guideubon

 

 

พระประทุมวรราชสุริยวงษ์ เรียกขานว่า เจ้าคำผง หรือ ท้าวคำผง

เจ้าคำผง-ท้าวคำผง-อุบล-01.jpg

แม้ว่าปัจจุบัน ชาวอุบลฯ โดยส่วนใหญ่จะเรียกขานนามพระประทุมวรราชสุริยวงษ์ ผู้ก่อตั้งเมืองอุบลราชธานีคนแรกว่า "เจ้าคำผง" แต่ก็ยังมีหลายท่านคงเรียนขานนามท่านว่า "ท้าวคำผง" แม้แต่เพลงที่เกี่ยวกับอุบลราชธานีบางเพลงก็มีคำร้องเอ่ยถึงนามท่านว่า "ท้าวคำผง" จึงมีผู้สงสัยว่า เราควรเรียกขานนาม พระประทุมวรราชสุริยวงษ์ ว่าเจ้าคำผง หรือ ท้าวคำผง

เจ้าคำผง-ท้าวคำผง-อุบล-02.jpg

ม.อุบลฯ ร่วมงานพิธีบวงสรวงและสดุดีพระปทุมวรราชสิริยวงศ์(ท้าวคำผง) เจ้าเมืองคนแรก เมืองอุบลฯ 

เกี่ยวกับเรื่องนี้ไกด์อุบล พบเอกสารที่มีการพูดถึงการเอ่ยนาม พระประทุมวรราชสุริยวงษ์ โดยเป็นจดหมายเปิดผนึกของ นายเรียมชัย โมราชาติ ข้าราชการบำนาญ อดีตเทศมนตรีเมืองอุบลราชธานี (สมัยนั้นยังเป็น เทศบาลเมืองอุบล) ส่งถึงผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ลงวันที่ 5 สิงหาคม 2541 เรื่อง สิ่งที่ควรรู้และควรเผยแพร่เกี่ยวกับ "เจ้าคำผง"

เจ้าคำผง-ท้าวคำผง-อุบล-03.jpg

เนื้อความในจดหมายของนายเรียมชัย โมราชาติ กล่าวว่า ในฐานะที่ตนได้ร่วมเป็นกรรมการค้นคว้า ตรวจสอบประวัติการสร้างเมืองอุบลราชธานี มาตั้งแต่เริ่มแรก จนได้รายงานผลการสรุปประวัติศาสตร์ผู้สร้างเมืองอุบลราชธานี ไปให้กรมศิลปากรตรวจสอบกับหลักฐานของหอสมุดแห่งชาติแล้ว กรมศิลปากรตอบยืนยันความถูกต้องมาจังหวัดว่า องค์บรรพบุรุษผู้สร้างเมืองอุบลราชธานีที่แท้จริงนั้นคือ "เจ้าคำผง" หรือพระประทุมวรราชสุริยวงษ์ ซึ่งเป็นเชื้อสายกษัตริย์โบราณ จากราชวงศ์เชียงรุ้งแสนหวีฟ้า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เป็นพระโอรสของพระเจ้าคำตา หรือ "พระเจ้าตา" กษัตริย์ผู้ครองเมืองนครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน (หนองบัวลุ่มภู) ก่อนที่จะถูกข้าศึกจากเวียงจันทน์นำทัพพม่าเข้าตีแตก เจ้าพระตาถูกข้าศึกจะปลงพระชนม์ในขณะตีเมืองแตก จึงยังเหลือเจ้าพระวรราชภักดิ์ดี หรือ "เจ้าพระวอ" องค์อนุชา อพยพญาติวงศ์ลูกหลาน มีเจ้าคำผงโอรสเจ้าพระตา เป็นต้น ลงมาจนถึงเขตนครจำปาสัก

เจ้าคำผง-ท้าวคำผง-อุบล-04.jpg

ในที่สุดเหลือแต่เจ้าคำผง ผู้นำทัพจากค่ายดอนมดแดง คืนมาสร้างเมืองอุบลขึ้นที่ดงอู่ผึ้ง ในรัชสมัยกรุงธนบุรีเป็นราชธานีไทย จนได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระประทุมวรราชสุริยวงษ์ ครองเมืองอุบลราชธานีศรีวะนาไลประเทษราช เมื่อวันจันทร์ แรม 13 ค่ำ เดือน 8 จุลศักราช 1154 (พ.ศ.2335) 

 เจ้าคำผง-ท้าวคำผง-อุบล-05.jpg

จากแผนผังเครือญาติ พระประทุมวรราชสุริยวงษ์ ซึ่งปรากฎอยู่ในหนังสือ เล่าเรื่องเมืองอุบลราชธานี โดย นายบำเพ็ญ  ณ อุบล ปราชญ์อีสาน ทายาทผู้สืบเชื้อสายตระกูล ณ อุบล ได้ระบุถึงลำดับทายาทว่า เจ้าคำผง เป็นบุตรของเจ้าพระตา ซึ่งเจ้าพระตาเป็นบุตรของเจ้าปางคำเชียงรุ้ง และเจ้าปางคำเชียงรุ้งก็สืบเชื้อสายโดยเป็นบุตรของ พระเจ้านครเชียงรุ้งแสนหวีฟ้า ดังนั้น เจ้าคำผง จึงมีศักดิ์เป็นเหลนของปู่ทวด พระเจ้านครเชียงรุ้งแสนหวีฟ้า นั่นเอง

