สายสกุลที่สืบจาก พระประทุมวรราชสุริยวงษ์ (เจ้าคำผง)
พระประทุมวรราชสุริยวงษ์ (เจ้าคำผง) เจ้าเมืองอุบลราชธานีคนแรก เป็นบุตรของเจ้าพระตาและนางบุศดี เกิดเมื่อ พ.ศ.2252 ณ นครเวียงจันทน์ ท่านเป็นหลานปู่เจ้าปางคำ ราชวงศ์เชียงรุ้ง ผู้สร้างเมืองหนองบัวลุ่มภู (จังหวัดหนองบัวลำภูในปัจจุบัน) หรือนครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน
ในปี พ.ศ.2311 เจ้าพระตากับเจ้าพระวอ เกิดผิดใจกันกับพระเจ้าสิริบุญสารแห่งเวียงจันทน์ ฝ่ายเวียงจันทน์ได้ยกทัพมาตีเมืองหนองบัวลุ่มภู ต่อสู้กันอยู่ 3 ปี ฝ่ายเมืองหนองบัวลุ่มภูเห็นว่า นานไปจะสู้ฝ่ายเวียงจันทน์ไม่ได้แน่ จึงไปขอกองทัพจากพม่าที่เชียงใหม่มาช่วยรบ แต่กองทัพพม่าได้ยกมาสมทบกับกองทัพเวียงจันทน์ตีเมืองหนองบัวลุ่มภูแตก เจ้าพระตาตายในสนามรบ
เมื่อเมืองหนองบัวลุ่มภูแตก เจ้าพระตาตายในสนามรบ เจ้าพระวอกับเจ้าคำผงและพวก จึงต้องทิ้งเมือง หนีไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ จนได้ไปอาศัยพระเจ้าองค์หลวงไชยกุมารแห่งนครจำปาศักดิ์ โดยตั้งค่ายอยู่บ้านดู่บ้านแก แขวงเมืองจำปาศักดิ์ พระเจ้าองค์หลวงไชยกุมารได้ขอเอาเจ้านางตุ่ย พระธิดาของเจ้าอุปราชธรรมเทโว ให้เป็นชายาของเจ้าคำผง และทรงแต่งตั้งให้เจ้าคำผงเป็นพระปทุมสุรราช ผู้ช่วยเจ้าพระวอ นายกองนอก ต่อมาพระปทุมสุรราชจึงทรงขออพยพมาอยู่ดอนมดแดง
หลังจากที่พระปทุมสุรราชทรงขออพยพมาอยู่ดอนมดแดง แล้วพระเจ้าสิริบุญสารได้ทราบว่า เจ้าพระวอกับพวกมาตั้งอยู่ที่ค่ายบ้านดู่บ้านแกแขวงเมืองนครจำปาศักดิ์ และเจ้าพระวอมีกำลังพลน้อย จึงให้พระยาสุโพยกทัพมาตีค่ายบ้านดู่บ้านแกแตก เจ้าพระวอตายในที่รบ พระปทุมสุรราช (เจ้าคำผง) เห็นว่าจะสู้กองทัพเวียงจันทน์ไม่ได้ จึงขอพึ่งพระบรมโพธิสมภารพระเจ้ากรุงธนบุรี พระองค์จึงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาจักรีและเจ้าพระยาสุรสีห์ยกทัพมาช่วย เมื่อทราบสาเหตุจากพระปทุมสุรราชแล้ว จึงยกทัพตามตีทัพพระยาสุโพไปจนถึงเวียงจันทน์ ได้รบกันอยู่ 4 เดือน เวียงจันทน์จึงแตกเมื่อ พ.ศ. 2322 (สงครามครั้งนี้ส่งผลให้อาณาจักรล้านช้างทั้ง 3 แห่ง ตกเป็นประเทศราชของไทยสืบมา จนกระทั่งไทยเสียดินแดนเหล่านี้ให้แก่ฝรั่งเศสในสมัยรัชกาลที่ 5 ด้วย)
