อนุสรณ์สถานแห่งคุรุธรรม เจดีย์พระโพธิญาณเถร (ชา สุภทฺโท)
นับแต่ พระโพธิญาณเถร หรือหลวงปู่ชา สุภัทโท ละสังขารเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2535 เป็นต้นมา เป็นเวลายาวนานมากกว่า 20 ปี แต่คลื่นมหาชนจำนวนมหาศาล ทั้งจากเหนือจรดใต้ ตลอดจนดินแดนในโลกตะวันตก ต่างพากันหลั่งไหลไปวัดหนองป่าพง อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี เป็นประจำทุกปีในช่วงเดือนมกราคม เพื่อระลึกถึงท่าน ความเป็นปึกแผ่นแห่งคณะสงฆ์สายปฏิบัติดำรงอยู่อย่างเหนียวแน่นมั่นคง เฉกเช่นเดียวกับพุทธศาสนาที่หยั่งรากลึกแผ่ไพศาลมานานกว่า 2,500 ปี และไม่ต่างกับ หลวงปู่ชา ซึ่งเป็นพระสายอรัญวาสี ที่เคร่งครัดรักษาพระวินัยในพุทธบัญญัติตามอย่างพระภิกษุในสมัยพุทธกาลเป็นอย่างยิ่ง จวบจนท่านละสังขารจากไปนานกว่า 2 ทศวรรษ
วัดหนองป่าพง กำหนดให้มีการปฏิบัติธรรมถือศีลแปด ถวายเป็นอาจริยบูชาแด่ พระโพธิญาณเถร (ชา สุภทฺโท) เป็นประจำทุกปี ระหว่างวันที่ 12-17 มกราคม เพื่อเป็นการแสดงความกตัญญูกตเวที และเป็นการปฏิบัติบูชาคุณของหลวงพ่อ โดยมีพระภิกษุสามเณร และอุบาสกอุบาสิกา มารวมกันทำวัตร สวดมนต์เข้า - เย็น เดินจงกรม นั่งสมาธิ และฟังพระธรรมเทศนาของครูบาอาจารย์จากวัดหนองป่าพงและวัดสาขาต่างๆ ทั้งใน และต่างประเทศ
กระทั่งเวลา 15.00 น. ของวันที่ 16 มกราคม พุทธบริษัททั้งหลายมาเรียงแถวพร้อมเพรียงกัน ถือดอกไม้ธูปเทียน เดินจากธรรมศาลาสู่ลานเจดีย์พระโพธิญาณเถร และทำประทักษิณรอบเจดีย์ 3 รอบ เพื่อกล่าวคำถวายสักการบูชาแด่หลวงพ่อ และในคืนเดียวกันนี้ มีการสมาทานเนสัชชิกังคธุดงค์ หรือ ถือเนสัชชิก คือ ปฏิบัติในอิริยบถนั่ง ยืน เดิน ไม่เอนกายลงนอน) และมีพระอาจารย์จากวัดต่างๆ เวียนกันมาแสดงธรรมให้ฟังตลอดคืน
เนื่องจากในปี พ.ศ.2564 ทั่วทั้งโลกรวมทั้งประเทศไทย ต่างประสบภาวะการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือ COVID-19 ที่ประชุมการเตรียมการจัดงานปฏิบัติธรรมอาจาริยบูชา พระโพธิญาณเถร (หลวงปู่ชา สุภัทโท) วัดหนองบำพง ประจำปี 2564 จึงมีมติ งด!! การจัดงานดังกล่าว
เลี่ยงโควิด-19 งดจัดงานปฏิบัติธรรมอาจาริยบูชา วัดหนองป่าพง 2564
บริเวณประตูหน้าทางเข้าวัดหนองป่าพง มีการขึ้นป้าย งดการจัดงานอาจริยบูชาพระโพธิญาณเถร ประจำปี 2564 โดยใช้ภาพเจดีย์พระโพธิญาณเถรเป็นฉาก ไกด์อุบลจึงขอนำเรื่องการจัดสร้างเจดีย์พระโพธิญาณเถร มาเผยแพร่ในปีนี้
จากหนังสือมรดกธรรม พระโพธิญาณเถร (ชา สุภทฺโท) เล่มที่ 84 "ทำให้สุด ขุดให้ถึง" บทที่ 4 อนุสรณ์สถานแห่งคุรุธรรม กล่าวว่า... บันทึกประวัติศาสตร์โลกหลายหน้า กล่าวถึง สายเลือด หยาดน้ำตา และชีวิตของผู้คนนับหมื่นนับแสนที่สูญสิ้นไปเพราะอนุสรณ์สถานแห่งโมหะและความโหดร้ายหลายแห่ง แต่บนผืนแผ่นดินลุ่มแม่น้ำมูลของจังหวัดอุบลราชธานี ประเทศไทย สายธารแห่งศรัทธา หยาดเหงื่อจากความสามัคคี และกระแสน้ำใจเสียสละ จากพุทธศาสนิกชนหลายร้อย หลายพันชีวิต ได้หลั่งไหลมารวมเป็น "เจดีย์พระโพธิญาณ" อนุสรณ์สถานแห่งคุรุธรรมของหลวงพ่อชา สุภัทโท
