น้อมสักการะพระบรมสารีริกธาตุฯ 4 วัน ยอดรวม 810,374 คน
ค่ำวันที่ 13 มีนาคม 2567 ประชาชนยังเดินทางเข้าสักการะ พระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตธาตุของพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ ที่วัดมหาวนาราม พระอารามหลวง จังหวัดอุบลราชธานี อย่างต่อเนื่อง โดยจังหวัดอุบลราชธานี รับพระบรมสารีริกธาตุ และพระอรหันตธาตุฯ มาเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2567 และจัดให้มีริ้วขบวนอัญเชิญฯ อย่างยิ่งใหญ่ จากศาลหลักเมืองไปยังวัดมหาวนาราม เช้าวันที่ 10 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา ก่อนจะเปิดให้พุทธศาสนิกชนได้เข้ากราบสักการะ ตั้งแต่วันที่ 10 มีนาคม 2567 ถึงวันที่ 13 มีนาคม 2567 รวมระยะเวลา 4 วันเต็ม
สำหรับจำนวนประชาชนที่เข้าร่วมกราบสักการะ พระบรมสารีริกธาตุ และพระอรหันตธาตุ ตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ 13 มีนาคม 2567 ถึงวันที่ 13 มีนาคม 2567 ระหว่างเวลา่ 07.00-21.00 น. รวม 4 วัน มีดังนี้
10 มีนาคม 2567 จำนวน 137,997 คน
11 มีนาคม 2567 จำนวน 154,115 คน
12 มีนาคม 2567 จำนวน 220,620 คน
13 มีนาคม 2567 จำนวน 297,642 คน
ยอดรวม 810,374 คน
และเช้าวันที่ 14 มีนาคม 2567 จังหวัดอุบลราชธานี จะได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ และพระอรหันตธาตุของพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ จากที่ประดิษฐาน วัดมหาวนาราม พระอารามหลวง ไปประดิษฐานเป็นการชั่วคราว ณ วัดมหาธาตุวชิรมงคล จังหวัดกระบี่ ระหว่างวันที่ 14-18 มีนาคม 2567 เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระเกียรติพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฏาคม 2567 และให้ประชาชนในจังหวัดทางภาคใต้ ได้กราบสักการะเป็นจังหวัดต่อไป
อุบลราชธานีศรีวนาลัยประเทศราช ราชธานีแห่งธรรม มหานครแห่งศรัทธา สักการะพระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตธาตุฯ
อุบลราชธานี มีพระพุทธศาสนาเป็นศูนย์รวมจิตใจ เป็นมหานครแห่งธรรมะ เป็นถิ่นกำเนิดของพระอริยสงฆ์มากที่สุดของประเทศ อีกทั้งยังมีวัดในพระพุทธศาสนามากถึง 1,811 แห่ง ยิ่งไปกว่านั้น พลังศรัทธาในบวรพระพุทธศาสนายังสะท้อนอย่างชัดเจนผ่านพุทธศิลป์อันประณีต หลอมรวมใจ ในประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษา
อุบลราชธานี คือหมุดหมายของมหานทีคงคาสู่ลุ่มน้ำโขง เนื่องเพราะแม่น้ำสายสำคัญของประเทศไหลลงสู่แม่น้ำโขง พร้อมรับตะวันใหม่ ที่จังหวัดอุบลราชธานี อีกทั้งภูมิศาสตร์ที่เชื่อมร้อยพุทธศาสนิกชนถึง 3 ประเทศ คือ ไทย ลาว และ กัมพูชา การเสด็จฯ มาที่อุบลราชธานี จึงเชื่อมโยงกับโอกาสฉลองศรัทธาของสาธุชนให้ได้มากที่สุด
อุบลราชธานี กับ อินเดีย มีความคล้ายอย่างน่าอัศจรรย์ คำว่า “อุบล” นั้น แปลว่า ดอกบัว ซึ่ง “ดอกบัว” นับเป็นดอกไม้ประจำชาติของสาธารณรัฐอินเดีย ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของบวรพระพุทธศาสนา นอกจากนี้ แม้ดูจากแผนที่ จะอยู่ห่างไกลจากประเทศอินเดีย แต่กลับปรากฏร่องรอยความเชื่อมโยงทางวัฒนธรรมที่ส่งต่อระหว่างกันหลายพันปี เห็นได้จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีที่ค้นพบในพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการค้นพบ “ใบเสมา” และ “อรรถนารีศวร” ประทับนั่งแห่งเดียวในโลก จัดแสดง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อุบลราชธานี
อุบลราชธานี มีความสัมพันธ์อันดีกับสถานเอกอัครราชทูตอินเดียประจำประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง โดยเอกอัครราชทูตอินเดียหลายท่านได้เดินทางมาเยือนจังหวัดอุบลราชธานีในหลายโอกาส และปรารภความตั้งใจที่ให้อุบลราชธานีเป็นหนึ่งในหมุดหมายสำคัญของการสถาปนาเมืองคู่มิตรกับสาธารณรัฐอินเดีย นอกจากนี้อุบลราชธานี ยังมีศูนย์ศึกษาอินเดียแห่งมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ซึ่งเป็นศูนย์บริการวิชาการ วิจัย และทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมด้านอินเดียแห่งแรกและแห่งเดียวในภาคตะวันออกเฉียงเหนืออีกด้วย
อุบลราชธานี แสดงให้เห็นถึงความสมัครสมาน สามัคคี และร่วมใจของคณะสงฆ์ ภาครัฐ ภาคเอกชน และน้ำใจไมตรีพี่น้องประชาชน โดยผู้แทนรัฐบาลอินเดียได้ชื่นชมถึงการบริหารจัดการที่สามารถรองรับผู้คนกว่าสองแสนคนในแต่ละวัน ได้อย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย ปลอดภัย มีจุดพักคอย มีรถรับส่งบริการ มีโรงทาน มีจิตสา-เจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวก และมีการจัดการจราจรได้อย่างเป็นระบบ พร้อมกันนี้ “อุบลราชธานี” ยังแสดงให้เห็นถึงความปราณีตของการถวายเป็นพุทธบูชาในทุกมิติ ทั้งริ้วขบวนอัญเชิญ สถานที่ประดิษฐาน พิธีการ การสักการะบูชา ที่ผสมผสานวัฒนธรรมอีสาน ไทย อินเดีย ได้อย่างงดงาม ณ วัดมหานาราม พระอารามหลวงแห่งเมืองอุบลราชธานี
เหตุนี้ อุบลราชธานี จึงเป็น 1 ใน 4 จังหวัดสำคัญ ที่ได้รับมหามงคลในการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตธาตุของพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ จากประเทศอินเดีย มาประดิษฐานเป็นการชั่วคราว ณ ประเทศไทย ตามโครงการธรรมยาตราจากมหานทีคงคาสู่ลุ่มน้ำโขง เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ในระหว่างวันที่ 10 – 13 มีนาคม 2567 ณ วัดมหาวนาราม จังหวัดอุบลราชธานี