามของข้าหลวงต่างพระองค์และโอรส รวมทั้งราชทินนามเจ้าเมือง เป็นชื่อถนน แต่ถ้าเป็นถนนที่เริ่มจากทิศใต้ไปทางทิศเหนือ (จากท่าริมแม่น้ำมูลเข้าไปในเมือง) หรือที่เรียกว่า ถนนขวางตะวัน จะใช้นามตำแหน่งเจ้านาย ซึ่งเป็นคนอุบลฯ

ชื่อถนน-อุบล-04.jpg

ถนนสายหลักในเขตเมือง (บริเวณดงอู่ผึ้งที่เป็นพื้นที่สูงริมแม่น้ำมูล) มี 3 สายทอดขนานไปตามลำน้ำ ในทิศทางตามตะวันทั้ง 3 สาย สายที่ 1 เลาะเลียบขนานไปกับฝั่งแม่น้ำมูล สายที่ 2 ตัดผ่านย่านกลางเมืองเก่า และสายที่ 3 อยู่ ณ ที่ที่เคยเป็นเขื่อนเมืองเก่า (ซึ่งเป็นเขื่อนที่เกิดจากการพูนดินแล้วสร้างเชิงเทินดินรอบเมือง รวมทั้งทำค่ายประตูเมืองด้วยเสาไม้แก่น ด้านทิศเหนือมีประตูเข้าเมือง 4 ประตู)

จากนั้นมีถนนตัดผ่านตามทิศทางขวางตะวัน มาเชื่อมต่อกับท่าเรือที่สำคัญริมแม่น้ำมูล 6 ท่า ได้แก่ ท่าวัดสุปัฎน์ ท่าอุปราช ท่าจวน ท่ากวางตุ้ง ท่าตลาดหลวง และท่าวัดกลาง (สมัยก่อนการสัญจรใช้ทางน้ำแทนถนน จะเห็นได้จาก แม้แต่จวนข้าหลวง ก็ยังตั้งอยู่ริมแม่น้ำมูล และมีเรือยนต์ไว้ตรวจการ เช่นเดียวกับรถประจำตำแหน่ง) ทำให้มีถนนตัดกันเป็นตารางเหลี่ยมต่อกัน เหมือนตะแกรงปิ้งปลา

ชื่อถนน-อุบล-05.jpg

ถนน "สายหลัก" ตามทางโคจรขึ้นลงของดวงอาทิตย์ (ถนนตามตะวัน) เฉพาะที่ตั้งชื่อตามพระนาม ของข้าหลวงต่างพระองค์ และพระโอรสหรือราชทินนามเจ้าเมือง ได้แก่

1. ถนนพรหมเทพ เป็นถนนตัดเลียบขนานไปกับแม่น้ำมูล เริ่มจากสามแยกถนนราชวงศ์ บริเวณตรงข้ามประตูข้างวัดกลาง แล้วตัดตรงไปทางทิศตะวันตก ผ่านถนนหลวง หน้าวัดหลวง ถนนยุทธภัณฑ์ ถนนอุบลศักดิ์ ถนนราชบุตร ถนนอุปราช (เชิงสะพานรัตนโกสินทร์ 200 ปี ) หน้าที่ทำการกาชาด 7 ถ.ศรีทอง สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด แล้วไปบรรจบกับถนนสุป็ฎน์ ที่สามแยกหน้าประตูทางเข้าวัดสุปัฎน์ ถนนสายนี้ ตั้งชื่อตามราชทินนามของเจ้าพรหมเทวานุเคราะห์วงศ์ (บุตรเจ้าเสือ หลานเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทร์) ซึ่งขณะนั้นเป็นเจ้าราชวงศ์นครจำปาศักดิ์ รัชกาลที่ 4 แต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมืองอุบลฯ ลำดับที่ 5 (ต้นตระกูลพรหมโมบล)
2. ถนนพรหมราช เป็นถนนที่ตัดผ่านกลางเมืองเก่า โดยเริ่มจากสามแยกหน้าโรงเรียนเทศบาลบูรพา ตัดตรงไปทางตะวันตก จากถนนสุนทรกิจวิมลหน้าวัดใต้ หน้าที่ทำการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเขต 2 ถนนเทพโยธี ถนนสุรพล ถนนราธวงศ์ ถนนหลวง ถนนยุทธภัณฑ์ ถนนอุบลศักดิ์ ถนนราชบุตร ถนนอุบลกิจ ถนนอุปราช ถนนศรีทอง ถนนสุปัฎน์ ถนนเบ็ญจะมะ และไปสิ้นสุดที่วัดโรมันคาธอริค ถนนสายนี้ ได้ชื่อตามราชทินนามของพระพรหมราชวงศา เจ้าเมืองอุบลฯ ลำดับที่ 4 ในสมัยรัชกาลที่ 4

