ม.อุบลฯ ถวายรางวัลรัตโนบล แด่พระเทพวราจารย์ เจ้าคณะจังหวัดอุบลราชธานี
สภามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มอบรางวัลรัตโนบล ให้กับบุคคลหรือนิติบุคคล หรือองค์กรผู้ประสบความสำเร็จอย่างยอดเยี่ยมในวิชาชีพ หรือมีเกียรติคุณดีเด่นจนปรากฏเป็นที่ยอมรับ หรือเป็นผู้อุทิศตนเป็นประโยชน์ต่อสังคมและหรือมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และเป็นแบบอย่างที่ดีแก่บุคคลทั่วไป โดยปี พ.ศ.2564 มีมติถวาย/มอบให้ 2 รางวัล ดังนี้
1. พระเทพวราจารย์ (ศรีพร วรวิญูญู ราชิวงศ์)
2. นายแพทย์วราวุธ สุมาวงศ์
พระเทพวราจารย์ นามเดิม ศรีพร ราชิวงศ์ เกิดเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ.2508 ที่บ้านศรีบุญเรือง ตำบลศรีบุญเรือง อำเภอมุกดาหาร จังหวัดนครพนม (ปัจจุบันคือ อำเภอเมือง จังหวัดมุกดาหาร) ได้บรรพชาเป็นสามเณร เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ.2520 และได้ศึกษาพระธรรมวินัยในสำนักวัดศรีบุญเรือง อำเภอมุกดาหาร จังหวัดนครพนม ต่อมาได้เล่าเรียนพระปริยัติธรรมที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร กรุงเทพฯ จนสอบได้ประโยค ป.ธ.7 จึงอุปสมบทเมื่ออายุได้ 21 ปี เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ.2530 ณ พัทธสีมาวัดศรีบุญเรือง อำเภอเมือง จังหวัดมุกดาหาร โดยมีพระราชเมธี (วรวิทย์ คงฺคปญฺโญ ธรรมวรางกูร ป.ธ.8) เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายา ว่า “วรวิญฺญู” แปลว่า “ผู้รู้สิ่งที่ดี ผู้รู้สิ่งที่ประเสริฐ ผู้รู้อย่างดี”
เมื่อสอบได้เปรียญธรรม 9 ประโยค จากสำนักเรียนวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร ในปี พ.ศ. 2532 แล้ว จึงศึกษาระดับปริญญาโทและปริญญาเอก ด้านภาษาบาลี ณ มหาวิทยาลัยปูเณ่ สาธารณรัฐอินเดีย ในปี พ.ศ.2535 ได้ย้ายมาสังกัดวัดมหาวนาราม พระอารามหลวง อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี ปฏิบัติหน้าที่สนองงานคณะสงฆ์ และบริหารมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตอุบลราชธานี
ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ที่ พระศรีวรเวที ในปี พ.ศ.2542 และดำรงตำแหน่งรองเจ้าคณะจังหวัดอุบลราชธานี เมื่อปี พ.ศ.2544 ต่อมาได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะจังหวัดอุบลราชธานี ฝ่ายมหานิกาย และย้ายมาสังกัดวัดมณีวนาราม อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 ในตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดมณีวนาราม ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นที่ พระราชธีราจารย์ ในปี พ.ศ.2552 และพระเทพวราจารย์ ในปี พ.ศ.2559
พระเทพวราจารย์ มีความเชี่ยวชาญด้านการจัดรายการวิทยุและโทรทัศน์เพื่อเผยแผ่ธรรมะ โดยจัดรายการธรรมะทางวิทยุ ตั้งแต่ พ.ศ.2542 จนถึงปัจจุบัน มีผู้รับฟังเป็นจำนวนมากในหลายจังหวัด เช่น อุบลราชธานี อำนาจเจริญ มุกดาหาร เป็นต้น อีกทั้งยังจัดรายการโทรทัศน์ทางสถานีโทรทัศน์ NBT และเผยแพร่ทางสื่อยูทูป เช่น รายการแผนที่ชีวิต รายการแผนที่ธรรมะ ซึ่งมีรูปแบบเป็นคำสอนอันเข้าใจง่าย สอดแทรกด้วยผญา และนิทานคติสอนธรรม
พระเทพวราจารย์ มีผลงานเขียนเป็นหนังสือทั้งงานร้อยแก้ว ร้อยกรอง งานวิชาการ ทางพระพุทธศาสนา พระธรรมเทศนา บทความลงในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น “ประชารัฐ” ในคอลัมน์ “มุมสงบ...ใต้ร่มธรรม” รวมผลงานการเผยแพร่อย่างต่อเนื่อง ที่เป็นหนังสือจำนวนไม่น้อยกว่า 46 เรื่อง
พระเทพวราจารย์ ริเริ่มการบูรณะปฏิสังขรณ์โบราณสถานภายในวัดมณีวนาราม อันเป็นวัดสำคัญของจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งมีโบราณสถานอันเป็นมรดกของท้องถิ่นอยู่หลายแห่ง เพื่อรักษาไว้เป็นมรดกแก่อนุชนรุ่นหลัง โดยประสานความร่วมมือกับสำนักศิลปากรที่ 9 อุบลราชธานี พร้อมผู้สนับสนุนงบประมาณจากหน่วยราชการ และผู้มีจิตศรัทธาร่วมกันปฏิสังขรณ์กุฏิสงฆ์โบราณ อันเป็นที่จำพรรษาของอดีตเจ้าอาวาสวัดมณีวนาราม และเสนาสนะสงฆ์ จำนวน 4 แห่ง คือ
- กุฏิพระอริยวงศาจารย์ (กุฏิแดง) สร้างเมื่อ พ.ศ.2371 บูรณะเมื่อ พ.ศ.2556
- กุฏิธรรมระโต สร้างเมื่อ พ.ศ.2456 บูรณะเมื่อ พ.ศ.2558
- กุฏิใหญ่ สร้างเมื่อ พ.ศ.2478 บูรณะเมื่อ พ.ศ.2559 และ
- วิหารพระพุทธอนันตชินะ สร้างเมื่อ พ.ศ.2471 บูรณะเมื่อ พ.ศ.2562
