เทศบาลนครอุบลฯ ประกาศตั้งชื่อ ถนนหม่อมเจียงคำ
ตามที่กองทุนเครือข่ายแห่งบุญหม่อมเจียงคำอนุสรณ์ ได้ขอให้เทศบาลนครอุบลราชธานีตั้งชื่อ "ถนนหม่อมเจียงคำ" เพื่อเป็นการเชิดชูเกียรติหม่อมเจียงคำในฐานะเป็นผู้ทำคุณประโยชน์ คุณูปการให้กับจังหวัดอุบลราชธานีนั้น
และเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2562 นางสาวสมปรารถนา วิกรัยเจิดเจริญ นายกเทศมนตรีนครอุบลราชธานี ได้มีประกาศเปลี่ยนแปลงชื่อถนนพโลรังฤทธิ์ จากบริเวณสามแยกบรรจบกับถนนผาแดง ถึงสามแยกบรรจบกับถนนอุปราช เป็น "ถนนหม่อมเจียงคำ"
ล่าสุดวันที่ 9 มีนาคม 2563 สำนักทะเบียนท้องถิ่นเทศบาลนครอุบลราชธานี ได้ดำเนินการเปลี่ยนแปลงเลขที่บ้านในถนนที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงชื่อถนนดังกล่าว จำนวน 4 หลังคาเรือน และแก้ไขฐานข้อมูลการทะเบียนราษฎร์เรียบร้อยแล้ว
ภาพโดย ศิลปิน S. Phormma's Colorizations
หม่อมเจียงคำ ชุมพล ณ อยุธยา เกิดเมื่อ พ.ศ.2422 ที่เมืองอุบลราชธานี เป็นธิดาคนที่ 9 ของท้าวสุรินทร์ชมภู (หมั้น บุตโรบล) กับนางดวงจันทร์ ได้เข้าพิธีบายศรีสู่ขวัญตามจารีตประเพณีของบ้านเมืองดั้งเดิม ถวายตัวเป็นหม่อมห้ามในพลตรี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ข้าหลวงต่างพระองค์สำเร็จราชการมณฑลาวกาว (อิสาณ) เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ.2436 มีโอรส 2 องค์คือ ม.จ.อุปลีสาณ ชุมพล และ ม.จ.กมลีสาณ ชุมพล ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2481 สิริอายุ 59 ปี อัฐิของท่านบรรจุที่ด้านหน้าอุโบสถวัดสุทัศนาราม มีการจัดงานเชิดชูเกียรติและรำลึก หม่อมเจียงคำ ชุมพล ณ อยุธยา ทุกวันที่ 20 ตุลาคม ของทุกปี
หม่อมเจียงคำ ชุมพล ณ อยุธยา ชายาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ถือได้ว่าเป็นปูชนียบุคคลสำคัญ ที่เป็นแบบอย่างสร้างคุณงามความดีเป็นมรดกตกทอดให้กับพี่น้องชาวอุบลราชธานี ท่านเป็นบุคคลต้นแบบที่ได้ส่งเสริม สืบสานขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงาม รวมทั้งวัฒนธรรมไทยอีสาน ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ที่ทรงคุณค่า เป็นวัฒนธรรมของไทยที่อยู่คู่กับเมืองอุบลราชธานี ให้กับพี่น้องชาวอุบลราชธานีได้ประพฤติปฏิบัติสืบต่อกันมา จนอุบลราชธานีได้ชื่อว่าเป็น เมืองแห่งนักปราชญ์ ทวยราษฎร์ใฝ่ธรรม
หม่อมเจียงคำ ชุมพล ณ อยุธยา นอกจากจะเป็นแบบอย่างที่ดีในการดำเนินชีวิตแล้ว ท่านยังเป็นแบบอย่างที่ดีในการเสียสละ มีความกตัญญูกตเวที บำเพ็ญประโยชน์ในด้านการรวบรวมทรัพย์สินที่ดินอันเป็นมรดกตกทอดและของญาติๆ ยกให้เป็นสาธารณประโยชน์แก่แผ่นดิน ซึ่งปัจจุบันใช้เป็นที่ตั้งของสถานที่ราชการสำคัญในจังหวัดอุบลราชธานี ดังนี้
- บริเวณที่ตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอุบลราชธานี (ศาลากลางจังหวัดฯ หลังแรก) และศาลหลักเมือง
- บริเวณที่ตั้งเทศบาลนครอุบลราชธานี (สโมสรข้าราชการพลเรือนเดิม)
- บริเวณทุ่งศรีเมืองและโรงเรียนอนุบาลอุบลราชธานี
- บริเวณที่ตั้งศาลจังหวัด, ศาลแขวง และบ้านพักผู้พิพากษา
- บริเวณที่ตั้งที่ว่าการอำเภอเมืองอุบลราชธานี
- บริเวณที่ตั้งศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี (ถูกไฟไหม้ ปี 2553), อาคารโรงเรียนเบญจะมะฯ ไปจนถึงบริเวณที่ตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี
- บริเวณที่ตั้งโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ ซึ่งหม่อมเจ้าชายทั้ง 2 องค์ ผู้เป็นบุตร ได้ที่ตกทอดมาเป็นมรดก จำนวน 27 ไร่ ประทานให้แก่ทางราชการเพื่อเป็นอนุสรณ์แก่เสด็จพ่อและหม่อมแม่ เมื่อ พ.ศ. 2474