สถิติย้อนหลัง 7 ปี สถานการณ์อุทกภัยอุบลฯ (2559-2565)
วันเสาร์ที่ 16 กันยายน 2566 ณ ห้องประชุม ปภ. ชั้น 2 ศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี นายชลธี ยังตรง ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เป็นประธานการประชุมศูนย์บัญชาการเหตุการณ์อุทกภัยจังหวัดอุบลราชธานี ครั้วที่ 1/2566 โดยมี นายสมเพชร สร้อยสระคู รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดอุบลราชธานี หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และอำเภอทุกอำเภอ ร่วมประชุม ทั้งในห้องประชุมและทางระบบออนไลน์ เพื่อวิเคราะห์ประเมินสภานการณ์ สั่งการป้องกันและแก้ไขปัญหา พร้อมให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ประสบอุทกภัย ซึ่งเปิดศูนย์ฯ ดำเนินงานตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่านมา
โดยจังหวัดอุบลราชธานี ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำเอ่อล้นตลิ่งบริเวณที่ลุ่มต่ำ เข้าท่วมบ้านเรือนและพื้นที่การเกษตร ส่งผลให้ราษฎรได้รับความเดือดร้อนจำนวน 3 อำเภอได้แก่ อำเภอเมืองอุบลราชธานี อำเภอม่วงสามสิบ และอำเภอวารินชำราบในพื้นที่ 12 ตำบล 50 หมู่บ้าน ได้มีการอพยพราษฎรจำนวน 2 ชุมชน 12 ครัวเรือน 44 คน โดยได้จัดสร้างศูนย์พักพิงชั่วคราวรวม 2 แห่ง
สำหรับสถานการณ์น้ำที่สถานี M7 สะพานเสรีประชาธิปไตย อำเภอเมืองอุบลราชธานี อยู่ที่ระดับ 5 เมตร 91 เซนติเมตร ต่ำกว่าระดับตลิ่งฝั่งอำเภอวารินชำราบ 1 เมตร 9 เซนติเมตร มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากสถานการณ์น้ำในพื้นที่ทางตอนเหนือของจังหวัดอุบลราชธานีขึ้นไป ทั้งลุ่มน้ำมูลและลุ่มน้ำชี ยังมีการเพิ่มระดับและมีการระบายน้ำอย่างต่อเนื่อง
ขณะนี้จังหวัดอุบลราชธานีได้จัดตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ขึ้นเพื่อเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ด้านสภาพอากาศการบริหารจัดการน้ำตลอดจนการประเมินสถานการณ์และเพื่อเป็นการบูรณาการทำงานให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพแล้ว
สำหรับสถิติย้อนหลังสภานการณ์อุทกภัยจังหวัดอุบลราชขธานี ตั้งแต่ปี พ.ศ.2559-2565 รวม 7 ปี มีดังนี้
ปี 2559
สาเหตุการเกิดภัย เกิดฝนตกหนักในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี และลำน้ำตอนบนเหนือจังหวัดอุบลราชธานี ทำให้ระดับน้ำชี มูล และลำน้ำสาขา เพิ่มระดับสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เกิดสถานการณ์น้ำท่วมขึ้น ลักษณะน้ำท่วมขังในชุมชนเขตเมือง และน้ำเอ่อลันตลิ่ง
ผลกระทบ จำนวน 5 อำเภอ 20 ตำบล/เทศบาล 98 หมู่บ้าน/ชุมชน 872 ครัวเรือน 3,495 คน ราษฎรอพยพ 178 คน พื้นที่การเกษตรที่ได้รับผลกระทบ 188,779 ไร่
ปี 2560
สาเหตุการเกิดภัย อิทธิพลจากพายุโซนร้อน "เชินกา" ตั้งแต่ 25 กรกฎาคม 2560 เป็นต้นมา โดยเกิดฝนตกหนักในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี และลำน้ำตอนบนเหนือจังหวัดอุบลราชธานี ทำให้ระดับน้ำโขง ชี มูล และลำน้ำสาขา เพิ่มระดับสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เกิดสถานการณ์น้ำท่วมขึ้นในหลายพื้นที่ของจังหวัด
ผลกระทบ จำนวน 23 อำเภอ 139 ตำบล 1,077 หมู่บ้าน ราษฎรอพยพ 847 ครัวเรือน 3,044 คน ด้านการเกษตรและปศุสัตว์ พื้นที่การเกษตร 161,975 ไร่ ด้านประมง ๑๘๒ ไร่/2,400 ตารางเมตร ด้านปศุสัตว์ 26,072 ตัว สิ่งสาธารณประโยชน์ ถนน 55 สาย/สะพาน,คอสะพาน 10 แห่ง/ฝ่าย,ทำนบ,พนังกั้นน้ำ 4 แห่ง /วัด 3 แห่ง /โรงเรียน 1 แห่ง /สถานที่ราชการ 3 แห่ง ผู้เสียชีวิต จำนวน 3 ราย
ปี 2561
สาเหตุการเกิดภัย ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทยและอ่าวไทย ตั้งแต่ตันเดือนกรกฎาคม 2561 และเมื่อวันที่ 23-25 กรกฎาคม 2561 ประเทศไทยได้รับอิทธิพล จากพายุดีเปรสชั่น เชินติญ ประกอบกับหย่อมความกดอากาศต่ำ ที่พาดผ่านตอนเหนือของประเทศเวียดนามและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ต่อเนื่องมา ทำให้ประเทศไทย และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว มีฝนตกชุกและหนาแน่น ทำให้แม่น้ำโขง แม่น้ำชี และลำน้ำสาขาในที่จังหวัดอุบลราชธานี เอ่อลันตลิ่งไหลเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำ ตั้งแต่วันที่ 28 กรกฎาคม 2561