ชื่อถนน-อุบล-07.jpg

3. ถนนเขื่อนธานี เป็นถนนที่สร้างตามแนวเขื่อนเมืองเก่าที่ผุพังลง แล้วปรับพื้นที่ในส่วนนี้ให้เป็นถนน และได้ชื่อตามเขื่อนเมืองเดิมว่า เขื่อนธานี ถนนสายนี้ เริ่มจากสามแยกที่บรรจบกับถนนบูรพาใน (หน้าโรงฆ่าสัตว์เดิม) ตัดตรงไปทางทิศตะวันตก ผ่านถนนสุนทรกิจวิมลหน้าวัดเลียบ ถนนเทพโยธี ถนนสุรพล ถนนราชวงศ์ ถนนหลวง ถนนยุทธภัณฑ์ ถนนอุบลศักดิ์ ถนนราชบุตร ถนนอุบลกิจ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติฯ ถนนอุปราช ถนนศรีทอง และไปบรรจบกับถนนสุปัฎน์ บริเวณสามแยกบ้านร้อยตำรวจเอกหลวงไพรีพินาศ

4. ถนนศรีณรงค์ เริ่มจากถนนบูรพาใน (สามแยกหน้าวัดบูรพา) ไปทางทิศตะวันตก ผ่านตลาดกกยางหลุบ ถนนพลแพน ข้างวัดเลียบ ถนนเทพโยธี ถนนราชวงศ์ ถนนหลวง ถนนยุทธภัณฑ์ ถนนราชบุตร ศาลหลักเมือง ทุ่งศรีเมือง ถนนอุปราช ศาลากลางจังหวัดฯ วัดศรีอุบลฯ ถนนสุปัฎน์ ที่ว่าการอำเภอเมืองฯๆ ถนนเบ็ญจะมะ ถนนจงกลนิธาน ถนนพนม และไปสิ้นสุด ณ จุดบรรจบกับถนนชวาลานอก ที่ซอยโพธิ์ทอง ถนนสายนี้ได้ชื่อตามราชทินนามของพระยาศรีสิงหเทพ (ทัด ไกรฤกษ์) ข้าหลวงกำกับราชการเมืองอุบลฯ ลำดับที่ 7 (ผู้เป็นบิดา) และราชทินนามของพระยาภักดีณรงค์ (สิน ไกรฤกษ์) ข้าหลวงฯ ลำดับที่ 8 (ผู้เป็นบุตรคนที่ 1) โดยนำคำว่า (ศรี)) จากบิดา และคำว่า "ณรงค์" จากบุตร เรียงกันเป็น "ศรีณรงค์"

5. ถนนพิชิตรังสรรค์ โดยเริ่มจากถนนบูรพานอก ไปทางตะวันตก ตัดผ่านถนนบูรพาใน ถนนพลแพน ถนนเทพโยธี ถนนหลวง ถนนนครบาล ถนนผาแดง ศาลจังหวัด ตลาดน้อย ศาลเยาวชนและครอบครัว ถนนนพคุณ ธนาคารออมสิน ถนนจงกลนิธาน ถนนชวาลาใน และไปสิ้นสุด ณ จุดที่บรรจบกับถนนชวาลานอก หน้าโรงเรียนสามัคคีวิทยาคาร ถนนสายนี้ตั้งชื่อตามพระนามของพระเจ้าน้องยาเธอพระองค์เจ้าคัดณาง ยุคล กรมหลวงพิชิตปรีชากร (ต้นตระกูลคัคณาง) ข้าหลวงต่างพระองค์สำเร็จราชการหัวเมืองลาวกาว สมัย ร.5 (ตั้งกองทหารและประทับอยู่ ญ เมืองอุบลๆ)

ชื่อถนน-อุบล-06.jpg

6. ถนนสรรพสิทธิ์ เริ่มจากถนนบูรพานอก บริเวณสามแยกหน้าวัดศรีประดู่ ตัดตรงไปทางทิศตะวันตก ผ่านถนนบูรพาใน วิทยาลัยพยาบาล ถนนพลแพน โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ สถานีตำรวจฯ หลังวัดมหาวนาราม วัดแจ้ง ถนนผาแดง วัดปทุมมาลัย กม.ศูนย์ วัดทองนพคุณ ถนนจงกลนิธาน วัดสว่างอารมณ์ ถนนชวาลาใน ถนนชวาลานอก สี่แยกแขวงการทาง โรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช สี่แยกการประปา แล้วไปสิ้นสุดที่เชิงสะพานข้ามมูลน้อย ถนนสายนี้ตังชื่อตามพระนามของ พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าชายชุมพลสมโภชกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ข้าหลวงต่างพระองค์สำเร็จราชการมณฑลอีสาน

7. ถนนอุปลีสาน เริ่มจากถนนสมเด็จ ตรงไปทางทิศตะวันตก ตัดผ่านถนนบูรพาใน ถนนพลแพน สี่แยกวัดสารพัดนึก ถนนหลวง ถนนนครบาล ถนนผาแดง ถนนชยางกูร แล้วไปบรรจบกับถนนแจ้งสนิท ที่สามแยกสำนักชลประทานที่ 5 ถนนสายนี้ตั้งชื่อตามพระนามของ ม.จ.อุปลีสานชุมพล โอรสในกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์กับหม่อมเจียงคำ (ธิดาของท้าวสุรินทร์ชมภูกับญาแม่ดวงจันทร์ หลานเจ้าราชบุตรสุ่ย เจ้าเมืองอุบลราชธานี ลำดับที่ 3)

