สำนักงานเทศบาลนครอุบลราชธานี หลังใหม่ (ตลาดใหญ่)
เมื่อวันที่ 24 มีนาม 2566 เทศบาลนครอุบลราชธานี ได้มีประกาศเรื่อง ย้ายสำนักทะเบียนท้องถิ่นเทศบาลนครอุบลราชธานี ไปสำนักงานแห่งใหม่ ณ อาคารตลาดสดเทศบาล 3 (ตลาดใหญ่) ตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน 2566 เป็นต้นไป
โดยสำนักทะเบียนท้องถิ่นเทศบาลนครอุบลราชธานี ได้ดำเนินการจัดทำโครงการการรื้อ, ถอน, โยกย้ายติดตั้งระบบคอมพิวเตอร์พร้อมระบบสื่อสาร ที่ใช้สำหรับการทะเบียนราษฎรและระบบบัตรประจำตัวประชาชน จากเดิม สำนักงานเทศบาลนครอุบลราชธานี เลขที่ 147 ถนนศรีณรงค์ ตำบลในเมือง อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี ไปที่บริเวณอาคารตลาดสดเทศบาล 3 หรือ ตลาดใหญ่ (ชั้นตลาด) เลขที่ 1 ถนนราชบุตร ตำบลในเมือง อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นที่ตั้งของสำนักงานเทศบาลนครอุบลราชรานีแห่งใหม่
และจะสามารถเปิดให้บริการ ด้านงานทะเบียนราษฎร และบัตรประจำตัวประชาชน พร้อมทดสอบระบบในวันที่ 3 เมษายน 2566
ทั้งนี้ แหล่งข่าวไกด์อุบลให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การย้ายสำนักทะเบียนท้องถิ่นฯ นี้ เป็นโครงการนำร่องเท่านั้น หลังจากนี้จะมีการย้ายหน่วยงานอื่นๆ ของเทศบาลนครอุบลฯ ที่อยู่อาคารปัจจุบัน ไปอาคารแห่งใหม่เพิ่มเติม จนครบทุกแผนก จากนั้นอาคารสำนักงานหลังเดิมจะทำการปรับปรุง เพื่อให้บริการประชาชนด้านอื่นๆ ต่อไป
สำหรับตลาดสดเทศบาล 3 หรือตลาดใหญ่ มีประวัติการพัฒนามาจากตลาดริมมูล และการเติบโตของชุมชนในอดีตตั้งแต่สมัยแรกเริ่มประมาณปี พ.ศ.2499 โดยทีมข่าวไกด์อุบลได้ข้อมูลมาว่า เดิมนั้นความเจริญหรือย่านการค้าจะอยู่ที่บริเวณวัดหลวง เนื่องจากมีการลงทุนของนักธุรกิจชาวจีนสร้างโรงหนังถึง 3 โรง ในช่วงแรกของการก่อตั้งตลาด หรือตลาดเทศบาล 1 ชาวอุบลราชธานีนิยมเรียกกันว่า “ตลาดใหญ่” เพราะเป็นตลาดแห่งแรกและใหญ่ที่สุด ตั้งอยู่บริเวณที่เรียกถนนหลวง (ตลาดหลวง)
ต่อมา เมื่อมีการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำมูล ใน พ.ศ. 2496-2497 เพื่อเชื่อมฝั่งอำเภอวารินชำราบกับฝั่งเมืองอุบลราชธานี ส่งผลให้มีแนวคิดในการขยายตลาดสด ให้เขยิบขึ้นมาใกล้บริเวณสะพานเสรีประชาธิปไตย เรียกว่า ""ตลาดสดเทศบาล 3" เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2503 แล้วเสร็จในปี 2507 มีอาคาร 2 หลัง อาคารแรกเป็นโรงเรือนชั้นเดียว สร้างเทพื้นปูนซีเมนต์ เป็นอาคารใหญ่ (คือบริเวณลานจอดรถของตลาดสดเทศบาล 3 ตลาดใหญ่ในปัจจุบัน) แผงค้าก่อเป็นแท่นปูนขึ้นมาสูงเหนือเข่า เพื่อทำเป็นพื้นที่จัดวางสินค้า ส่วนอีกหลังเป็นอาคารใหญ่กว่า ใช้เป็นที่ขายเนื้อสัตว์และของเบ็ดเตล็ด ส่วนอาคารอีกหลังอยู่ติด ริมมูลเป็นอาคารขนาดเล็กหลังคามุงสังกะสี
