guideubon

 

อนุสรณ์สถานแห่งคุรุธรรม เจดีย์พระโพธิญาณเถร (ชา สุภทฺโท)

เจดีพระโพธิญาณเถร-วัดหนองป่าพง-01.jpg

นับแต่ พระโพธิญาณเถร หรือหลวงปู่ชา สุภัทโท ละสังขารเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2535 เป็นต้นมา เป็นเวลายาวนานมากกว่า 20 ปี แต่คลื่นมหาชนจำนวนมหาศาล ทั้งจากเหนือจรดใต้ ตลอดจนดินแดนในโลกตะวันตก ต่างพากันหลั่งไหลไปวัดหนองป่าพง อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี เป็นประจำทุกปีในช่วงเดือนมกราคม เพื่อระลึกถึงท่าน ความเป็นปึกแผ่นแห่งคณะสงฆ์สายปฏิบัติดำรงอยู่อย่างเหนียวแน่นมั่นคง เฉกเช่นเดียวกับพุทธศาสนาที่หยั่งรากลึกแผ่ไพศาลมานานกว่า 2,500 ปี และไม่ต่างกับ หลวงปู่ชา ซึ่งเป็นพระสายอรัญวาสี ที่เคร่งครัดรักษาพระวินัยในพุทธบัญญัติตามอย่างพระภิกษุในสมัยพุทธกาลเป็นอย่างยิ่ง จวบจนท่านละสังขารจากไปนานกว่า 2 ทศวรรษ

เจดีพระโพธิญาณเถร-วัดหนองป่าพง-03.jpg

วัดหนองป่าพง กำหนดให้มีการปฏิบัติธรรมถือศีลแปด ถวายเป็นอาจริยบูชาแด่ พระโพธิญาณเถร (ชา สุภทฺโท) เป็นประจำทุกปี ระหว่างวันที่ 12-17 มกราคม เพื่อเป็นการแสดงความกตัญญูกตเวที และเป็นการปฏิบัติบูชาคุณของหลวงพ่อ โดยมีพระภิกษุสามเณร และอุบาสกอุบาสิกา มารวมกันทำวัตร สวดมนต์เข้า - เย็น เดินจงกรม นั่งสมาธิ และฟังพระธรรมเทศนาของครูบาอาจารย์จากวัดหนองป่าพงและวัดสาขาต่างๆ ทั้งใน และต่างประเทศ

กระทั่งเวลา 15.00 น. ของวันที่ 16 มกราคม พุทธบริษัททั้งหลายมาเรียงแถวพร้อมเพรียงกัน ถือดอกไม้ธูปเทียน เดินจากธรรมศาลาสู่ลานเจดีย์พระโพธิญาณเถร และทำประทักษิณรอบเจดีย์ 3 รอบ เพื่อกล่าวคำถวายสักการบูชาแด่หลวงพ่อ และในคืนเดียวกันนี้ มีการสมาทานเนสัชชิกังคธุดงค์ หรือ ถือเนสัชชิก คือ ปฏิบัติในอิริยบถนั่ง ยืน เดิน ไม่เอนกายลงนอน) และมีพระอาจารย์จากวัดต่างๆ เวียนกันมาแสดงธรรมให้ฟังตลอดคืน

เนื่องจากในปี พ.ศ.2564 ทั่วทั้งโลกรวมทั้งประเทศไทย ต่างประสบภาวะการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือ COVID-19 ที่ประชุมการเตรียมการจัดงานปฏิบัติธรรมอาจาริยบูชา พระโพธิญาณเถร (หลวงปู่ชา สุภัทโท) วัดหนองบำพง ประจำปี 2564 จึงมีมติ งด!! การจัดงานดังกล่าว

เลี่ยงโควิด-19 งดจัดงานปฏิบัติธรรมอาจาริยบูชา วัดหนองป่าพง 2564

เจดีพระโพธิญาณเถร-วัดหนองป่าพง-02.jpg

บริเวณประตูหน้าทางเข้าวัดหนองป่าพง มีการขึ้นป้าย งดการจัดงานอาจริยบูชาพระโพธิญาณเถร ประจำปี 2564 โดยใช้ภาพเจดีย์พระโพธิญาณเถรเป็นฉาก ไกด์อุบลจึงขอนำเรื่องการจัดสร้างเจดีย์พระโพธิญาณเถร มาเผยแพร่ในปีนี้