ชื่อถนน-อุบล-08.jpg

ถนนตามตะวัน ที่ได้ชื่อตามความสำคัญทางประวัติศาสตร์และปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ ได้แก่

1. ถนนพโลรังฤทธิ์ เริ่มจากจุดบรรจบกับถนนบูรพานอก บริเวณสามแยกบ่อบำบัดน้ำเสียหลังวัดบูรพา แล้วตรงไปทางทิศตะวันตกผ่านถนนบูรพาใน วัดพลแพน ถนนเทพโยธี จวนผู้ว่าราชการจังหวัด ถนนราชวงศ์ โรงเรียนอุบลมิชชั่น ถนนหลวง วัดมณีวนาราม วัดทุ่งศรีเมือง ถนนนครบาล โรงเรียนอนุบาลอุบลฯ ถนนราชบุตร ถนนผาแดง ศาลแขวง วัดสุทัศน์ แล้วบรรจบถนนอุปราช ที่สี่แยกวัดสุทัศน์ ถนนสายนี้ ได้ชื่อตามเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ในสมัยรัชกาลที่ 5 จีนฮ่อยกกำลังมารบกวนชายแดนเมืองหนองคาย และเมืองเวียงจันทร์ ในเหตุการณ์ครั้งนี้ เมืองอุบลราชธานีได้ถูกเกณฑ์เอากำลังไพร่พลสมทบกองทัพหลวง ไปปราบฮ่อด้วย และก่อนจะออกเดินทาง ได้มีการรวมพลกันที่ชี่งเป็นที่ตั้งของวัดไชยมงคลในปัจจุบัน เพราะสงบและร่มรื่นไปด้วยต้นโพธิ์ขนาดใหญ่เป็นจำนวนมาก จึงได้ตั้งชื่อถนนช่วงที่อยู่ด้านตะวันออกของเมืองว่า"พโลรังฤทธิ์" (กองทหารที่เพียบพร้อมไปด้วยพลังและอิทธิฤทธิ์)

2. ถนนพโลชัย เริ่มจากถนนอุปราช บริเวณสี่แยกวัดสุทัศน์ฯ ต่อจากถนนพโลรังฤทธิ์ ไปทางตะวันตก ผ่านวัดไชยมงคล โรงพยาบาลเซ็นทรัล ถนนจงกลนิธาน ถนนพนม ถนนชวาลาใน โรงเรียนเยาวเรศศึกษา ถนนชวาลานอก โรงแรมทอแสง เรือนจำกลาง สำนักงานประกันสังคม และไปสิ้นสุดที่ริมมูลน้อย ถนนสายนี้ได้ชื่อตามเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ เมื่อกองทหารเมืองอุบลยกไปช่วยกองทัพหลวงปราบฮ่อ จนได้รับชัยชนะ จึงนำมาตั้งเป็นชื่อถนนไว้เป็นอนุสรณ์ เพื่อให้อนุชนรุ่นหลังได้ภาคภูมิใจต่อบรรพบุรุษสืบไปว่า "พโลชัย" (กองทหารที่มีชัยเหนือศัตรู)

3. ถนนสุริยาตร์ เริ่มจากถนนพาผลบริเวณริมห้วยวังนอง ตรงไปทิศตะวันตก ตัดผ่านถนนสมเด็จ ถนนบูรพาใน ถนนพลแพน วัดสารพัดนึก หลังโรงพยาบาลสรรพสิทธิ์ฯ ถนนเทพโยธี สถานีตำรวจฯ ถนนหลวง ถนนนครบาล วัดแจ้ง ถนนผาแดง ถนนอุปราช ถนนนพคุณ ถนนจงกลนิธาน ถนนชวาลาใน และไปบรรจบกับถนนแจ้งสนิท ที่สามแยกหน้าแขวงการทาง ถนนสายนี้ได้ชื่อตามทางโคจรของดวงอาทิตย์ จากทิศตะวันออกไปทิศตะวันตก หรืออีกนัยหนึ่ง อาจมาจากชื่อพระปทุมวรราชสุริยวงศ์ (คำผง) เจ้าเมืองคนแรก จึงได้ชื่อว่า "สุริยาตร์ "

4. ถนนสุรศักดิ์ เป็นถนนที่เชื่อมต่อระหว่างถนนอุปราชกับถนนจงกลนิธาน โดยเริ่มจากบริเวณสามแยกถนนอุปราชข้างศาลากลางจังหวัด ผ่านวัดไชยมงคล สำนักงานองค์การบริหารส่วนจังหวัด และบรรจบกับถนนจงกลนิธาน ที่สามแยกหน้าโรงเรียนสารพัดช่าง ถนนสายนี้ได้ชื่อตามราชทินนามของ จอมพลเจ้าพระยาสุรศักดี์มนตรี ซึ่งเคยเป็นแม่ทัพบังคับบัญชากองทหารจากเมืองอุบลฯ ที่ถูกเกณฑ์ไปปราบฮ่อที่แคว้นหลวงพระบาง และแคว้นสิบสองจุไท สมัยกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ เป็นข้าหลวงต่างพระองค์สำเร็จราชการหัวเมืองลาว พุงดำ และเมื่อรบได้ชัยชนะ จึงนำราชทินนามมาเป็นชื่อถนนสายนี้ เพราะผ่านวัดไชยมงคลที่เคยเป็นสถานที่รวมพล