ตลาดสดเทศบาล 3 ได้รับการปรับปรุงอีกครั้งในปี พ.ศ.2535 เป็นการปรับปรุงผู้ค้า คุณภาพของสินค้า อนามัยและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เป็น “ตลาดสดน่าซื้อ” คือ ให้มีการปรับปรุงแผงค้า จัดแยกโซนแผงสินค้า เป็นต้น
ต่อมาในปี พ.ศ.2545 เทศบาลนครอุบลราชธานี ภายใต้การบริหารของกลุ่มการเมืองท้องถิ่นใหม่ นำโดยนางรจนา กัลป์ตินันท์ นายกเทศมนตรีนครอุบลราชธานี มีแผนพัฒนาตลาดสดเทศบาลเมืองอุบลราชธานี คือการรื้ออาคารตลาดสด ที่ดำเนินกิจการมาถึง 38 ปี ด้วยเหตุผลว่า อาคารหลังเดิมมีความเสื่อมโทรม และคับแคบ ไม่มีที่จอดรถ เพื่อให้ผู้ค้าผู้ซื้อได้สะดวกในการค้าขายและจับจ่ายใช้สอย
ดังนั้น เทศบาลจึงเขียนแผนเพื่อของบประมาณปรับปรุงตลาดสด เพื่อสร้างอาคารตลาดสดเทศบาล 3 หรือตลาดใหญ่ ในปัจจุบันขึ้นใหม่ การก่อสร้างได้ดำเนินการในปี พ.ศ.2549 แล้วเสร็จในปี 2552 และเปิดให้บริการใหม่เต็มรูปแบบอีกครั้ง
อาคารใหม่ของตลาด เป็นอาคารที่มี 4 ชั้น ชั้นใต้ดินเป็นพื้นที่อเนกประสงค์และเป็นลานจอดรถ ชั้นที่ 2 เป็นพื้นที่ร้านค้าตลาดสด มีการโซนนิ่งร้านค้า และด้านหน้าพื้นที่อาคารยังจัดสรรเป็นที่จอดรถเพิ่มขึ้นอีกด้วย ชั้นที่ 3 ใช้สำหรับเป็นห้องประชุมขนาดใหญ่ สามารถรองรับได้ 1,200 คน สำหรับการใช้เป็นงานจัดเลี้ยงสังสรรค์ และเป็นพื้นที่ศูนย์จำหน่ายสินค้า OTOP มากกว่า 2,700 ตร.ม. ชั้นที่ 4 เป็นห้องประชุมขนาดเล็ก สามารถรองรับได้มากกว่า 350 คน และจะใช้พื้นที่เป็นศูนย์หนังสือและห้องสมุดซึ่งมีพื้นที่ 2,700 ตร.ม.
น่าเสียดายว่า ตลาดสดเทศบาล 3 หรือตลาดใหญ่ ไม่ได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ มีเพียงชั้น 2 ที่เป็นตลาดสดเท่านั้น ส่วนชั้น 3 และ 4 ปล่อยว่างไว้ มีการใช้งานบ้างเป็นครั้งคราว
กระทั่งในปี พ.ศ.2565 หลังจากนางสาวพิศทยา ไชยสงคราม ลูกสะไภ้ของนางรจนา กัลป์ตินันท์ เข้ามาดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีนครอุบลราชธานี จึงได้มีโครงการปรับปรุงอาคารตลาดใหญ่อีกครั้ง เป็นการปรับปรุงพื้นที่ใช้สอยอาคารตลาดสดเทศบาล 3 (ตลาดใหญ่) ชั้น 1- ชั้น 4 ให้เป็นอาคารสำนักงานเทศบาลนครอุบลราชธานีหลังใหม่ โดยให้โซนตลาดสดใช้พื้นที่ด้านทิศตะวันออก พร้อมกับอาคารพาณิชย์ด้านหน้าตลาด
สำนักงานเทศบาลนครอุบลราชธานี (หลังใหม่) บริเวณอาคารตลาดสดเทศบาล 3 หรือตลาดใหญ่ จะเริ่มต้นบริการประชาชนด้วยงานบริการของสำนักทะเบียนท้องถิ่น ด้านงานทะเบียนราษฎร และบัตรประจำตัวประชาชน ตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน 2566 เป็นต้นไป