ทำไม จ.อุบล ถึงมีพิธีศพแบบนกหัสดีลิงค์
ในรอบปี 2557 ถึงต้นปี 2558 นี้ จังหวัดอุบลราชธานี มีการจัดพิธีศพพระเถระผู้ใหญ่แบบนกหัสดีลิงค์หลายครั้ง หลานท่านคงสงสัยว่า พิธีศพแบบนกหัสดีลิงค์คืออะไร บางท่านอาจเคยเห็นพิธีศพแบบนี้ที่ภาคเหนือ เหตุใดจึงมีจัดพิธีศพแบบนกหัสดีลิงค์ในจังหวัดอุบลราชธานีด้วย
ก่อนอื่น เรามาทำความรู้จัก "นกหัสดีลิงค์" กันก่อนครับ นกหัสดีลิงค์ เป็นชื่อนกใหญ่ชนิดหนึ่งในเทวนิยายว่า อาศัยอยู่ในป่าหิมพานต์ รูปตัวส่วนใหญ่เป็นนก หัวเป็นนก แต่มีงวง มีงา เหมือนช้าง กินเนื้อเป็นอาหาร มีฤทธิ์มาก มีความเชื่อว่า นกหัสดีลิงค์ สามารถนำดวงวิญญาณของผู้ตายไปสู่สวรรค์ได้
ทีนี้เรามาดูเรื่องตำนานของนกหัสดีลิงค์กันครับ คุณพ่อบำเพ็ญ ณ อุบล ปราชญ์เมืองอุบลท่านหนึ่ง กล่าวไว้ว่า โดยธรรมเนียมของเจ้าเมืองเชื้อสายจำปาสัก เมื่อตายลงจะมีการสร้างรูปนกหัสดีลิงค์รองรับ มีหอแก้วหรือบุษบกประดิษฐานศพบนหลังนกหัสดีลิงค์ โดยมีการอ้างถึงตำนานทางจำปาสัก เรื่องการประกอบพิธีถวายพระเพลิงศพกษัตริย์ในเมืองเชียงรุ้งแสนหวีฟ้า หรือเมืองตักกศิลา ว่า
มีนครๆ หนึ่ง ชื่อ นครเชียงรุ้งตักศิลา พระเจ้าแผ่นดินถึงแก่สวรรคต พระมเหสีนำพระบรมศพแห่แหนไป
ถวายพระเพลิง นอกเมืองที่ทุ่งหลวงตามธรรมเนียมโบราณราชประเพณี ขณะนั้นมีนกหัสดีลิงค์ ซึ่งกินเนื้อสัตว์เป็นอาหาร บินมาจากป่าหิมพานต์ เห็นพระศพเข้าใจว่าเป็นอาหาร จึงบินโฉบลงมาแย่งเอาพระศพจะไปกิน เมื่อพระมเหสีเห็นเช่นนั้น ก็ประกาศหาคนดีมีฝมือต่อสู้กับนกหัสดีลิงค์ เพื่อเอาพระศพกลับคืนมา
คนทั้งหลายต่างก็อาสาต่อสู้ แต่ก็สู้นกหัสดีลิงค์ไม่ได้ ในที่สุดมีหญิงสาวผู้หนึ่งชื่อ เจ้านางสีดา เป็นบุตรีของมหาราชครู อาสาต่อสู้กับนกหัสดีลิงค์ เจ้านางสีดามีวิชายิงศรเป็นเยี่ยม ได้ใช้ศรยิงถูกนกหัสดีลิงค์ตกลงมาถึงแก่ความตาย พระมเหสีจึงให้ประกอบพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพร้อมกับนกหัสดีลิงค์ กลายเป็นธรรมเนียมตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
เจ้านายในราชวงศ์แห่งนครเชียงรุ้งตักศิลา ได้ถือเอาประเพณีทำเมรุนกหัสดีลิงค์เพื่อประกอบพิธีถวายพระเพลิงแก่เจ้านายเชื้อพระวงศ์ที่ถึงแก่อสัญกรรม ประเพณีนี้ จึงถือสืบทอดกันมาจนถึงเจ้านายเมืองอุบลราชธานี และเชื้อสายของเมืองตักศิลา