ชื่อถนน-อุบล-09.jpg

ถนนขวางตะวันสายหลัก ที่มีจุดเริ่มต้นจากท่าน้ำริมแม่น้ำมูลหรือจากทิศใต้ ขึ้นไปทางทิศเหนือุ ตั้งชื่อถนนตามตำแหน่ง "อาชญาสี่" มี 3 สายด้วยกัน ได้แก่

1. ถนนอุปราช เริ่มจากท่าอุปราช (บริเวณเชิงสะพานรัตนโกสินทร์ 200ปี ซึ่งสะพานเสรีประชาธิปไตยอยู่คู่ขนาน) ตัดตรงขึ้นไปทางเหนือ ผ่านถนนสายตามตะวันสายหลัก (ทั้ง 3 สาย) วัดศรีอุบลฯ ศาลากลางจังหวัด ถนนศรีณรงค์ แยกวัดสุทัศน์ แยกตลาดเทศบาล 2 (ตลาดน้อย) แล้วไปสิ้นสุดที่ กม.ศูนย์ เมื่อบรรจบกับถนนชยางกูร ถนนสายนี้ ได้ชื่อตามท่าน้ำริมแม่น้ำมูล และคุ้มเจ้าอุปราช (โฮงเหนือ) ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของถนนสายนี้
2. ถนนราชบุตร เริ่มจากท่าจวน (แต่เดิมเรียกว่า "ท่าวังใหม่" ปัจจุบันเป็นตลาดสด ตลาดใหญ่หรือตลาดเทศบาล 3) ตรงเข้าไปในเมือง ตัดผ่านถนนตามตะวันทั้ง 3 สาย ผ่านมุมทุ่งศรีเมืองด้านโรงเรียนอนุบาลฯ และไปสิ้นสุดที่สามแยกบรรจบกับถนนพโลรังฤทธิ์ บริเวณมุมทุ่งศรีเมือง ด้านอนุสาวรีย์แห่งความดี ได้ชื่อตามคุ้มเจ้าราชบุตร (โฮงท่ง บริเวณที่เป็นโรงภาพยนตร์สินราชบุตรในปัจจุบัน)

3. ถนนราชวงศ์ เริ่มจากท่าน้ำวัดกลาง ตัดตรงขึ้นไปผ่านถนนสายตามตะวัน (ทั้ง 3 สาย) แล้วไปบรรจบกับถนนพโลรังฤทธิ์ ที่สามแยกหน้าโรงเรียนอนุบาลมิชชั่น ถนนสายนี้ ได้ชื่อเนื่องจากตัดผ่าน คุ้มเจ้าราชวงศ์ (บริเวณเหนือวัดกลาง ตรงที่เป็นบ้านร้อยตำรวจตรีหมื่นกล้ากรณีย์ และบ้านทนายสิงห์คำ สุวรรณกูฎ) จึงไดชื่อว่า "ราชวงศ์"

นอกจากนี้ ยังมีถนนขวางตะวันสายรอง และถนนเชื่อมต่อกับทางหลวงแผ่นดิน ที่ได้ชื่อตามราชทินนาม หรือชื่อของบุคคลสำคัญอีกหลายสาย ดังนี้

1. ถนนอุบลกิจ เป็นถนนสายสั้นๆ เชื่อมต่อระหว่างถนนพรหมราชกับถนนเขื่อนธานี ได้ชื่อตามราชทินนามของ พระอุบลกิจประชากร (ท้าวบุญเพ็ง บุตโรบล บุตรเจ้าราชบุตรคำ) ผู้รักษาราชการในตำแหน่งเจ้าเมืองคนสุดท้าย (และเป็นอัญญาสี่เมืองอุบล สืบมาแต่เจ้านายเก่า) ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ช่วยราชการเมือง มีราชทินนามว่า "พระอุบลกิจประชากร" (ในสมัยกรมหมื่นสรรพสิทธิประสงค์) ซึ่งมีคุ้มโฮงตั้งอยู่บริเวณนี้ รวมทั้งเป็นผู้มอบที่ดินบางส่วนให้ทางการสร้างถนนนี้ด้วย

2. ถนนอุบลศักดิ์ เริ่มจากถนนพรหมเทพ (สามแยกตะวันตกวัดหลวง) ตรงขึ้นไปตัดผ่านถนนพรหมราช ไปบรรจบกับถนนเขื่อนธานี บริเวณสามแยกด้านหลังสำนักงานเทศบาลนครอุบลราชธานี ได้ชื่อตามราชทินนามของ พระอุบลศักดิ์ประชาบาล (กุคำ สุวรรณกูฎ บุตรเจ้าราชวงศท้าว สุวรรณกุฎ ซึ่งเป็นราชวงศ์เมืองอุบลคนสุดท้าย และเป็นอัญญาสี่ของเมืองอุบลฯ ที่สืบเชื้อสายมาจากเจ้านายเก่า ต้นตระกูลสุวรรณกูฎ) ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็น ยกกระบัตรเมืองอุบล ในสมัยกรมหมื่นสรรพสิทธิประสงค์ (เดิมถนนสายนี้ มีชื่อว่า "ถนนมหันตโทษ" เพราะนักโทษที่มาทางเรือ จะถูกนำไปคุมขังในเรือนจำ ที่อยู่สุดถนนสายนี้ ได้แก่ บริเวณสำนักงานเทศบาลนครอุบลฯ ในปัจจุบัน)

