มเหศักดิ์หลักเมือง กับพิธีบวงสรวงศาลหลักเมืองอุบลราชธานี
ในงานบวงสรวงศาลหลักเมืองอุบลราชธานี มีพิธีอย่างหนึ่ง คือ การรำเบิกส่งกระทงเบิกบ้านเบิกเมือง ของมเหศักดิ์หลักเมืองชาวอุบล หลายคนสงสัยว่า กลุ่มบุคคลดังกล่าว หรือที่เรียกว่า มเหศักดิ์หลักเมือง มีความสำคัญอย่างไร และเกี่ยวของกับพิธีบวงสรวงศาลหลักเมืองอุบลราชธานีอย่างไร
ไกด์อุบลได้ยินคำว่า มเหศักดิ์หลักเมือง ครั้งแรกก็ในงานพิธีบวงสรวงศาลหลักเมืองอุบลราชธานีแห่งนี้ โดยต้องเล่าไปถึงตั้งแต่เริ่มก่อสร้างศาลหลักเมือง มีพิธีวางศิลาฤกษ์ศาลหลักเมืองเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2515 โดยเจ้าพระคุณสมเด็จมหาวีรวงศ์ ให้ฤกษ์และเป็นประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินมาทรงประกอบพิธีเปิดศาลหลักเมืองอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2519
เมื่อมีการก่อสร้างศาลหลักเมือง ก็จะต้องมีการประกอบพิธีอัญเชิญเทวดา เข้าสิ่งสถิตในหลักเมืองเป็นพิธีสำคัญ ต่อมาปี พ.ศ. 2531 เรือตรีดนัย เกตุศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบราชธานี ร่วมกับนายประจวบ ศรีธัญรัตน์ นายกเทศมาตรีเมืองอุบลราชธานี และนายบำเพ็ญ ณ อุบล อดีตอัยการขั้นฎีกาเขต 4 ขอนแก่น พร้อมกับหลักชัยไม้เท้าผู้เฒ่าผู้แก่ ชาวบ้านชาวเมืองอุบลฯ ทุกหมู่เหล่าได้พร้อมใจกัน จัดขบวนแห่อัญเชิญวิญญาณ “เสด็จเจ้าหอคำ” ญาติผู้ใหญ่ชั้นสูง หรือตาทวดของเจ้าคำผง เข้าสิงสถิตย์หลักเมืองอุบล เมื่อเดือนกรกฎาคม 2531 และกำหนดให้ทุกวันขึ้น 1 ค่ำเดือน 7 ของทุกปี จัดพิธีบวงสรวงศาลหลักเมือง เป็นประเพณีสืบต่อกันมา
การนับถือผี เป็นประเพณีของชาวอีสานแต่โบราณ ก่อนจะมีการนับถือพุทธศาสนา ชาวอีสานเชื่อว่าดวงวิญญาณของบรรพบุรุษ ยังคงคอยดูแลให้ความคุ้มครองแก่บุตรหลานอยู่ เพื่อให้บุตรหลานอยู่ร่มเย็นเป็นสุข ซึ่งสายสกุลที่สืบเชื้อสายมาจากพระประทุมวรราชสุริยวงศ์ (เจ้าคำผง) อาทิ ณ อุบล / สุวรรณกูฏ / สิงหัษฐิต / บุตโรบล ฯลฯ ปัจจุบันยังมีอยู่มากในจังหวัดอุบลฯ และได้ร่วมกิจกรรมต่างๆ ในอุบลฯ อย่างสม่ำเสมอ เช่น พิธีบวงสรวงสดุดีวีรกรรมเจ้าคำผง พิธีอัญเชิญเครื่องยศเจ้าเมืองโบราณในงานประเพณีแห่เทียนพรรษา และงานพิธีบวงสรวงศาลหลักเมืองอุบลราชธานี
ในพิธีบวงสรวงศาลหลักเมืองอุบลราชธานี ภายหลังจากประธานในพิธี (ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี โดยตำแหน่ง) ประกอบพิธีผูกผ้าเจ็ดสี คล้องพวงมาลัยแล้วเสร็จ ทายาทสายสกุลที่สืบจากพระประทุมวรราชสุริยวงษ์ (เจ้าคำผง) จะเริ่มทำพิธีรำเบิกกระทงเบิกบ้านเบิกเมือง ถวายมเหศักดิ์หลักเมือง จากนั้นจะออกมาหน้าศาลหลักเมือง รำบวงสรวงโดยนางเทียมเจ้านางสีดา แสดงการยิงศร (เทียบเคียงพิธีศพนกหัสดีลิงก์) เป็นอันเสร็จพิธี
ว่ากันว่า คันศรและหมวก ที่เป็นเครื่องแต่งตัวของนางเทียมเจ้านางสีดา เป็นของเก่าโบราณที่สายสกุลเจ้าคำผงสืบทอดส่งต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน หากไม่มีพิธีศพแบบนกหัสดีลิงก์ของพระเถระผู้ใหญ่แล้ว ก็จะต้องรอชมเฉพาะงานพิธีบวงสรวงศาลหลักเมืองอุบลราชธานี ซึ่งตรงกับวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 7 ของทุกปี เท่านั้น