นกหัสดีลิงค์ กับพิธีศพในจังหวัดอุบลราชธานี
เมืองอุบลราชธานี รับรูปแบบการจัดพิธีศพชั้นสูงมาจากล้านช้าง กล่าวคือ พระประทุมวรราชสุริยวงษ์ (เจ้าคำผง) เจ้าเมืองอุบลราชธานีคนแรก เป็นบุตรของเจ้าพระตาและนางบุศดี ท่านเป็นหลานปู่เจ้าปางคำ เจ้านายในราชวงศ์เชียงรุ้งแสนหวีฟ้า ผู้สร้างเมืองหนองบัวลุ่มภู หรือนครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน
พระประทุมวรราชสุริยวงษ์ ครองเมืองอุบลราชธานีตั้งแต่ตั้งเมือง เป็นเวลา 17 ปี จนถึง พ.ศ.2338 จึงถึงแก่พิลาลัย สิริอายุ 85 ปี มีการทำพิธีเผาศพด้วยเมรุนกหัสดีลิงค์ที่ทุ่งศรีเมือง
เกี่ยวกับนกหัสดีลิงค์นี้ มีตำนานเล่าว่า “…มีนครๆ หนึ่งชื่อ นครเชียงรุ้งตักศิลา พระเจ้าแผ่นดินถึงแก่สวรรคต พระมเหสีนำพระบรมศพแห่แหนไปถวายพระเพลิงนอกเมืองที่ทุ่งหลวงตามธรรมเนียมโบราณราชประเพณี ขณะนั้นมีนกหัสดีลิงค์ซึ่งกินเนื้อสัตว์เป็นอาหารบินมาจากป่าหิมพานต์ เห็นพระศพเข้าใจว่าเป็นอาหาร จึงบินโฉบลงมาแย่งเอาพระศพจะไปกิน เมื่อพระมเหสีเห็นเช่นนั้น ก็ประกาศให้คนดีมีฝีมือ ต่อสู้กับนกหัสดีลิงค์เพื่อเอาพระศพกลับคืนมา คนทั้งหลายต่างก็อาสาต่อสู้ แต่ก็สู้นกหัสดีลิงค์ไม่ได้
ในที่สุดมีหญิงสาวผู้หนึ่งชื่อ เจ้านางสีดา เป็นบุตรีของมหาราชครู อาสาต่อสู้กับนกหัสดีลิงค์ เจ้านางสีดามีวิชายิงศรเป็นเยี่ยม ได้ใช้ศรยิงถูกนกหัสดีลิงค์ตกลงมาถึงแก่ความตาย พระมเหสีจึงให้ประกอบพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพร้อมกับนกหัสดีลิงค์ กลายเป็นธรรมเนียมตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
เจ้านายในราชวงศ์แห่งนครเชียงรุ้งตักศิลา ได้ถือเอาประเพณีทำเมรุนกหัสดีลิงค์เพื่อประกอบพิธีถวายพระเพลิงแก่เจ้านายเชื้อพระวงศ์ที่ถึงแก่อสัญกรรม ประเพณีนี้จึงถือสืบทอดกันมาจนถึงเจ้านายเมืองอุบลราชธานีและเชื้อสายของเมืองตักศิลา
เกี่ยวกับประเพณีนี้ที่เมืองอุบลราชธานี หากเจ้านายผู้ใหญ่ที่เป็นเชื้อแถวแนวพันธุ์ในอัญญาทั้งปวงที่สืบมาแต่เจ้าครองเมือง เจ้าอุปฮาด เจ้าราชวงศ์ เจ้าราชบุตร นั้น หากถึงแก่กรรมลงไป ต้องเก็บศพไว้สามเดือน ในระยะสามเดือนที่ตั้งศพบำเพ็ญกุศลอยู่นั้น ก็จะมีการปรึกษากันระหว่างเจ้านายที่ยังมีชีวิตอยู่ และชาวคุ้มทั้งหลาย ในการจัดการปลงศพ โดยจะต้องตกลงกันสร้างเมรุรูปนกหัสดีลิงค์ มีหอแก้วประดิษฐานศพบนหลังนก แล้วเชิญศพขึ้นตั้งชักลากออกไปบำเพ็ญกุศลครบถ้วน 3 วัน จึงเผา ก่อนเผาต้องมีพิธีฆ่านก แล้วเผาทั้งศพทั้งนก โดยผู้ที่ฆ่านกหัสดีลิงค์จะต้องเป็นผู้สืบสกุลจากเจ้านางสีดา