3. ถนนสุรพล เป็นถนนเชื่อมต่อระหว่าง ถนนพรหมราชกับถนนเขื่อนธานี (อยู่ระหว่างถนนราชวงศ์กับถนนเทพโยธี) ถนนสายนี้ ได้ชื่อตามราชทินนามของ "พระสุรพลชยากร" (อุ่น วนะรมย์) เมืองแสน ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นพล (เมือง) มีหน้าที่กำกับฝ่ายกำลังพลของเมืองในสมัยกรมหมื่นสรรพสิทธิประสงค์

ชื่อถนน-อุบล-10.jpg

4. ถนนเทพโยธี เป็นถนนเชื่อมต่อถนนพรหมราชกับถนนอุปลีสาน เริ่มจากถนนพรหมราชตัดผ่านถนนเขื่อนธานี ถนนศรีณรงค์ จวนผู้ว่าราชการจังหวัด ถนนพโลรังฤทธิ์ ถนนพิชิตรังสรรค์ ถนนสรรพสิทธิ์ โรงพยาบาลสรรพสิทธิฯ สถานีตำรวจ ถนนสุริยาตร์ วัดสารพัดนึก ถนนอุปลีสาน สำนักงานขนส่งจังหวัดอุบล และสิ้นสุด ณ ประตูทางเข้าสนามบินนานาชาาติ ถนนสายนี้ ได้ชื่อตามราชทินนามของ "พระโยธีบริรักษ์" (เคลือบ ไกรฤกษ์ บุตรชายคนที่ 2 ของพระยาศรีสิงหเทพ) เจ้าเมืองอุบลฯ ลำดับที่ 9

5. ถนนสุนทรกิจวิมล เป็นถนนสายสั้นๆ ที่สร้างเชื่อมต่อถนนพรหมราช กับถนนเขื่อนธานี โดยเริ่มจากหน้าสำนักงานการไฟฟ้าเขต 2 ไปบรรจบกับถนนเขื่อนธานี บริเวณสามแยกทิศตะวันออกวัดใต้ ถนนสายนี้ ได้ชื่อตามราชทินนามของ "พระสุนทรกิจวิมล" (คูณ สังโขบล) ซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็น มหาดไทยเมือง ในสมัยกรมหมื่นสรรพสิทธิประสงค์ (ป้ายชื่อถนนปัจจุบันเขียนว่า "สุนทรวิมล")

6. ถนนจงกลนิธาน เป็นถนนที่สร้างเชื่อมต่อถนนศรีณรงค์กับถนนสุริยาตร์ เริ่มจากสามแยกหน้าโรงเรียนอาเวมารีอา ผ่านโรงเรียนสารพัดช่าง ถนนสุรศักดิ์ ถนนพโลชัย สำนักงานที่ดินจังหวัด ถนนพิชิตรังสรรค์ ถนนสรรพสิทธิ์ และบรรจบกับถนนสุริยาตร์ ที่สามแยกตรงข้ามซอยสุริยาตร์ 26 ถนนสายนี้ ได้ชื่อตามราชทินนามของ "พระจงกลนิธานสุพันธ์" (สุคำทัด สุวรรณกุฎ) กรมการเมืองผู้ใหญ่ สมัยกรมหมื่นสรรพสิทธิประสงค์ (ถนนสายนี้เดิมมีชื่อว่า "ถนนมาฮี")

7. ถนนพนม เริ่มจากท่าน้ำบ้านบุ่งกระแชวริมแม่น้ำมูล แล้วตัดตรงขึ้นไปทางทิศเหนือ ตัดผ่านถนนศรีณรงค์ หลังวิทยาลัยสารพัดช่าง แล้วไปบรรจบกับถนนพโลชัย บริเวณสามแยกหน้าบ้านพักอดีตผู้ว่าราชการจังหวัด เรือตรีดนัย เกตุศิริ ได้ชื่อตามราชทินนามของ "อำมาตย์เอกพนมนครานุรักษ" (ฮกไถ่ พิศาลบุตร) เจ้าเมืองอุบลฯ ลำดับที่ 22

ชื่อถนน-อุบล-11.jpg

8. ถนนแจ้งสนิท (หรือทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 23) เริ่มต้นจากถนนสรรพสิทธิ์ หน้าที่ทำการแขวงการทางตรงขึ้นไปทางทิศเหนือ ผ่านสำนักงานชลประทานที่ 5 ถนนอุปลีสาน วิทยาลัยเทคนิคโรงเรียนนารีนุกูล ศนจ. หอนานิกา แล้วเลี้ยงซ้ายไปทางอำเภอเขื่องใน ผ่านจังหวัดยโสธร ร้อยเอ็ด มหาสารคาม แล้วบรรจบกับทางหลวงหมายเลข 2 (กรุงเทพ-หนองคาย) ที่อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น ถนนสายนี้ ตั้งชื่อตามนามสกุลของนายวินิต แจ้งสนิท ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นนายช่างแขวงการทางยโสธรในขณะนั้น (นายวินิต เป็นคนภาคกลาง เป็นนายช่างรุ่นหลัง ม.จ.วิเศษศักดิ์ฯ ประมาณ 10 ปี )