ในปี พ.ศ.2319 เกิดน้ำท่วมใหญ่ที่ดอนมดแดง พระประทุมสุรราชจึงทรงพาไพร่พลอพยพหนีน้ำมาอยู่ที่ดอนริมห้วยแจระแม (อยู่เหนือตัวเมืองอุบลราชธานีปัจจุบันประมาณ 8 ก.ม.) เมื่อน้ำลดจึงย้ายไปที่ดงอู่ผึ้ง ริมแม่น้ำมูลเพื่อสร้างเมืองใหม่ เมื่อแล้วเสร็จจึงมีใบบอกลงไปกราบทูลพระเจ้ากรุงธนบุรีขอตั้งเป็นเมืองอุบล พระเจ้ากรุงธนบุรีให้ตั้งเมืองตามที่ขอไป โปรดเกล้าฯ ให้พระปทุมสุรราชเป็น "พระปทุมราชวงศา" เจ้าเมืองอุบลองค์แรกเมื่อ พ.ศ.2321
เมื่อพระประทุมราชวงศาร่วมมือกับเจ้าฝ่ายหน้าผู้เป็นน้องชาย ซึ่งไปตั้งกองนอกเก็บส่วยอยู่ที่บ้านสิงห์ท่า (เมืองยโสธรในเวลาต่อมา) และกองทัพเมืองนครราชสีมาช่วยกันปราบกบฏอ้ายเชียงแก้วได้ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกจึงโปรดเกล้าฯ ให้พระประทุมราชวงศา เป็น "พระประทุมวรราชสุริยวงษ์" และเสริมนามเมืองอุบลขึ้นเป็น "เมืองอุบลราชธานีศรีวนาไลประเทศราช" ขึ้นตรงต่อกรุงเทพ เมื่อวันจันทร์ แรม 13 ค่ำ เดือน 8 จุลศักราช 1154 (พ.ศ.2335) ส่วนเจ้าฝ่ายหน้าก็ได้รับการโปรดเกล้าฯ เป็นเจ้าเมืองนครจำปาศักดิ์ มีบรรดาศักดิ์เป็นพระวิไชยราชสุริยวงษขัติยราช
พระประทุมวรราชสุริยวงษ์ครองเมืองอุบลราชธานีตั้งแต่ตั้งเมืองมาเป็นเวลา 17 ปี จนถึง พ.ศ.2338 จึงถึงแก่อนิจกรรม สิริรวมอายุได้ 85 ปี มีการทำพิธีเผาพระศพด้วยเมรุนกสักกะไดลิงก์ที่ทุ่งศรีเมือง แล้วเก็บอัฐิบรรจุธาตุไว้ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองตรงบริเวณที่เป็นธนาคารออมสิน สาขาอุบลฯ ทุกวันนี้ ต่อมาภายหลังมีสร้างเรือนจำขึ้นในบริเวณนั้น จึงย้ายอัฐิไปไว้ที่วัดหลวง และยังอยู่จนปัจจุบัน ปัจจุบันมีอนุสาวรีย์ของพระปทุมวรราชสุริยวงศ์ ประดิษฐานอยู่ที่ริมทุ่งศรีเมือง กลางเมืองอุบลราชธานี
พระประทุมวรราชสุริยวงษ์ เป็นต้นกำเนิดของสายสกุลต่างๆ ในเมืองอุบลราชธานีหลายสกุล เช่น
ณ อุบล สกุลนี้สืบเชื้อสายเจ้าพระประทุมวรราชสุริยวงศ์ (เจ้าคำผง) เจ้าเมืองอุบลราชธานีลำดับที่ 1 ผู้ขอรับพระราชทานนามสกุลสายนี้คือ พระอุบลเดชประชารักษ์ (เสือ ณ อุบล) กรมการเมืองพิเศษเมืองอุบลราชธานีในสมัยรัชกาลที่ 5