บนเนินดินสูงกลมกว้าง กั้นขอบแข็งแกร่งด้วยศิลาแลง เป็นฐานรองรับองค์เจดีย์รูปทรงระฆังคว่ำ และส่วนบนที่สูงสล้างขึ้นสู่อากาศ ในรูปลักษณ์คล้ายคลึงพระธาตุพนม อันสะท้อนถึงจินตนาการ ที่ผสมผสานศิลปวัฒนธรรมในอดีตกับปัจจุบันเป็นหนึ่งเดียว โดยไม่ลืมที่จะแทรกเอกลักษณ์ของพุทธศาสนาซ้อนลงไปด้วย ดังนั้น ไม่ว่าจะมองจากมุมใด จะพบภาพองค์เจดีย์ที่ดูนิ่ง สงบ สะอาด บริสุทธิ์ เต็มไปด้วยความเรียบง่าย และกลมกลืนกับแมกไม้เขียวขจีในบริเวณนั้น คล้ายเป็นสิ่งเตือนใจให้รำลึกถึงคุณธรรมของหลวงพ่อได้ตลอดเวลา
วันหนึ่งในเดือนมิถุนายน 2535 ที่ศาลานอกของวัดหนองป่าพง คณะพระเถระนั่งปรึกษากันถึงเรื่องเมรุว่าควรจะสร้างรูปแบบไหน จินตนาการจากแต่ละท่าน ถูกนำมาพิจารณาเพื่อหาข้อสรุป เริ่มแรกเห็นพ้องกันว่า จะสร้างเมรุเป็นรูปทรงเจดีย์กึ่งถาวร คือ ฐานเป็นคอนกรีต ส่วนองค์เจดีย์เป็นไม้ เมื่อพระราชทานเพลิงศพแล้ว จึงจะสร้างเจดีย์ถาวรบนฐานคอนกรีตนั้น
แต่ในที่สุด ความคิดที่ว่า "ทำไมเราไม่สร้างเจดีย์ให้เสร็จเลย" จากหลายท่านได้เกิดขึ้น พร้อมกับเหตุผลที่น่าสนใจ เช่น การสร้างเป็นเจดีย์ถาวร จะลดความสิ้นเปลืองทั้งวัสดุและแรงงาน เพราะส่วนมากเมรุชั่วคราวสำหรับงานใหญ่ๆ จะมีราคาแพงมาก แต่จะถูกเผาทิ้งไปโดยเปล่าประโยชน์ และการใช้เจดีย์ที่ออกแบบเพื่อใช้เป็นเมรุด้วย สะดวกต่อการจัดระบบคุมความสงบเรียบร้อย เช่น ป้องกันไม่ให้มีการแย่งเถ้าถ่าน ซึ่งมักเกิดขึ้นในงานเช่นนี้ เป็นต้น
หลังจากเห็นชอบร่วมกันว่า การสร้างเมรุเจดีย์ถาวรมีผลดีหลายอย่าง คณะสงฆ์จึงเสนอแนวคิดนี้แก่สถาปนิกและวิศวกร คือ คุณนิธิ สถาปิตานนท์ และศาสตราจารย์อรุณ ชัยเสรี จากนั้นไม่นานแบบแปลนเจดีย์ที่ใช้เป็นเมรุด้วยก็สำเร็จสมประสงค์ของคณะศิษย์ สถาปนิกได้ออกแบบภายในองค์เจดีย์ให้มีเนื้อที่ใช้สอยในด้านพิธีการเต็มที่ ซึ่งเมื่องานด้านนี้ผ่านพ้นไปแล้ว เจดีย์จะกลายเป็นที่เก็บอัฐิและเป็นอนุสรณ์สถานต่อไป
สายลมหนาวกับข่าวความสำเร็จ ต้นปี 2536 ลมหนาวพัดโชยหอบเอาไอเย็นมาครอบคลุมป่าพง หมู่ไม้ในวัดเริ่มทิ้งใบลงสู่พื้นดิน ฝูงมดริ้นตัวดำวุ่นวายกับการคาบไข่และอาหารลงไปเก็บกักในรัง ทั้งพืชและสัตว์ ต่างเตรียมเผชิญกับความขาดแคลนในฤดูแล้งอันยาวนาน ขณะเดียวกับพระเณรได้จัดเตรียมงานพระราชทานเพลิงฯ บางส่วนเสร็จสิ้นไป
หกเดือนพอดี สำหรับงานสร้างเจดีย์พระโพธิญาณ ซึ่งเริ่มสร้างเมื่อต้นฤดูฝน และแล้วเสร็จในช่วงกลางฤดูหนาว (4 กรกฎาคม 2535 - 5 มกราคม 2536) การสร้างเจดีย์ครั้งนี้ดำเนินไปอย่างเงียบเชียบ ปราศจากการประชาสัมพันธ์ แม้แต่คนส่วนใหญ่ในจังหวัดอุบลราชธานี ก็ตกตะลึงงงงัน เมื่อข่าวความสำเร็จนี้แพร่สะพัดออกไป ผู้คนต่างพากันมาชื่นชมเจดีย์ด้วยความตื่นตาตื่นใจ บ้างกล่าวว่า "ราวปาฏิหาริย์" โดยลืมนึกไปว่าสิ่งเหล่านี้เกิตจากมือเล็กๆ ของมนุษย์นี่เอง แต่เป็นมือที่ประสานกันอย่างแนบแน่นจากหลายร้อยชีวิตที่ถูกฝึกฝนอบรมจิตใจมาด้วย "พุทธธรรม"
เจดีย์พระโพธิญาณ คงจะตั้งตระหง่านต่อไปอีกกาลนาน เป็นสถานสถิตแห่งคุณธรรมของท่านผู้เกื้อกูลความสงบแก่ชาวโลก และอาจเป็นที่มาของประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งของพุทธศาสนาในเมืองไทย ที่กล่าวถึงอนุสรณ์สถานซึ่งก่อเกิดจาก สายธารแห่งศรัทธา หยาดเหงื่อจากแรงสามัคคี และกระแสน้ำใจเสียสละของศาสนิกชนในยุคกึ่งพุทธกาล