จุลกฐิน กฐินแห่งศรัทธา ร่วมสร้างบารมีธรรมในงานจุลกฐินวัดไชยมงคล
จุลกฐิน เป็นกฐินราษฎร์แบบหนึ่ง แต่มีพิธีการและศรัทธาที่แตกต่างจากกฐินทั่วๆ ไป “จุลกฐิน” คือ กฐินแห่งศรัทธา เพราะเป็นกฐินที่ต้องใช้เวลาในการทอผ้าหนึ่งวันเต็มให้เสร็จสิ้นก่อนอรุณรุ่ง เพื่อเตรียมถวายเป็นผ้ากฐินในวันรุ่งขึ้น เป็นการทำงานใหญ่ภายในระยะเวลาอันสั้นและจำกัด แต่มีเนื้องานที่มีขั้นตอนและอุปสรรคมาก จึงเป็นการทำบุญที่ต้องใช้แรงศรัทธาที่มุ่งมั่น เพื่อให้งานลุล่วงสมบูรณ์ไปด้วยดี โดยอาศัยการรวมพลังศรัทธาของบรรดาญาติโยม รวมทั้งฝ่ายพระสงฆ์ที่ต้องทำกันอย่างรีบเร่ง อาศัยการร่วมแรง ร่วมใจกันอย่างมาก
ต่างจากการทอดกฐินธรรมดา ที่มีข้อจำกัดเพียงว่า ผ้าที่จะใช้เป็นผ้ากฐินนั้น ต้องเป็นผ้าที่ไม่มีใครเป็นเจ้าของ และต้องได้มาอย่างถูกต้องไม่ผิดพระธรรมวินัย จะเป็นผ้าใหม่ ที่ยังไม่เคยใช้ก็ได้ จะเป็นผ้าเทียมใหม่ ที่เคยผ่านการซักมาแล้วสองสามครั้งก็ได้ จะเป็นผ้าเก่าที่เก็บไว้นานไม่ได้ใช้ก็ได้ จะเป็นผ้าบังสุกุล หรือเป็นผ้าที่เจ้าของไม่ได้ใช้แล้วก็ได้
แต่ผ้าที่นำมาใช้ในงานจุลกฐิน ต้องเป็นผ้าที่เกิดจาก การทอ การย้อม การตัด การเย็บ เป็นผ้าไตรจีวรให้เสร็จภายในวันเดียว ยิ่งไปกว่านั้น เส้นใยฝ้ายที่นำมาเข้าสู่กระบวนการถัก ทอ ตัด เย็บ ย้อม นั้นเป็นฝ้ายที่มักจะปลูกกันในวันวิสาขบูชา คือวันเพ็ญเดือน 6 ซึ่งเป็นช่วงที่ชาวไร่ชาวนากำลังเตรียมดิน เตรียมตัวกันปลูกข้าว ปลูกพืชไร่กัน ทั้งพระสงฆ์และชาวบ้านต่างร่วมแรงหลอมใจกันหว่านเมล็ดฝ้าย หลังจากที่ไถ พรวนดินรอไว้แล้ว
พิธีการต่างๆ ดูเรียบง่าย แต่ศักดิ์สิทธิ์ด้วยศรัทธาอันบริสุทธิ์ของชาวพุทธ ที่ร่วมแรงร่วมใจกันอย่างมุ่งมั่น ระหว่างการหว่านเมล็ดฝ้ายลงไปในผืนดิน พระสงฆ์จะเจริญชัยมงคลคาถา อัญเชิญเทพเทวดาอารักษ์ แม่พระธรณี มาร่วมเป็นสักขีพยานต่อการกระทำงานบุญอันยิ่งใหญ่
สิ่งที่น่าแปลกไปกว่านั้นคือ ทุกปีไม่ว่าฝนจะตก หรือน้ำจะแล้งอย่างไร แต่การปลูกฝ้ายที่อุดมด้วยพลังศรัทธา ก็เติบโต ออกดอก ออกผลงอกงาม รอวันถักทอเป็นผ้าจุลกฐิน เพื่อทอดตามวันที่กำหนด คือ ช่วงหลังวันออกพรรษาของปีเดียวกัน
ตามตำนาน ในพุทธประวัติมีการกล่าวถึงการทอนจุลกฐินว่า องค์พระสมณะโคดมพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ทรงแผ่พระญาณ ทำให้ทรงทราบว่า พระอนุรุทธมีจีวรอันเก่าและขาดใช้การเกือบไม่ได้ และก็เป็นเวลาจวนจะสิ้นสุดกฐินกาลแล้ว จึงรับสั่งให้ประชุมสงฆ์ ซึ่งพระสงฆ์ทั้งหมดล้วนแล้วแต่เป็นพระอรหันต์ ต่างก็ช่วยเป็นภาระขวนขวายหาผ้าบังสุกุลตามที่ต่างๆ แต่ก็ยังได้ผ้าไม่เพียงพอต่อความต้องการที่จะเย็บเป็นจีวรได้ ความนี้ทราบถึงนางเทพธิดาซึ่งเคยเป็นภรรยาเก่าของพระอนุรุทธะเถระในชาติปางก่อน จึงได้เนรมิตผ้าทิพย์หมกไว้ในกองขยะ เมื่อพระอนุรุทธะมาพบเข้า จึงนำผ้านั้นไปซักแล้วนำไปสมทบในการทำจีวร