นอกจากนี้ ท่านได้ริเริ่มให้จัดตั้งพิพิธภัณฑ์วัดมณีวนาราม เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมของชุมชน ในพื้นที่กุฏิโบราณสถานและกุฏิสงฆ์ของวัด ซึ่งบริหารงานโดยคณะกรรมการพิพิธภัณฑ์วัดมณีวนาราม ที่ประกอบด้วย ชาวชุมชนคุ้มวัดมณีวนาราม มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอุบลราชธานี และสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดอุบลราชธานี
อีกทั้งได้สนับสนุนการจัดกิจกรรมด้านการอนุรักษ์คัมภีร์ใบลาน การอบรมอักษรโบราณ และกิจกรรมด้านทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมอื่น ๆ ของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มาอย่างต่อเนื่อง เช่น การอบรมเชิงปฏิบัติการ “อักษรโบราณอีสาน” โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นพิพิธภัณฑ์วัดมณีวนาราม อุบลใบลานเสวนา เป็นต้น
จากผลงานอันโดดเด่นในด้านต่าง ๆ ได้แก่ 1) การจัดรายการวิทยุและโทรทัศน์ เพื่อเผยแผ่ธรรมะในจังหวัดอุบลราชธานี และใกล้เคียง 2) การประพันธ์วรรณกรรม ประเภทร้อยแก้ว ร้อยกรอง งานวิชาการทางพระพุทธศาสนา พระธรรมเทศนา ฯลฯ 3) การอนุรักษ์สืบสานมรดกทางวัฒนธรรม การบูรณะโบราณสถานสำคัญของจังหวัดอุบลราชธานีและของชาติ การจัดตั้งพิพิธภัณฑ์วัดมณีวนาราม การสนับสนุนกิจกรรมการอนุรักษ์อักษรโบราณ และการอนุรักษ์คัมภีร์ใบลาน จึงเป็นที่ประจักษ์ว่าพระเทพวราจารย์ เป็นพระภิกษุที่มีคุณูปการต่อสังคม ประเทศชาติ และมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีเป็นอเนกประการ
คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จึงถวายรางวัลรัตโนบลแด่พระเทพวราจารย์ เพื่อประกาศเกียรติคุณให้เป็นแบบอย่างแก่อนุชนสืบไป
ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์วราวุธ สุมาวงศ์ เกิดเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ.2477 อายุ 87 ปี สำเร็จการศึกษาแพทยศาสตรบัณฑิต จากคณะแพทยศาสตรศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
พ.ศ.2500 และ Master of Sciences (Medicine) จาก University of Pennsylvania ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อ พ.ศ.2504
ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์วราวุธ สุมาวงศ์ เริ่มเข้ารับราชการ เมื่อ พ.ศ.2502 ในตำแหน่งอาจารย์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พ.ศ.2510 ในตำแหน่งอาจารย์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ.2511 ในตำแหน่งอาจารย์คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล จนกระทั่งเกษียณอายุราชการใน พ.ศ.2537
ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์วราวุธ สุมาวงศ์ มีคุณูปการต่อมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มาอย่างยาวนาน เป็นเวลา 18 ปี นับตั้งแต่ปี 2545-2563 โดยท่านได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยประเภทผู้ทรงคุณวุฒิและอุปนายกสภามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และได้รับแต่งตั้งประธานคณะทำงานชุดต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้แก่ คณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี คณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองหลักสูตรของสภามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
นอกจากนี้ ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์วราวุธ สุมาวงศ์ ยังเป็นผู้มีบทบาทที่สำคัญของคณะวิชาด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โดยเป็นผู้ร่วมจัดตั้งวิทยาลัยแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข เป็นผู้ทรงคุณวุฒิในการพัฒนาหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต หลักสูตรใหม่ พ.ศ. 2547 และหลักสูตรปรับปรุง พ.ศ.2555 ตลอดจนเป็นวิทยากรให้ความรู้เกี่ยวกับการแพทยศึกษา และการประเมินทักษะแบบ OSCEs ของคณะพยาบาลศาสตร์ และวิทยาลัยแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
จากผลงานอันโดดเด่น และการอุทิศตนเพื่อวิชาชีพ สังคม และประชาชนมาโดยตลอด จึงเป็นที่ประจักษ์ว่า ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์วราวุธ สุมาวงศ์ มีคุณูปการต่อการศึกษาแพทยศาสตร์ และวิชาชีพแพทยศาสตร์ เป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่เพียบพร้อมด้วยคุณธรรม จริยธรรม ความทุ่มเท เสียสละ
ทำคุณประโยชน์แก่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีและประเทศชาติเป็นอเนกประการ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จึงมอบรางวัลรัตโนบลแด่ ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์วราวุธ สุมาวงศ์ เพื่อประกาศเกียรติคุณให้เป็นแบบอย่างแก่อนุชนสืบไป