ชื่อถนน-อุบล-12.jpg

9. ถนนชยางกูร หรือทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 212 เริ่มจากถนนสรรพสิทธิ์ ตรงหลัง กม.ศูนย์ ต่อจากถนนอุปราช เป็นแนวเอียงไปทางทิศตะวันตกเล็กน้อย ตัดผ่านถนนสุริยาตร์ ถนนอุปลีสาน (สี่แยกสนามบิน) ถนนราธธานี ศนอ. โรงเรียนอัสสัมชัญ โรงเรียนเมืองอุบล ตลาดหนองบัว ตลาดบ้านดอนกลาง ธนาคารกรุงไทยฯ อำเภอม่วงสามสิบ อำเภอลืออำนาจ จังหวัดอำนาจเจริญ จังหวัดมุกดาหาร ถนนสายนี้ สร้างใหม่สมัย ม.จ.วิเศษศักดิ์ ชยางกูร (โอรสพระองค์เจ้าไชยา นุชิต ซึ่งต่อมาได้รับการสถาปนาเป็นพระบรมวงศ์เธอกรมหมื่นพงศาดิศรมหิปต้นตระกูลธยางกูร) ซึ่งดำรงตำแหน่งนายช่างแขวงการทางอำนาจเจริญอยู่ในขณะนั้น (ต่อมาถนนสายนี้ ได้สร้างต่อเลียบริมฝั่งแม่น้ำโขง ผ่านจังหวัดนครพนม และสิ้นสุดที่จังหวัดหนองคาย)

ชื่อถนน-อุบล-13.jpg

นอกจากนี้ ยังมีถนนขวางตะวันสายรอง ที่ได้ชื่อตามความสำคัญทางประวัติศาสตร์ ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ และอื่นๆ อีกหลายสาย ได้แก่

1. ถนนเบ็ญจะมะ เริ่มจากริมแม่น้ำมูล บริเวณหลังวัดสุปัฏนารามฯ ตรงขึ้นไปผ่านหน้าวัดโรมัน ถนนพรหมราช แล้วไปบรรจบกับถนนศรีณรงค์ ตรงบริเวณสามแยกหน้าสำนักงานสาธารณสุขอำเภอเมืองอุบลฯ เนื่องจากด้านตะวันออกเฉียงเหนือของบริเวณนี้ เป็นที่ตั้งของโรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช (โรงเรียนประจำมณฑลแห่งแรกของจังหวัดอุบลฯ) จึงตั้งชื่อถนนสายนี้ว่า "ถนนเบ็ญจะมะ"

2. ถนนสุปัฏน์ เริ่มจากท่าน้ำหน้าวัดสุปัฎน์ ผ่านสามแยกหน้าวัดสุปัฎน์ ถนนพรหมราช ถนนเขื่อนธานี แล้วไปบรรจบกับถนนศรีณรงค์ ตามสามแยกหน้าที่ว่าการอำเภอเมืองอุบลๆ ถนนสายนี้ได้ชื่อตามวัดสุปัฎนารามวรวิหาร ที่เป็นจุดเริ่มและจุดผ่านของถนน

3. ถนนหลวง เริ่มจากท่าตลาดหรือท่าเรือขุนพงษ์ฯ และโรงไม้ของขุนพงษ์พาณิชย์ ตัดเลียบข้างตลาดหลวงเดิมขึ้นไป ผ่านถนนพรหมราช ถนนเขื่อนธานี ถนนศรีณรงค์ ถนนพโลรังฤทธิ์ วัดมณีวนาราม ถนนพิชิตรังสรรค์ วัดมหาวนาราม สถานีตำรวจภูธร ถนนสุริยาตร์ และบรรจบกับถนนอุปลีสาน ตรงสามแยกหน้าบ้านพักข้าราชการ กรมอุตุนิยมวิทยา ถนนสายนี้ได้ชื่อตาม "ตลาดหลวง" ที่เป็นจุดเริ่มต้นของถนน

4. ถนนบูรพานอก เริ่มจากปลายสุดของถนนพโลรังฤทธิ์ บริเวณสามแยกทางเข้าบ่อบำบัดน้ำเสียหลังวัดบูรพา ตัดตรงขึ้นไปทางทิศเหนือ ผ่านถนนพิชิตรังสรรค์ ถนนสรรพสิทธิ ถนนสุริยาตร์ และบรรจบกับถนนสมเด็จ เนื่องจากถนนสายนี้ เป็นถนนที่อยู่ทางด้านทิศตะวันออก (บูรพา) สุดของเมือง และมีจุดเริ่มต้นจากหลังวัดบูรพา จึงได้ชื่อว่า "ถนนบูรพานอก"