ไกด์อุบลมีโอกาสเห็นพิธีศพแบบนกหัสดีลิงค์ครั้งแรก ในงานพระราชทานเพลิงศพ พระราชรัตโนบล (พิมพ์ นารโท) อดีตเจ้าคณะจังหวัดอุบลราชธานี และเจ้าอาวาสวัดทุ่งศรีเมือง ณ เมรุลอยพิเศษนกหัสดีลิงค์ วัดทุ่งศรีเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ.2548
พิธีศพแบบนกหัสดีลิงค์ มาเกี่ยวข้องกับเมืองอุบลราชธานี เนื่องจาก เดิมทีเมืองอุบลราชธานีมีเชื้อเจ้าชั้นกษัตริย์จากเมืองเชียงรุ้งแสนหวีฟ้า ได้หนีกองทัพพวกฮ่อหัวขาวที่ยกมาปล้นเมืองเชียงรุ้งแสนหวีฟ้าและถูกตีแตก พวกฮ่อหัวขาวได้จับเจ้านาย ราษฎรฆ่าทิ้งเสียเป็นส่วนมาก ส่วนเจ้านายที่เหลือได้แยกย้ายกันหนีออกจากเมือง พาไพร่พลไปพึ่งเมืองที่เป็นญาติพี่น้อง สายที่หนีลงมาอาศัยอยู่กรุงศรีสัตตนาคนหุตล้านช้างเวียงจันมี 3 พระองค์ คือ เจ้าอินทรกุมารหนึ่ง เจ้านางจันทรกุมารีหนึ่ง และเจ้าปางคำหนึ่ง
เจ้าปางคำ เป็นต้นราชวงศ์ของเมืองอุบลราชธานี และเจ้านายที่มีเชื้อสายเชียงรุ้งแสนหวีฟ้า ที่มาสร้างเมืองอุบลราชธานีก็คือ เจ้าคำผง หรือ พระปทุมวรราชสุริยวงศ์ ซึ่งเป็นหลานของเจ้าปางคำนั่นเอง
การทำศพแบบนกหัสดีลิงค์นั้น จำกัดเฉพาะกลุ่มเจ้านายเชื้อสายจำปาสักเท่านั้น ผู้ไม่ใช่เจ้านายไม่อนุญาตให้ทำศพแบบนี้ ระยะแรก การเผาศพกระทำที่ทุ่งศรีเมือง ต่อมาภายหลัง เมื่อกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์เป็นข้าหลวงต่างพระองค์ มาปกครองเมืองอุบล ให้ยกเลิกประเพณีการเผาศพที่ทุ่งศรีเมือง (เข้าใจว่า เกรงจะเป็นการเลียนแบบพระมหากษัตริย์ที่มีการเผาพระบรมศพ ณ พระเมรุท้องสนามหลวง จึงโปรดให้ยกเลิกประเพณีนี้เสีย) และอนุญาตให้พระเถระที่ทรงคุณธรรม เมื่อมรณภาพให้จัดประเพณีการทำศพแบบนกหัสดีลิงค์ได้ด้วย
โดยเริ่มจากธรรมบาลผุย หลักคำเมือง เจ้าอาวาสวัดมณีวนาราม เนื่องจากกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ทรงศรัทธาเลื่อมใสท่านธรรมบาลว่า เคร่งครัดในพระธรรมวินัย มีความรู้ในพระปริยัติแตกฉานไม่แพ้พระเถระทางกรุงเทพฯ เมื่อท่านธรรมบาล (ผุย) ถึงแก่มรณภาพ เสด็จในกรมสั่งให้สร้างเมรุรูปนกหัสดีลิงค์ถวายเป็นเกียรติยศและให้เผาที่ทุ่งศรีเมือง พระสงฆ์ที่เป็นพระเถระผู้ใหญ่จึงได้รับเกียรติยศให้ขึ้นนกตั้งแต่นั้นมา หลังจากนั้นแล้วไม่มีการเผาศพที่ทุ่งศรีเมืองอีกเลย
