ความเป็นมาของพระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตธาตุ
พระบรมสารีริกธาตุ คือ พระบรมอัฐิของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ภายหลังจากการถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระนับเป็นปูชนียวัตถุแทนพระพุทธองค์ ที่พุทธศาสนิกชนนับถือบูชาแต่แรกปรินิพพานสืบมาจนถึงปัจจุบัน ในมหาปรินิพพานสูตรกล่าวถึงพระบรมสารีริกธาตุว่า หลังจากการถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระแล้ว โทณพราหมณ์ได้แบ่งพระบรมสารีริกธาตุออกเป็น 8 ส่วน เพื่อให้กษัตริย์และพราหมณ์อัญเชิญกลับไปยังดินแดนของตน ได้แก่
1. พระเจ้าอชาตศัตรู ทรงนำไปก่อพระสถูป บรรจุไว้ที่เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ
2. กษัตริย์ลิจฉวี ทรงนำไปก่อพระสถูป บรรจุไว้ที่เมืองเวสาลี แคว้นวัชชี
3. กษัตริย์ศากยะ ทรงนำไปก่อพระสถูป บรรจุไว้ที่เมืองกบิลพัสดุ์
4. กษัตริย์ถูลี ทรงนำไปก่อพระสถูป บรรจุไว้ที่เมืองอัลลกัปปะ
5. กษัตริย์โกลิยะ ทรงนำไปก่อพระสถูป บรรจุไว้ที่เมืองรามคาม
6. พราหมณ์เวฏฐที่ปกะ ทรงนำไปก่อพระสถูป บรรจุไว้ที่เมืองเวฏฐทีปกะ
7. กษัตริย์มัลละแห่งเมืองปาวา ทรงก่อพระสถูป บรรจุไว้ที่เมืองปาวา
8. กษัตริย์มัลละแห่งเมืองกุสินารา ทรงนำไปก่อบรรจุไว้ที่เมืองกุสินารา
นอกจากพระสถูปทั้ง 8 แห่งข้างต้นนี้ ยังมีพระสถูปที่สร้างขึ้นเกี่ยวเนื่องกับการแบ่งพระบรมสารีริกธาตุอีก 2 แห่ง คือ
1. กษัตริย์โมริยะ ทรงก่อพระสถูป บรรจุพุทธสรีรางคารไว้ที่เมืองปีปผลิวัน
2. โทณพราหมณ์ ก่อพระสถูปบรรจุทะนานทอง ซึ่งเป็นภาขนะที่ใช้ตวงพระบรมสารีริกธาตุไว้ที่เมืองกุสินารา
การค้นพบพระบรมสารีริกธาตุ
พระบรมสารีริกธาตุ ณ เมืองปีปราห์วา รัฐอุตตรประเทศ สาธารณรัฐอินเดียได้มีการขุดค้นทั้งสิ้น 3 ครั้ง
ครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 นายวิลเลียม แคลกซ์ตัน เปปเป (William Claxton Peppe) ชาวอังกฤษ เป็นผู้ขุดพบเมื่อพุทธศักราช 2441 ที่บริเวณเนินดินขนาดใหญ่ที่เรียกว่าเบิร์ดปูร์ (Birdpur) ที่ระดับความลึก 10 ฟุต และ 14 ฟุต พบชิ้นส่วนกระดูก ลูกปัด คริสตัล และรัตนชาติมากกว่า 1,000 ชิ้น
ครั้งที่ 3 นายเค.เอ็ม. ศรีวาสตวะ (K.M. Srivastava) นักโบราณคดีชาวอินเดีย เป็นผู้ยุดพบเมื่อพุทธศักราช 2514 ที่ระดับความลึก 19.7 ฟุต พบผอบหินสบู่ 2 ใบ ใบใหญ่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ 12 องค์ และใบเล็กบรรจุ 10 องค์ ตัวผอบมีลักษณะเดียวกันกับการขุดค้นโดย นายวิลเลียม แคลกซ์ตัน เปปเป
ปัจจุบันพระบรมสารีริกธาตุ 2 องค์ ประดิษฐานอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาตินิวเดลีและอีก 2 องค์ ประดิษฐานที่พิพิธภัณฑ์อินเดีย โกลกาตา