ซึ่งครั้งพุทธกาลนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเสด็จเป็นองค์ประธาน และทรงสนเข็มให้ในการเย็บผ้าไตรจีวรในครั้งนั้น ซึ่งทั้งพระสงฆ์สาวกพร้อมทั้งคฤหัสถ์ชายหญิงได้ช่วยกันโดยพร้อมเพรียง นับเป็นการหลอมรวมใจอันยิ่งใหญ่ ซึ่งเกิดจากพลังแห่งศรัทธาจนกระทั่งนำพาให้เกิดผ้าไตรจีวรอันบริสุทธิ์ พระพุทธองค์ทรงกำหนดให้ทำผ้าให้แล้วเสร็จในวันนั้นก่อนรุ่งอรุณขึ้น ถือเป็นการร่วมแรงร่วมใจของหมู่ภิกษุสงฆ์พร้อมทั้งคฤหัสถ์ชายหญิง จึงได้ชื่อว่า “จุลกฐิน คือกฐินแห่งศรัทธา” จึงกลายเป็นประเพณีนับแต่นั้นมา
คำว่า “จุลกฐิน” หลายคนคิดว่าหมายถึงการทอดกฐินเล็กๆ ที่เล็กกว่าการทอดกฐินทั่วๆ ไป เพราะคำว่า “จุล” แปลว่าส่วนเล็กๆ หลายคนจึงเกรงว่าจะไม่ได้รับบุญมาก แต่จริงๆ แล้ว จุลกฐินเป็นกฐินที่ต้องมีการดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันเดียว ผู้คนที่เข้าร่วมงานในกระบวนการต่างๆ ต้องนุ่งขาว ห่มขาว ถือศีล ปฎิบัติพรมจรรย์ ก่อนการลงมือถัก ทอ ตัด เย็บ ย้อม ต้องบอกกล่าวเทพเทวาอารักษ์ และที่สำคัญต้องทำให้แล้วเสร็จก่อนพระอาทิตย์ขึ้น ซึ่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระสมณะโคดมถือว่าเป็นการประกอบกุศลกรรมดี เป็นมหาบุญแห่งปัญญา เป็นมหาบุญแห่งศรัทธาในการสร้างบารมีธรรม เพื่อน้อมนำตนและบริวารมุ่งสู่ทางแห่งพระนิพพาน
ขอเชิญชวนท่านทั้งหลาย มาร่วมกันสร้างบารมีธรรม นำตนสู่ผลของการทานอย่างมีปัญญา มุ่งสู่ผลานิสงส์อันยิ่งใหญ่และมั่นคง ครั้งหนึ่งในชีวิต ที่ได้มีส่วนร่วมเป็นเจ้าภาพในการ ถัก ทอ ตัด เย็บ ย้อม ผืนผ้าแห่งศรัทธา ผืนผ้าแห่งความสามัคคี ผืนผ้าแห่งขันติบารมี สร้างความดีให้เกิดขึ้นแก่ตนเองและครอบครัว สะสมบารมีธรรมอันยิ่งใหญ่ ด้วย “ฮีตศรัทธา สร้างบารมีธรรม”
กำหนดการจัดงาน ทอฝ้ายเป็นสายบุญจุลกฐิน ถิ่นอุบล คนมีธรรม ครั้งที่ 11 ประจำปี 2562 จังหวัดอุบลราชธานี "ฮีตศรัทธา สร้างบารมีธรรม" วันที่ 7-8 พฤศจิกายน พ.ศ.2562 ณ วัดไชยมงคล ต.ในเมือง อ.เมือง จ.อุบลราชธานี
ฮีตศรัทธา สร้างบารมีธรรม งานทอฝ้ายเป็นสายบุญจุลกฐิน ปี 2562
ผู้มีจิตศรัทธา สามารถร่วมเป็นเจ้าภาพได้ กองบุญละ 1 บาท
1. ที่วัดไชยมงคล ต.ในเมือง อ.เมือง จ.อุบลราชธานี 34000
หรือติดต่อได้ที่ โทร.081-8782460 โทรสาร 045-244742
2. โอนเข้าบัญชีวัดไชยมงคล เพื่องานทอฝ้ายเป็นสายบุญจุลกฐิน
ธ.กรุงไทย สาขาสี่แยกกิโลศูนย์
เลขบัญชี 287-0-31545-7
3. โอนเข้าบัญชีวัดไชยมงคล ธ.เพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สาขาอุบลราชธานี
เลขที่บัญชี 020160954791
หมายเหตุ ท่านที่เป็นเจ้าภาพตั้งแต่ 1,299 กอง หรือมูลค่ำ 1,299 บาทขึ้นไป ท่านได้รับมอบรูปหล่อเหมือนหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต องค์ยืน ความสูง 15 นิ้วรุ่นเฉลิมฉลอง 150 ปีแห่งชาตะกาลองค์พระอริยะสงฆ์ยุคกึ่งพุทธกาล จำนวน 1 องค์