ผู้ฆ่านกในสมัยโบราณ ซึ่งก็คือ ญาแม่นางสุกัณ ปราบภัย ผู้สืบเชื้อสายมาจากเมืองตักศิลา บุตรีเจ้านางสีดา เมื่อญาแม่สุกัณถึงแก่กรรมไปแล้วบุตรีของท่าน คือ คุณยายมณีจันทร์ ผ่องศิลป์ เป็นผู้รับช่วงในการทรงเจ้านางสีดาผู้ฆ่านกหัสดีลิงค์ ต่อมาเมื่อคุณยายมณีจันทร์ ผ่องศิลป์ ถึงแก่กรรมไปแล้ว บุตรีของท่าน คือ คุณยายสมวาสนา รัศมี รับช่วงในการทรงเจ้านางสีดาผู้ฆ่านกหัสดีลิงค์ ต่อมาเมื่อคุณยายสมวาสนา รัศมี ถึงแก่กรรมไปแล้ว คุณยายยุพิน ผ่องศิลป์ ซึ่งเป็นบุตรี ของคุณยายมณีจันทร์ ผ่องศิลป์ เป็นผู้รับช่วงใน การเข้าทรงเจ้านางสีดาผู้ฆ่านกหัสดีลิงค์ต่อไป ล่าสุด พ.ศ.2558 ผู้เป็นคนทรงเจ้านางสีดาลงมาฆ่านกหัสดีลิงค์ คือ น.ส.เมทินี หวานอารมย์ ซึ่งเป็นหลานของนางสมวาสนา รัศมี มีศักดิ์เป็นเหลนของนางมณีจันทร์ ผ่องศิลป์
ในการเชิญเจ้านางสีดาลงมาฆ่านกหัสดีลิงค์นั้น เมื่อกระบวนแห่ไปถึงบริเวณที่ตั้งเมรุนกหัสดีลิงค์แล้ว ก็จะแห่เจ้านางสีดานั้นไปรอบๆ นกหัสดีลิงค์ 3 รอบ และทำท่าล่อหลอกนก แต่ละรอบนกก็จะแสดงอาการหันซ้ายหันขวา งวงกวัดแกว่งไขว่คว้า ตากระพริบ หูกระพือ อ้าปากร้องเสียงดังประหนึ่งต่อสู้กัน ฝ่ายเจ้านางสีดา ก็ไม่รั้งรอ พอได้จังหวะก็แผลงศรไปที่นกหัสดีลิงค์ จากนั้นกระบวนก็จะแห่ไปอีกรอบหนึ่งแล้วก็ยิงนกหัสดีลิงค์อีกครั้ง แห่ไปอีกรอบหนึ่งก็จะกลับมายิงนกหัสดีลิงค์อีก เมื่อศรปักอกนก คนอยู่ข้างในร่างนกก็จะเทน้ำสีแดงที่เตรียมไว้ออกมาตามรูลูกศร ประหนึ่งนกหลั่งเลือด งวงตก ตาหลับ และหันหัวเข้าหาตัว ซึ่งแสดงว่านกหัสดีลิงค์ตายแล้ว บริวารของเจ้านางสีดาก็จะช่วยกันเอาหอกเอาดาบฟันนกหัสดีลิงค์ เมื่อเสร็จจากการฆ่านกหัสดีลิงค์แล้ว กระบวนเจ้านางสีดาก็กลับตำหนัก
ในวันพฤหัสบดีที่ 21 พฤษภาคม 2558 นี้ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ จะเสด็จมาเป็นองค์ประธานพิธีพระราชทานเพลิงศพ พระเทพกิตติมุนี อดีตเจ้าอาวาสวัดมหาวนาราม พระอารามหลวง ที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดอุบลราชธานี และประธานสภาวิทยาเขตอุบลราชธานี ณ เมรุชั่วคราวปราสาทนกหัสดีลิงค์ มณฑลพิธีทุ่งศรีเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ขอเชิญชาวอุบล เข้าเฝ้ารับเสด็จ และร่วมพิธีพระราชทานเพลิงศพโดยพร้อมเพรียงกัน
ญาแม่นางสุกัณ ปราบภัย
คุณยายมณีจันทร์ ผ่องศิลป์
คุณยายยุพิน ผ่องศิลป์
น.ส.เมทินี หวานอารมย์