หลักฐานสำคัญที่ทำให้ทราบว่าเป็นพระบรมสารีริกธาตุ คือ ผอบที่พบมีข้อความจารึกด้วยอักษรพราหมี (Brahmi) ว่า "อิยัง สาลีละ นิธาเน พุทธัสสะ ภะคะวาเถ สาขียานัน สุขีถิ พาหะถะนัน สะภะคินีกะถัน สะสุนา เทละถะ" หมายถึง "ที่บรรจุพระสารีริกธาตุ ของพระพุทธเจ้านี้ เป็นของสากยราชสุกิติ กับพระภาตาพร้อมทั้งพระภคินี พระโอรส และพระชายาสร้างขึ้นอุทิศถวาย"
การค้นพบพระอรหันตธาตุของพระอัครสาวกทั้งสอง
ในพุทธศักราช 2394 (ค.ศ.1851) นักโบราณคดีชาวอังกฤษ คือ นายอเล็กซานเดอร์ คันนิงแฮม (Alexander Cunningham) และ กัปตัน เฟรดริก เมซี (Captain Fredrick Maisey) ได้ขุดสำรวจสถูปที่เมืองสาญจี ใกล้เมืองโภปาล (Bhopal) รัฐมัธยประเทศ สาธารณรัฐอินเดีย ที่ใจกลางของสถูป ได้พบหีบหินทราย 2 ใบ แต่ละใบมีผอบบรรจุชิ้นส่วนกระดูกมนุษย์
หีบศิลาของพระสารีบุตร
บรรจุผอบกลมรูปร่างแบน ทำด้วยหินขาว ขนาดกว้างกว่า 6 นิ้วและสูง 3 นิ้ว พื้นผิวมันเงาและแข็ง ที่สำคัญในผอบนั้นบรรจุอัฐิธาตุ ขนาดยาวน้อยกว่าหนึ่งนิ้ว พร้อมด้วยรัตนชาติหลายชนิด มีลูกปัดโกเมนและไข่มุก ฝาหีบศิลาที่พบทางทิศใต้ มีจารึกอักษรพราหมีว่า : "สาริปุตส" = (พระธาตุ) ของพระสารีบุตร
หีบศิลาของพระโมคคัลลานะ
บรรจุผอบหินขาวอีกใบคล้ายกับของพระสารีบุตร แต่ขนาดเล็กกว่าเล็กน้อย และมีพื้นผิวอ่อนกว่า ภายในมีอัฐิธาตุ 2 ชิ้น ชิ้นใหญ่มีขนาดเพียงครึ่งนิ้ว ฝาหีบศิลาที่พบทางทิศเหนือ มีจารึกอักษรพราหมีว่า : "มหา โมคลานส" = (พระธาตุ) ของพระมหาโมคคัลลานะยืนยันว่า เป็นพระธาตุของสองพระอัครสาวก
ข้อมูลเกี่ยวกับพระบรมสารีริกธาตุที่นำมาจัดแสดง
พระบรมสารีริกธาตุที่อัญเชิญมานี้ เป็นที่รู้จักในชื่อ "พระธาตุกบิลพัสดุ์" (Kapilvastu Relics) เนื่องจากมาจากสถานที่ในแคว้นมคธ ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นเมืองโบราณแห่งกบิลพัสดุ์
พระบรมสารีริกธาตุ ถือว่าเป็นโบราณวัตถุและสมบัติทางศิลปะ ในประเภท "AA" วัตถุโบราณที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์สูงสุด ซึ่งโดยปกติแล้วจะไม่นำออกนอกประเทศ
พระอรหันตธาตุของพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ อัญเชิญมาจากพุทธวิหารสาญจี รัฐมัธยประเทศ สาธารณรัฐอินเดีย
พระอรหันตธาตุฯ เคยประดิษฐานอยู่ในพิพิธภัณฑ์วิคตอเรีย แอลด์อัลเบิร์ต (V&A Museum) ในประเทศอังกฤษ หลังจากการค้นพบ และได้รับการส่งมอบคืนในที่สุด
ในปีพุทธศักราช 2567 เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ในรอบ 72 ปีที่มีการอัญเชิญพระอรหันตธาตุของพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะออกนอกสาธารณรัฐอินเดีย เพื่อประดิษฐานเป็นการชั่วคราว ณ ประเทศไทย