เจดีพระโพธิญาณเถร-วัดหนองป่าพง-04.jpg

จากหนังสือมรดกธรรม พระโพธิญาณเถร (ชา สุภทฺโท) เล่มที่ 84 "ทำให้สุด ขุดให้ถึง" บทที่ 4 อนุสรณ์สถานแห่งคุรุธรรม กล่าวว่า... บันทึกประวัติศาสตร์โลกหลายหน้า กล่าวถึง สายเลือด หยาดน้ำตา และชีวิตของผู้คนนับหมื่นนับแสนที่สูญสิ้นไปเพราะอนุสรณ์สถานแห่งโมหะและความโหดร้ายหลายแห่ง แต่บนผืนแผ่นดินลุ่มแม่น้ำมูลของจังหวัดอุบลราชธานี ประเทศไทย สายธารแห่งศรัทธา หยาดเหงื่อจากความสามัคคี และกระแสน้ำใจเสียสละ จากพุทธศาสนิกชนหลายร้อย หลายพันชีวิต ได้หลั่งไหลมารวมเป็น "เจดีย์พระโพธิญาณ" อนุสรณ์สถานแห่งคุรุธรรมของหลวงพ่อชา สุภัทโท

บนเนินดินสูงกลมกว้าง กั้นขอบแข็งแกร่งด้วยศิลาแลง เป็นฐานรองรับองค์เจดีย์รูปทรงระฆังคว่ำ และส่วนบนที่สูงสล้างขึ้นสู่อากาศ ในรูปลักษณ์คล้ายคลึงพระธาตุพนม อันสะท้อนถึงจินตนาการ ที่ผสมผสานศิลปวัฒนธรรมในอดีตกับปัจจุบันเป็นหนึ่งเดียว โดยไม่ลืมที่จะแทรกเอกลักษณ์ของพุทธศาสนาซ้อนลงไปด้วย ดังนั้น ไม่ว่าจะมองจากมุมใด จะพบภาพองค์เจดีย์ที่ดูนิ่ง สงบ สะอาด บริสุทธิ์ เต็มไปด้วยความเรียบง่าย และกลมกลืนกับแมกไม้เขียวขจีในบริเวณนั้น คล้ายเป็นสิ่งเตือนใจให้รำลึกถึงคุณธรรมของหลวงพ่อได้ตลอดเวลา

วันหนึ่งในเดือนมิถุนายน 2535 ที่ศาลานอกของวัดหนองป่าพง คณะพระเถระนั่งปรึกษากันถึงเรื่องเมรุว่าควรจะสร้างรูปแบบไหน จินตนาการจากแต่ละท่าน ถูกนำมาพิจารณาเพื่อหาข้อสรุป เริ่มแรกเห็นพ้องกันว่า จะสร้างเมรุเป็นรูปทรงเจดีย์กึ่งถาวร คือ ฐานเป็นคอนกรีต ส่วนองค์เจดีย์เป็นไม้ เมื่อพระราชทานเพลิงศพแล้ว จึงจะสร้างเจดีย์ถาวรบนฐานคอนกรีตนั้น

เจดีพระโพธิญาณเถร-วัดหนองป่าพง-05.jpg

แต่ในที่สุด ความคิดที่ว่า "ทำไมเราไม่สร้างเจดีย์ให้เสร็จเลย" จากหลายท่านได้เกิดขึ้น พร้อมกับเหตุผลที่น่าสนใจ เช่น การสร้างเป็นเจดีย์ถาวร จะลดความสิ้นเปลืองทั้งวัสดุและแรงงาน เพราะส่วนมากเมรุชั่วคราวสำหรับงานใหญ่ๆ จะมีราคาแพงมาก แต่จะถูกเผาทิ้งไปโดยเปล่าประโยชน์ และการใช้เจดีย์ที่ออกแบบเพื่อใช้เป็นเมรุด้วย สะดวกต่อการจัดระบบคุมความสงบเรียบร้อย เช่น ป้องกันไม่ให้มีการแย่งเถ้าถ่าน ซึ่งมักเกิดขึ้นในงานเช่นนี้ เป็นต้น