ผลกระทบ จำนวน 10 อำเภอ 38 ตำบล 209 หมู่บ้าน ได้แก่ อำเภอเขมราฐ โพธิ์ไทร โขงเจียม นาตาล ศรีเมืองใหม่ ตระการพืชผล ม่วงสามสิบ เขื่องใน วารินชำราบ และอำเภอเมืองอุบลราชธานี จำนวน 5,134 ครัวเรือน 8,455 คน น้ำท่วมบ้านเรือน ขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูง จำนวน 61 ครัวเรือน 264 คน พื้นที่การเกษตร 30,346 ไร่ บ่อปลา 5 บ่อ ถนน 1 สาย สะพาน 12 แห่ง โรงเรียน 1 แห่ง
ปี 2562
สาเหตุการเกิดภัย อิทธิพลจากร่องมรสุม เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำ เมื่อวันที่ 26-29 สิงหาคม 2562 อิทธิพลจากพายุโซนร้อน "โพดุล" เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม - 1 กันยายน 2562 และอิทธิพลจากพายุโชนร้อน "คาจิกิ" วันที่ 2-4 กันยายน 2562 ทำให้มีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางแห่ง จากสถานการณ์ดังกล่าว ทำให้เกิดปริมาณน้ำสะสมเป็นจำนวนมาก บางพื้นที่เกิดน้ำป่าไหลหลากน้ำท่วมฉับพลันและน้ำล้นตลิ่ง
ผลกระทบ จำนวน 25 อำเภอ 3 เทศบาล 202 ตำบล 49 ชุมชน 2,021 หมู่บ้าน ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 42,383 ครัวเรือน 159,692 คน บ้านเรือนได้รับความเสียหาย 16,245 หลัง โค กระบือ แพะ แกะ 20,561 ตัว สัตว์ปีก 83,578 ตัว พื้นที่การเกษตร จำนวน 390,477.43ไร่ ประมง 7,645.51 ไร่ 35,622 ตรม. ถนน 107 สาย สะพาน 32 สาย ฝ่าย 3 แห่ง วัด 148 แห่ง โรงเรียน 164 แห่ง รพ.สต. 11 แห่ง ศพด. 58 แห่ง สถานที่ราชการ 13 แห่ง
ปี 2563
สาเหตุการเกิดภัย อิทธิพลจากพายุโซนร้อน "โนอีล" ตั้งแต่วันที่ 17-20 กันยายน 2563 ทำให้มีฝนตกต่อเนื่องและมีนตกหนักบางแห่งจากสถานการณ์ดังกล่าว เกิดปริมาณน้ำสะสมเป็นจำนวนมาก บางพื้นที่เกิดน้ำท่วมขัง รอการระบาย และน้ำท่วมฉับพลัน และพายุระดับ ๒ (ดีเปรสชัน) ได้อ่อนกำลังลงเป็นพายุระดับ 1 หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงแล้ว บริเวณแขวงหัวพัน ประเทศลาว โดยพายุนี้มีผลทำให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน มีฝนเพิ่มขึ้น ในช่วงวันที่ 15-17 ตุลาคม 2563
ผลกระทบ จำนวน 2 ชุมชน 15 ครัวเรือน 57 คน
ปี 2564
สาเหตุการเกิดภัย อิทธิพลจากร่องมรสุม เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำ เมื่อวันที่ 24-26 กันยายน 2564 อิทธิพลจากพายุโซนร้อน "เตี้ยนหมู่" ทำให้มีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางแห่ง จากสถานการณ์ดังกล่าว ทำให้เกิดปริมาณน้ำสะสมเป็นจำนวนมาก บางพื้นที่เกิดน้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมฉับพลันและน้ำล้นตลิ่ง
ผลกระทบ จำนวน 13 อำเภอ 53 ตำบล 337 ชุมชน/หมู่บ้าน 11,040 ครัวเรือน 12,761 คน อพยพ 26 ชุมชน 388 ครัวเรือน 1,460 คนพื้นที่การเกษตร 74,314.25 ไร่ ประมง 332.24 ไร่ ถนน 12 สาย
ปี 2565
สาเหตุการเกิดภัย อิทธิพลจากร่องมรสุมกำลังแรงพาดผ่านภาคเหนือตอนบน และตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังแรง ในช่วงวันที่ 7-9 สิงหาคม 2565 รวมทั้งอิทธิพลของพายุโซนร้อน "มู่หลาน" ในช่วงวันที่ 11-12 สิงหาคม 2565 และอิทธิพลของพายุไต้ฝุ่น "โนรู"ในช่วงวันที่ 27-29 กันยายน 2565
ผลกระทบ จำนวน 21 อำเภอ 157 ตำบล 1,492 หมู่บ้าน 61,245 ครัวเรือน 108,253 คน อพยพ 13 อำเภอ 42 ตำบล 281 หมู่บ้าน 11,533 ครัวเรือน 35,231 คน ถนน 157 สาย สะพาน/คอสะพาน 11 แห่ง วัด/ที่พักสงฆ์ จำนวน 82 แห่ง รพ.สต. 7 แห่ง โรงเรียน 60 แห่ง พื้นที่การเกษตร 368,825.75 ไร่ ประมง 1,610.95 ไร่ 9,232 ตรม. ปศุสัตว์ 713,040 ตัว อพยพสัตว์ 57,723 ตัว เสียชีวิต 1 ราย