วัดสุปัฏนาราม วัดที่สร้างโดยพระราชศรัทธาในพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4
ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งมีการจัดสร้างพระเมรุมาศจำลองทั่วทุกจังหวัด เพื่อให้ประชาชนชาวไทยทุกคน ไม่ว่าจะอยู่ ณ ที่แห่งใดสามารถร่วมพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ โดยถวายดอกไม้จันทน์และร่วมส่งเสด็จได้อย่างทั่วถึงนั้น จังหวัดอุบลราชธานี ได้กำหนดให้ วัดสุปัฏนาราม วรวิหาร เป็นสถานที่ในการก่อสร้างพระเมรุมาศจำลอง และเป็นสถานที่ประกอบพิธีถวายดอกไม้จันทน์ ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช วันที่ 26 ตุลาคม 2560 นี้
การที่จังหวัดอุบลราชธานี เลือกวัดสุปัฏนารามวรวิหาร เป็นสถานที่ประกอบพิธี เนื่องจากเป็นวัดที่จัดสร้างโดยพระราชศรัทธาในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 โดยได้เริ่มสร้างวัดในปี พ.ศ.2396 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าพระราชทานนามว่า วัดสุปัฏนาราม อันหมายถึง วัดที่มีสถานที่ตั้งเหมาะสม เป็นท่าเรือที่ดี ถือเป็นวัดธรรมยุตวัดแรกของจังหวัดอุบลราชธานี
สำหรับมูลเหตุการสร้างวัดนั้น เริ่มจาก พระอธิการดี พนฺธุโล (เจ้าอาวาสรูปแรกของวัด) เป็นชาวอุบล เกิดที่บ้านหนองไหล อ.เมืองอุบลราชธานี ข้อมูลวันเดือนปีเกิดและชื่อบิดามารดาไม่ปรากฎแน่ชัด เมื่ออุปสมบทแล้ว ท่านจำพรรษาที่วัดเหนือ (ปัจจุบันคือ สนง.สาธารณสุขจังหวัดอุบล) เพื่อศึกษาเล่าเรียน ต่อจากนั้นเดินทางไปกรุงเทพฯ จำพรรษาที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏิ์
เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงออกผนวชในปี พ.ศ.2367 และเสด็จมาเป็นเจ้าอาวาสครองวัดบวรนิเวศวิหาร มีผู้นำท่านพนฺธุโล (ดี) เข้าเฝ้าถวายตัว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้ญัตติเป็นธรรมยุติ มีฉายาว่า "พนฺธุโล" แล้วพำนัก จำพรรษา ศึกษาเล่าเรียนที่วัดบวรนิวเวศวิหารตั้งแต่นั้นมา ถือเป็น ปุราณสหธรรมมิก (ผู้ร่วมปฏิบัติธรรม) ในพระองค์ท่าน
พ.ศ.2394 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จลาผนวชและทรงครองราชย์แล้ว ไม่นาน พระพรหมราชวงศ์ (กุทอง) เจ้าเมืองอุบลราชธานีคนที่ 2 เดินทางมากรุงเทพฯ เพื่อเข้าเฝ้าฯ ถวายรายงานราชการตามปกติ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชกระแสรับสั่งให้พระพรหมราชวงศ์ (กุทอง) ออกไปเผยแผ่พระธรรมวินัยและขยายวงศ์ธรรมยุติ โดยการสร้างวัดขึ้นในเมืองอุบลราชธานีด้วย
เมื่อพระพรหมราชวงศ์ (กุทอง) กลับถึงเมืองอุบลราชธานีแล้ว ก็ดำเนินการสร้างวัดจนแล้วเสร็จ และได้อาราธนาท่านพนฺธุโล (ดี) ไปจำพรรษาเป็นเจ้าอาวาส พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสละพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เป้็นเงิน 10 ชั่ง เป็นค่าใช้จ่ายในการก่อสร้าง พระราชทานให้มีผู้ปฏิบัติดูแลวัด (เลขวัด) 60 คน และพระราชทานนิตยภัตแก่เจ้าอาวาสเดือนละ 8 บาท
สิ่งสำคัญในวัดคือ พระอุโบสถซึ่งมีขนาดกว้าง 20 เมตร ยาว 34 เมตร สูง 22 เมตร สถาปนิกผู้ออกแบบคือ หลวงสถิตย์นิมานกาล (ชวน สุปิยพันธุ์) นายช่างทางหลวงแผ่นดิน เป็นพระอุโบสถที่สร้างขึ้นแทนหลังเก่า เริ่มสร้างในปี 2460 แล้วเสร็จในปี พ.ศ.2479
ลักษณะของพระอุโบสถแบ่งเป็น 3 ส่วนคือ ส่วนหลังคาเป็นศิลปะแบบไทย ส่วนกลางเป็นศิลปะตะวันตก และส่วนฐานเป็นศิลปะแบบขอม ภายในพระอุโบสถ เป็นที่ประดิษฐานพระประธานของวัดคือ พระสัพพัญญูเจ้า เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย
เรียบเรียงข่าวโดย ไกด์อุบล