ผู้ที่ทำพิธีฆ่านกหัสดีลิงค์นั้น จะต้องเป็นผู้สืบสกุลจากเจ้านางสีดาผู้ฆ่านกในสมัยโบราณ ซึ่งก็คือ ญาแม่นางสุกัณ ปราบภัย ผู้สืบเชื้อสายมาจากเมืองตักศิลา บุตรีเจ้านางสีดา เมื่อญาแม่สุกัณ ถึงแก่กรรมไปแล้ว บุตรีของท่าน คือ คุณยายมณีจันทร์ ผ่องศิลป์ เป็นผู้รับช่วงในการทรงเจ้านางสีดาผู้ฆ่านกหัสดีลิงค์ ต่อมาเมื่อคุณยายมณีจันทร์ ผ่องศิลป์ ถึงแก่กรรมไปแล้ว บุตรีของท่าน คือ คุณยายสมวาสนา รัศมี รับช่วงในการทรงเจ้านางสีดาผู้ฆ่านกหัสดีลิงค์ ต่อมาเมื่อคุณยายสมวาสนา รัศมี ถึงแก่กรรมไปแล้ว คุณยายยุพิน ผ่องศิลป์ ซึ่งเป็นบุตรีของคุณยายมณีจันทร์ ผ่องศิลป์ เป็นผู้รับช่วงในการเข้าทรงเจ้านางสีดาผู้ฆ่านกหัสดีลิงค์ต่อไป
ในงานพิธีพระราชทานเพลิงศพ พระสิริพัฒนาภรณ์ (สมหมาย โชติปุญโญ, บุญเื้อ) อดีตเจ้าอาวาสวัดทุ่งศรีเมือง และอดีตเจ้าคณะอำเภอเขื่องใน เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2557 ณ เมรุนกหัสดีลิงค์ วัดทุ่งศรีเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ผู้ที่เป็นคนทรงเจ้านางสีดาลงมาฆ่านกหัสดีลิงค์ คือ นางสาวเมทินี หวานอารมย์ ซึ่งเป็นหลานของนางสมวาสนา รัศมี และเป็นเหลนของนางมณีจันทร์ ผ่องศิลป์
ในการเชิญเจ้านางสีดาไปฆ่านกหัสดีลิงค์นั้น เมื่อกระบวนแห่ไปถึงบริเวณที่ตั้งเมรุนกหัสดีลิงค์แล้ว ก็จะแห่เจ้านางสีดานั้นไปรอบๆ นกหัสดีลิงค์ 3 รอบ และทำท่าล่อหลอกนก แต่ละรอบนกก็จะแสดงอาการหันซ้ายหันขวา งวงกวัดแกว่ง ไขว่คว้า ตากระพริบ หูกระพือ อ้าปากร้องเสียงดังประหนึ่งต่อสู้กัน ฝ่ายเจ้านางสีดา ก็ไม่รั้งรอ พอได้จังหวะก็แผลงศรไปที่นกหัสดีลิงค์ จากนั้นกระบวนก็จะแห่ไปอีกรอบหนึ่งแล้วก็ยิงนกหัสดีลิงค์อีกครั้ง แห่ไปอีกรอบหนึ่งก็จะกลับมายิงนกหัสดีลิงค์อีก เมื่อศรปักอกนก คนอยู่ข้างในร่างนกก็จะเทน้ำสีแดงที่เตรียมไว้ออกมาตามรูลูกศรประหนึ่งนกหลั่งเลือด งวงตก ตาหลับ ซึ่งแสดงว่านกหัสดีลิงค์ตายแล้ว บริวารของเจ้านางสีดาก็จะช่วยกันเอาหอก เอาดาบฟันนกหัสดีลิงค์ เมื่อเสร็จจากการฆ่านกหัสดีลิงค์แล้ว กระบวนเจ้านางสีดาก็กลับตำหนัก
ในวันที่ 30 มีนาคม 2558 จะมีพิธีศพแบบนกหัสดีลิงค์อีกครั้งใน งานพระราชทานเพลิงศพ พระราชปริยัตยากร (บุญเรือง สารโท) อดีตเจ้าอาวาสวัดพิชโสภาราม อ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี ขอเชิญชวนพุทธศานิกชน และชาวอุบลราชธานี ไปร่วมพิธี และมีโอกาสได้ชมพิธีที่หาชมยากครับ