5. ถนนบูรพาใน เริ่มจากปลายสุดของถนนเขื่อนธานี บริเวณหน้าโรงม่าสัตว์เดิม ตัดตรงขึ้นไปทางทิศเหนือ ผ่านถนนศรีณรงค์หน้าวัดบูรพา ถนนพโลรังฤทธิ์ ถนนพิชิตรังสรรค์ ถนนสรรพสิทธิ ถนนสุริยาตร์ ถนนอุปลีสาน และไปสิ้นสุด ณ จุดที่บรรจบกับถนนราษฏร์บำรุง (ด้านตะวันออกสนามบินนานาชาติ) ถนนสายนี้ อยู่ทางทิศตะวันออก (บูรพา) ของเมือง แต่อยู่ถัดถนนบูรพานอกเข้ามาในเมืองเล็กน้อย และผ่านหน้าวัดบูรพา จึงได้ชื่อว่า"บูรพาใน"

6. ถนนชวาลานอก เริ่มจากปลายสุดของถนนศรีณรงค์ ที่ซอยโพธิ์ทอง ผ่านถนนพโลชัย โรงเรียนสามัคคีวิทยาคาร ถนนพิชิตรังสรรค์ แล้วไปบรรจบกับถนนแจ้งสนิท ที่สี่แยกหน้าแขวงการทางอุบลฯ ถนนสายนี้ อยู่ทางทิศตะวันตกสุดของเมือง เมื่อดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า ความมืดก็เข้ามาเยือน เสมือนเป็นสัญญาณเตือนชาวบ้านให้จัดเตรียมหาแสงสว่าง (ชวาลา) คือ จุดตะเกียงหรือเปิดไฟฟ้าได้แล้ว และเนื่องจากตัดผ่านคุ้มบ้านสว่างด้านนอกด้วย ถนนสายนี้จึงได้ขึ้นชื่อว่า "ชวาลานอก "

7. ถนนชวาลาใน เริ่มจากถนนพโลชัย ตรงบริเวณสามแยกหน้าโรงเรียนเยาวเรศฯ ตรงขึ้นไปทางทิศเหนือ ผ่านถนนพิชิตรังสรรค์ วัดสว่างอารมณ์ ถนนสรรพสิทธิ์ ถนนสุริยาตร์ แล้วไปบรรจบกับถนนอุปลีสาน บริเวณตรงข้ามกับซอยอุปลีสาน 12 ถนนสายนี้ อยู่ทางทิศตะวันตก เช่นเดียวกับถนนชวาลานอก แต่อยู่ถัดเข้ามาในเมืองเล็กน้อย และผ่านคุ้มบ้านสว่างด้านในด้วย จึงได้ชื่อว่า "ชวาลาใน" (คำว่า "ชวาล" หรือ "ชวาลา" ตามพจนานุกรมฯ มีความหมายว่า "สว่าง")

8. ถนนพลแพน เริ่มจากถนนเขื่อนธานี บริเวณสามแยกทิศตะวันออกเฉียงเหนือ โรงเรียนเทศบาลบูรพาอุบล ตัดตรงขึ้นไปผ่านถนนศรีณรงค์ ถนนพโลรังฤทธิ์ วัดพลแพน ถนนพิชิตรังสรรค์ ถนนสรรพสิทธิ ถนนสุริยาตร์ ถนนอุปลีสาน แล้วไปบรรจบกับถนนราษฏร์บำรุง ถนนสายนี้ได้ชื่อตามชื่อของ"วัดพลแพน" ที่ถนนตัดผ่านด้านตะวันตกของวัด

9. ถนนนครบาล เริ่มจากถนนศรีณรงค์ บริเวณสามแยกหน้าสำนักงานเทศบาลนครอบลฯ ตรงขึ้นไปทางทิศเหนือ ตัดผ่านหลังโรงเรียนอนุบาล ถนนพโลรังฤทธิ์ ถนนพิชิตรังสรรค์ ถนนสรรพสิทธิ วัดแจ้ง ถนนสุริยาตร์ แล้วไปบรรจบกับถนนอุปลีสาน สาเหตุที่ได้ชื่อ "นครบาล" นั้น สันนิษฐานว่า เป็นถนนเชื่อมต่อไปถึงสถานีตำรวจ ซึ่งเป็นหน่วยงานของทางราชการ ที่มีหน้าที่พิทักษ์สันติราษฏร์แก่คนในเมือง เช่นเดียวกับตำรวจนครบาลในส่วนกลาง จึงใช้ชื่อถนนสายนี้ว่า "นครบาล"

10. ถนนผาแดง เริ่มจากถนนพโลรังฤทธิ์ บริเวณสามแยกศาลแขวง ตรงขึ้นไปทางทิศเหนือ ผ่านศาลจังหวัด ถนนพิชิตรังสรรค์ ถนนสรรพสิทธิ โรงเรียนศรีทองวิไล ถนนสุริยาตร์ และไปสิ้นสุดเมื่อบรรจบกับถนนอุปลีสาน สามแยกธนาคารอาคารสงเคราะห์ ตรงกันข้ามกับรั้วกองบิน 21 ถนนสายนี้ได้ชื่อตาม หอพระภูมิเจ้าผาแดง ที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของถนนสายนี้ (บริเวณหอพระภูมิ เดิมมีบริเวณกว้างตั้งแต่โรงเรียนอุบลวิทยาคม จนถึงตลาดน้อย)