หลังจากเห็นชอบร่วมกันว่า การสร้างเมรุเจดีย์ถาวรมีผลดีหลายอย่าง คณะสงฆ์จึงเสนอแนวคิดนี้แก่สถาปนิกและวิศวกร คือ คุณนิธิ สถาปิตานนท์ และศาสตราจารย์อรุณ ชัยเสรี จากนั้นไม่นานแบบแปลนเจดีย์ที่ใช้เป็นเมรุด้วยก็สำเร็จสมประสงค์ของคณะศิษย์ สถาปนิกได้ออกแบบภายในองค์เจดีย์ให้มีเนื้อที่ใช้สอยในด้านพิธีการเต็มที่ ซึ่งเมื่องานด้านนี้ผ่านพ้นไปแล้ว เจดีย์จะกลายเป็นที่เก็บอัฐิและเป็นอนุสรณ์สถานต่อไป

สายลมหนาวกับข่าวความสำเร็จ ต้นปี 2536 ลมหนาวพัดโชยหอบเอาไอเย็นมาครอบคลุมป่าพง หมู่ไม้ในวัดเริ่มทิ้งใบลงสู่พื้นดิน ฝูงมดริ้นตัวดำวุ่นวายกับการคาบไข่และอาหารลงไปเก็บกักในรัง ทั้งพืชและสัตว์ ต่างเตรียมเผชิญกับความขาดแคลนในฤดูแล้งอันยาวนาน ขณะเดียวกับพระเณรได้จัดเตรียมงานพระราชทานเพลิงฯ บางส่วนเสร็จสิ้นไป

เจดีพระโพธิญาณเถร-วัดหนองป่าพง-06.jpg

หกเดือนพอดี สำหรับงานสร้างเจดีย์พระโพธิญาณ ซึ่งเริ่มสร้างเมื่อต้นฤดูฝน และแล้วเสร็จในช่วงกลางฤดูหนาว (4 กรกฎาคม 2535 - 5 มกราคม 2536) การสร้างเจดีย์ครั้งนี้ดำเนินไปอย่างเงียบเชียบ ปราศจากการประชาสัมพันธ์ แม้แต่คนส่วนใหญ่ในจังหวัดอุบลราชธานี ก็ตกตะลึงงงงัน เมื่อข่าวความสำเร็จนี้แพร่สะพัดออกไป ผู้คนต่างพากันมาชื่นชมเจดีย์ด้วยความตื่นตาตื่นใจ บ้างกล่าวว่า "ราวปาฏิหาริย์" โดยลืมนึกไปว่าสิ่งเหล่านี้เกิตจากมือเล็กๆ ของมนุษย์นี่เอง แต่เป็นมือที่ประสานกันอย่างแนบแน่นจากหลายร้อยชีวิตที่ถูกฝึกฝนอบรมจิตใจมาด้วย "พุทธธรรม"

เจดีพระโพธิญาณเถร-วัดหนองป่าพง-07.jpg

เจดีย์พระโพธิญาณ คงจะตั้งตระหง่านต่อไปอีกกาลนาน เป็นสถานสถิตแห่งคุณธรรมของท่านผู้เกื้อกูลความสงบแก่ชาวโลก และอาจเป็นที่มาของประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งของพุทธศาสนาในเมืองไทย ที่กล่าวถึงอนุสรณ์สถานซึ่งก่อเกิดจาก สายธารแห่งศรัทธา หยาดเหงื่อจากแรงสามัคคี และกระแสน้ำใจเสียสละของศาสนิกชนในยุคกึ่งพุทธกาล

เจดีพระโพธิญาณเถร-วัดหนองป่าพง-09.jpg

เจดีพระโพธิญาณเถร-วัดหนองป่าพง-08.jpg

เจดีพระโพธิญาณเถร-วัดหนองป่าพง-10.jpg

เจดีพระโพธิญาณเถร-วัดหนองป่าพง-11.jpg

เจดีพระโพธิญาณเถร-วัดหนองป่าพง-12.jpg

เจดีพระโพธิญาณเถร-วัดหนองป่าพง-13.jpg

 

copyright 2005 www.GuideUbon.com สำนักงานไกด์อุบลดอทคอม เลขที่ 89/1 ถนนพโลรังฤทธิ์ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี 34000 ติดต่อไกด์อุบล : webmaster@guideubon.com | msn : guide_ubon@hotmail.com | Tel : 080-4850511