เชิญผู้ว่าฯ เป็นประธานพิธีบวงสรวงฯ เจ้าคำผงและงานวันรำลึกแห่งความดีชาวอุบลฯ
26 ตุลาคม 2566 มูลนิธิเจ้าคำผง นำโดยนายสมพงษ์ โลมะรัตน์ นายนิกร วีสะเพ็ญ ผศ.ดร.สุเชาวน์ มีหนองหว้า ได้เข้าเรียนเชิญนายศุภศิษย์ กอเจริญยศ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เป็นประธานพิธีบวงสรวงและสดุดีวีรกรรมพระปทุมวรราชสุริยวงษ์ (เจ้าคำผง) วันที่ 9-10 พฤศจิกายน 2566 ณ วัดหลวง และอนุสาวรีย์พระปทุมวรราชสุริยวงษ์ (เจ้าคำผง) ทุ่งศรีเมืองอุบลราชธานี เพื่อเผยแพร่พระเกียรติคุณ ของผู้สร้างบ้านแปงเมืองอุบลราชธานี เสริมสร้างความรัก ความสามัคคี และความภาคภูมิใจในท้องถิ่น
โดยวันที่ 9 พฤศจิกายน 2566 เวลา 18.00 น. กำหนดพิธีเจริญพระพุทธมนต์ ณ ศาลาจตุรมุข ทุ่งศรีเมือง
วันที่ 10 พฤศจิกายน 2566 เวลา 06.00 น. พิธีทักษิณานุปทาน พิธีไหว้พระเจ้าใหญ่องค์หลวง พิธีสักการะรูปจำลองพระปทุมวรราชสุริยวงษ์ (เจ้าคำผง) ณ วัดหลวง พิธีอัญเชิญเครื่องยศเจ้าเมืองจากวัดหลวงไปยังทุ่งศรีเมือง และพิธีบวงสรวง ณ ลานอนุเสาวรีย์ พระปทุมวรราชสุริยวงษ์ (เจ้าคำผง) ณ ทุ่งศรีเมือง ประกอบด้วย พิธีวางขันหมากเบ็ง การรำบวงสรวง ฟ้อนอุบลราชธานี และรำถวายมือ
พระประทุมวราชสุริยวงษ์ (เจ้าคำผง) เป็นบุตรของพระเจ้าตาและนางบุศดี เกิดเมื่อปี พ.ศ.2252 ที่นครเวียงจันทร์ เป็นหลานปูเจ้าปางคำ ราชวงศ์เชียงรุ้ง เจ้าปางคำ ได้อพยพมาสร้างเมืองหนองบัวลุ่มภู (หนองบัวลำภู) หรือ นครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน เจ้าคำผงได้เสกสมรสกับเจ้านางตุ่ย ธิดาอุปราช (ธรรมเทโว) อนุชาของพระเจ้าองค์หลวง (ไชยกุมาร) เจ้านครจำปาศักดิ์ และได้รับแต่งตั้งเป็นพระประทุมสุรราช เมื่อปี พ.ศ. 2323 อันเป็นตำแหน่งนายกองใหญ่คุมเล็ก (ไพร่) อยู่ที่บ้านดู่ บ้านแก ขึ้นกับนครจำปาศักดิ์
ต่อมาในปี พ.ศ.2329 ได้ย้ายครอบครัวและไพร่พลจากบ้านดู่ บ้านแก มาตั้งบ้านเมืองใหม่ที่ตำบลห้วยแจระแม โดยพระบรมราชานุญาตในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และตั้งชื่อเมืองนี้ว่า เมืองอุบล
จากความชอบในการ ร่วมปราบกบฏอ้ายเซียงแก้ว ในปี พ.ศ.2335 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จึงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งพระประทุมสุรราช (เจ้าคำผง) เป็นพระประทุมวรราชสุริยวงษ์ และยกฐานะเมืองอุบล เป็น “เมืองอุบลราชธานี ศรีวนาลัย ประเทศราช โดยท่านเป็นทหารเอกในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ช่วยเหลือการสงครามระหว่างไทยกับหัวเมืองประเทศราช และปราบปรามความไม่สงบที่เกิดขึ้นในหัวเมืองต่างๆ หลายครั้ง พระประทุมวรราชสุริยวงษ์ ครองเมืองอุบลราชธานี ตั้งแต่ปี พ.ศ.2321 จนถึงปี พ.ศ.2338 รวม 17 ปี ถึงแก่พิราลัย เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2338 สิริอายุได้ 85 ปี
ต่อด้วยงานวันรำลึกแห่งความดีชาวอุบลราชธานี วันที่ 11 พฤศจิกายน 2566 เวลา 08.30 น. ณ อนุสาวรีย์แห่งความดี ทุ่งศรีเมืองอุบลราชธานี การบรรเลงเพลงโดยวงดุริยางค์ มณฑลทหารบกที่ 22 พิธีวางพวงมาลา การกล่าวรำลึกความดีของบรรพชนอุบลราชธานี ผู้แทนชาวต่างประเทศวางพวงมาลาและกล่าวขอบคุณชาวอุบลราชธานี
งานวันรำลึกแห่งความดีชาวอุบลราชธานี เพื่อเป็นการขอบคุณ และรําลึกถึงคุณงามความดีของชาวอุบลราชธานี ที่มีส่วนให้การช่วยเหลือทหารนานาชาติที่ถูกจับให้เป็นเฉลยศึกสงครามที่อุบลราชธานี เมื่อครั้งสงครามมหาเอเชียบูรพา ในปี 2484 (ค.ศ.1941) ภายหลังสงครามมหาเอเชียบูรพาสิ้นสุดลง เมื่อปี 2486 (ค.ศ.1945) ฝ่ายสัมพันธมิตร ซึ่งเป็นเชลยศึกเหล่านี้ได้ถูกปลดปล่อย และได้ระลึกถึงคุณความดีของชาวอุบลราชธานี ที่มีจิตเมตตากรุณา จึงได้พร้อมใจกันสร้างอนุสาวรีย์แห่งนี้ขึ้น เพื่อเป็นที่ระลึกว่า ครั้งหนึ่งในชีวิตของพวกเขา ได้เคยเป็นเชลยศึกอยู่ที่นี่ และได้รับความเมตตากรุณาจากชาวอุบลราชธานี จนทำให้มีกำลังใจที่จะต่อสู้เพื่อให้มีชีวิตรอดต่อไป และพร้อมใจกันให้นามอนุสาวรีย์แห่งนี้ว่า "อนุสาวรีย์แห่งความดี" และทุกวันที่ 11 เดือน 11 เวลา 11.00 น. ของทุกปี มีการจัดงานรำลึกถึงคุณความดี
จึงขอเชิญชวนชาวอุบลราชธานีได้ร่วมงานวันสำคัญของชาวอุบลราชธานี ในพิธีบวงสรวงและสดุดีวีรกรรมพระปทุมวรราชสุริยวงษ์ (เจ้าคำผง) วันที่ 9-10 พฤศจิกายน 2566 ณ วัดหลวง และอนุสาวรีย์พระปทุมวรราชสุริยวงษ์ (เจ้าคำผง) ทุ่งศรีเมืองอุบลราชธานี และงานวันรำลึกแห่งความดีชาวอุบลราชธานี 11 พฤศจิกายน 2566 ณ อนุสาวรีย์แห่งความดี ทุ่งศรีเมืองอุบลราชธานี