สุวรรณกูฏ สกุลนี้สืบเชื้อสายผ่านทางพระพรหมวรราชสุริยวงศ์ (กุทอง สุวรรณกูฏ) เจ้าเมืองอุบลราชธานีลำดับที่ 3 บุตรในเจ้าพระประทุมวรราชสุริยวงศ์ (เจ้าคำผง) ผู้ขอรับพระราชทานนามสกุลคือ รองอำมาตย์เอก พระบริคุฏคามเขต (โหง่นคำ สุวรรณกูฏ)
สิงหัษฐิต สกุลนี้สืบเชื้อสายผ่านทาง ท้าวสิงผู้เป็นบุตรของเจ้าพระตา ผู้ขอรับพระราชทานนามสกุล คือ อำมาตย์ตรี พระวิภาคย์พจนกิจ (เล็ก สิงหัษฐิต) บิดาของนายเติม วิภาคย์พจนกิจ ผู้เขียนหนังสือ ฝั่งขวาแม่น้ำโขง และ ประวัติศาสตร์อีสาน
บุตโรบล สายนี้สืบมาจากท้าวโคตซึ่งเป็นบุตรในเจ้าพระตา และเป็นอนุชาในพระปทุมวรราชสุริยวงศ์ (เจ้าคำผง) ผู้รับพระราชทานสกุลคือ ร้อยโท พระอุบลกิจประชากร (บุญเพ็ง บุตโรบล) สายสกุลนี้เป็นสายสกุลของอัญญานางเจียงคำ บุตโรบล (หม่อมเจียงคำ ชุมพล ณ อยุธยา) ในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าชุมพลสมโภช กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์
พรหมวงศานนท์ สกุลนี้สืบเชื้อสายผ่านทางท้าวพรหมวงษา ผู้ขอรับพระราชทานนามสกุลคือ รองอำมาตย์โท พระอุบลการประชานิตย์ (บุญชู พรหมวงศานนท์) อดีตข้าหลวงบริเวณอุบลราชธานี (2450)
ทองพิทักษ์ สกุลนี้สืบเชื้อสายผ่านทางเจ้าอุปฮาด (สุดตา) เชษฐาของพระพรหมราชวงศา (กุทอง สุวรรณกูฏ) พระราชโอรสในเจ้าพระประทุมวรราชสุริยวงศ์
อมรดลใจ สกุลนี้สืบเชื้อสายผ่านทางพระอมรดลใจ (อ้ม สุวรรณกูฏ) เจ้าเมืองตระการพืชผลองค์แรก ท่านเป็นบุตรในพระพรหมวรราชสุริยวงศ์ (กุทอง สุวรรณกูฏ) เจ้าเมืองอุบลราชธานีลำดับที่ 3 และเป็นเขยในเจ้าผู้ครองนครจำปาศักดิ์
โทนุบล สกุลนี้สืบเชื้อสายผ่านทางเจ้าเมืองมหาชนะชัย หรือท้าวคำพูน สุวรรณกูฏ ผู้เป็นบุตรในพระพรหมวรราชสุริยวงศ์ (กุทอง สุวรรณกูฏ) เจ้าเมืองอุบลราชธานีลำดับที่ 3 โดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานนามท้าวคำพูนว่า พระเรืองชัยชนะ เจ้าเมืองมหาชนะชัย ขึ้นตรงต่อเมืองอุบลราชธานี ต่อมาภายหลังเมืองมหาชนะชัยได้ถูกลดฐานะเป็นอำเภอภายใต้การปกครองของเมืองอุบลราชธานี โดยมีหลวงวัฒนวงศ์ โทนุบล (โทน สุวรรณกูฏ) ผู้เป็นนัดดาในพระเรืองชัยชนะ เป็นนายอำเภอคนแรก