เจ้าคำผง-ท้าวคำผง-อุบล-06.jpg

นายชำนาญ ภูมลี หัวหน้าหอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ อุบลราชธานี ให้ทัศนะเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ว่า ท้าวไทยกับท้าวลาว ศักดิ์ต่างกันเยอะ 

ท้าวไทย ศักดิ์สูงกว่า "นาย" มาก ส่วนมากใช้ท้าวกับผู้หญิง บางครั้งก็เรียก คุณท้าว ไทยเราให้เกียรติท้าวมาก ถ้าเทียบปัจจุบัน อาจจะเท่ากับคุณหญิง หรือท่านผู้หญิง เช่น ท้าวสุรนารี ท้าวเทพกษัตรี ท้าวศรีสุนทร ท้าวศรีสุดาจันทร์ ท้าวทองกีบม้า

แต่ท้าวลาว ศักดิ์เท่ากับนายของไทย ส่วนมากใช้เรียกผู้ชาย ศักดิ์ที่สูงกว่าท้าวของลาวมีมากมาย ที่ได้ยินบ่อยๆ คือ “ญา” เช่น ญาท่าน (อัญญาหรืออาชญา) ซึ่งใช้กับผู้ปกครองเมืองทั้งสี่ที่เรียกว่า “อัญญาสี่” มีเจ้าเมือง อุปฮาด ราชวงศ์ และราชบุตร

ในเมื่อเราจะยกย่องท่านเทิดทูนท่าน ในฐานะที่ท่านเป็นเจ้าเมืองท่านแรก เป็นผู้พาลูกหลานสร้างบ้านแปงเมืองอุบลฯ ให้เราได้อยู่ได้อาศัยทุกวันนี้ ก็สมควรจะให้เกียรติเรียกขานท่านว่า “เจ้า” เหตุผลที่สมควรเรียกเจ้าเมืองอุบลฯท่านแรกว่า “เจ้าคำผง” เพราะ

1. เพราะท่านเป็น ”เจ้าเมือง” ท่านไม่ได้เป็นท้าวเมืองหรือนายเมือง คือ ไม่ได้เป็นคนธรรมดาที่จะเรียกว่า ท้าว อีกทั้งไม่ได้เป็นอุปฮาดหรืออุปราช หรือราชวงศ์หรือราชบุตร

2. ท่านเป็นเจ้าเมืองประเทศราช เหมือนกับเจ้าเมืองประเทศราชอื่นๆในสมัยเดียวกัน เช่น เมืองหลวงพระบาง เมืองกัมพูชา เมืองเวียงจันทน์ เมืองจำปาศักดิ์ เมืองเชียงใหม่ ซึ่งเมืองต่างๆเหล่านี้ก็เป็นเจ้าทั้งนั้น สังเกตุได้จากนามสกุลพระราชทานเจ้าเมืองเหล่านี้จะนำหน้าด้วย ณ ทั้งนั้น

3. ท่านมีเชื้อเจ้า คือท่านเป็นหลานเจ้าปางคำ การเป็นเจ้าของลาวไม่เหมือนไทย เจ้าลาวเป็นแล้วเป็นเลย ถึงจะแต่งงานกับคนธรรมดาก็ยังเป็นเจ้า หรือลูกหลานในชั้นถัดๆมาก็เป็นเจ้าโดยอีตโนมัติ ไม่เหมือนเจ้าไทยที่ชั้นลูกหลานเหลนศักดิ์จะลดลงเรื่อยๆ เมื่อหมดจากหม่อมลวงแล้วก็เป็นนายเลย

4. ถึงเราจะเรียก “เจ้าคำผง” มันก็ไม่ได้เสียหายอะไร เพราะเราเคารพเทิดทูนท่าน

เจ้าคำผง-ท้าวคำผง-อุบล-07.jpg

จากข้อมูลดังกล่าวข้างต้น ไกด์อุบลเห็นว่า เราน่าจะเรียกนามของ พระประทุมวรราชสุริยวงษ์ ว่า เจ้าคำผง จึงจะเหมาะสมที่สุด

ทุกวันที่ 10 พฤศจิกายน ของทุกปี จังหวัดอุบลราชธานีจัดให้มีพิธีบวงสรวงและสดุดีวีรกรรม พระประทุมวรราชสุริยวงษ์ (เจ้าคำผง) ผู้ครองเมืองอุบลราชธานีคนแรก โดยจะมีขบวนอัญเชิญเครื่องยศเจ้าเมืองโบราณ จากวัดหลวงมายังบริเวณอนุสาวรีย์พระประทุมวรราชสุริยวงษ์ ทุ่งศรีเมือง จากนั้นเป็นพิธีวางขันหมากเบ็งและรำถวายมือ ขอเชิญชาวอุบลฯ ทุกท่านร่วมงานตั้งแต่เวลา 06.30 น. เป็นต้นไป

 

copyright 2005 www.GuideUbon.com สำนักงานไกด์อุบลดอทคอม เลขที่ 89/1 ถนนพโลรังฤทธิ์ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี 34000 ติดต่อไกด์อุบล : webmaster@guideubon.com | msn : guide_ubon@hotmail.com | Tel : 080-4850511