11. ถนนศรีทอง เริ่มจากสามแยกถนนพรหมเทพ หน้าสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด วิทยาลัยอาชีวะ ถนนพรหมราช แล้วไปบรรจบกับถนนเขื่อนธานี ที่หน้าประตูด้านใต้ของวัดศรีอุบลรัตนาราม ซึ่งแต่เดิมชื่อวัดศรีทอง (แต่เดิมถนนสายนี้ มีชื่อว่าถนนโรงเลื่อย เพราะบริเวณริมแม่น้ำมูลที่เป็นจุดเริ่มต้นของถนนสายนี้ เคยเป็นที่ตั้งโรงเลื่อยจักรของพระยาศรีสิงหเทพและหุ้นส่วน ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นถนนศรีทอง เมื่อโรงเลื่อยได้เลิกกิจการไป)

12. ถนนนพคุณ เริ่มจากถนนพิชิตรังสรรค์ ตรงบริเวณสามแยกหน้าธนาคารออมสินปัจจุบัน ผ่านถนนสรรพสิทธิ วัดทองนพคุณ (ด้านทิศตะวันตก) แล้วไปสิ้นสุด ณ จุดที่บรรจบกับถนนสุริยาตร์ ถนนสายนี้ได้ชื่อตามชื่อของวัดที่ถนนตัดผ่านคือ วัดทองนพคุณ (ถนนสายนี้เดิมมีชื่อว่า "ถนนท้องแล้ง")

13. ถนนยุทธภัณฑ์ เริ่มจากท่ากวางตุ้ง ผ่านวัดหลวง แล้วตัดตรงขึ้นไปทางทิศเหนือ ผ่านถนนพรหมราช ถนนเขื่อนธานี ธนาคารออมสิน (เดิม) สำนักงานเทศบาลเมือง (เดิม) แล้วไปบรรจบกับถนนศรีณรงค์ บริเวณสามแยกสถานีดับเพลิงเทศบาลนครอุบลฯ ได้ชื่อตามคลังแสงสรรพาวุธ ที่ตั้งอยู่ทางด้านตะวันตกเฉียงใต้ (บริเวณท่าวังใหม่จวนข้าหลวงประจำจังหวัด) เพื่อเป็นอนุสรณ์ที่เมืองอุบลๆ เคยมีคลังแสงอาวุธแล้วยุบเลิกไป

ทางหลวงในจังหวัดอุบลราชธานี

1. ถนนสถิตนิมานการ เริ่มจากหน้าบ้านพระยาศรีธรรมศกราช (ปิ๋ว บุนนาค) อดีตเทศาภิบาลมณฑลอุบลราชธานี (ปัจจุบันเป็นที่ทำการ ร.ส.พ.อุบลฯ) อำเภอวารินชำราบ ผ่านอำเภอพิบูลมังสาหารถึงพรมแดนไทย ลาวที่ช่องเม็ก ถนนสายนี้ นายช่างโครงการก่อสร้างคือ หลวงสถิตนิมานกาล นายช่างใหญ่กรมทางหลวง ประมาณปี พ.ศ. 2475-2479

หลวงสถิตนิมานการ ชื่อเดิม นายชวน สุปิยพันธุ์ สำเร็จวิชาสถาปัตยกรรม จากประเทศเยอรมันนี เป็นสถาปนิกผู้ออกแบบ พระอุโบสถวัดสูปัฏนารามวรวิหาร ลักษณะพระอุโบสถแบ่งเป็น 3 ส่วนคือ 1. ส่วนหลังคา เป็นศิลปะแบบไทย 2. ส่วนกลาง เป็นศิลปะตะวันตกแบบเยอรมัน 3. ส่วนฐาน เป็นศิลปะแบบขอม เป็นที่สงสัยกันมานานแล้วว่า ศิลปะแบบเยอรมัน มาสัมพันธ์กับศิลปะไทยและศิลปะขอมได้อย่างไร เมื่อทราบประวัติสถาปนิกว่า สำเร็จจากประเทศเยอรมันนี จึงทราบความกระจ่าง พระอุโบสถวัดสุปัฏนารามฯ จึงเป็นสิ่งก่อสร้างที่มีศิลปะผสมกลมกลืนระหว่างตะวันออกกับตะวันตก (ซี่งอยู่ห่างกันคนละซีกโลก) ได้อย่างลงตัวงดงามน่าอัศจรรย์ ก็เพราะความสามารถของหลวงสถิตนิมานการ ผู้สร้างได้ทั้งทางหลวงและพระอุโบสถที่งามวิจิตรตระการตา

2. ถนนสถลมารค ทางหลวงแผ่นดินสาย อุบลราชธานี-เดชอุดม ถนนสายนี้ นายช่างโครงการก่อสร้างคือ หลวงสถลมารคมานิตย์ (สถลมารค สุวรรณเนตร) อดีตนายช่างกำกับแขวง

ขอบคุณข้อมูลจาก นายสุวิชช คูณผล
เผยแพร่โดย ไกด์อุบล