สถานทูตอินเดีย ชื่นชมอุบลฯ เคารพต่อวัฒนธรรมและแต่งกายร่วมขบวนในชุดอืนเดีย
วันที่ 10 มีนาคม 2567 สถานทูตอินเดียประจำประเทศไทย เผยแพร่ข้อความผ่านเพจ India in Thailand (Embassy of India, Bangkok) ชื่นชมจังหวัดอุบลราชธานี และ ม.อุบลฯ ในขบวนอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ เคารพต่อวัฒนธรรมอินเดีย แต่งกายร่วมขบวนในชุดอืนเดีย
ข้อความข้างต้น มีใจความสำคัญ ดังนี้.... " พระบรมสารีริกธาตุ และพระอรหันตธาตุของอัครสาวก พระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ ถึงจังหวัดอุบลราชธานี ในภาคอีสาน (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) ของไทยแล้ว
พระบรมสารีริกธาตุ และพระอรหันตธาตุฯ ประดิษฐาน ณ วัดมหาวนารามแล้วหลังพิธีอันศักดิ์สิทธิ์เช้านี้ โดยก่อนหน้าที่จะมีการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ และพระอรหันตธาตุฯ มาถึงนั้น มีการเฉลิมฉลองด้วยริ้วขบวนอัญเชิญฯ ที่มีชีวิตชีวาและเต็มไปด้วยสีสันสะท้อนถึงความสุขและความศรัทธาในหมู่ผู้แสวงบุญ
อุบลราชธานี ซึ่งหมายถึงเมืองแห่งดอกบัว ถูกตกแต่งประดับประดาด้วยดอกบัวที่สวยงามในโอกาสนี้ด้วย ขณะที่ริ้วขบวนอัญเชิญฯสะท้อนให้เห็นแก่นแท้ของประเพณีวัฒนธรรมไทยเพื่อเป็นการแสดงความเคารพต่ออินเดีย กลุ่มนักศึกษานับร้อยคน คนในชุมชน ที่เข้าร่วมในริ้วขบวนอัญเชิญฯนี้ยังแต่งกายด้วยชุดอินเดียแบบดั้งเดิม มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี นำโดย อธิการบดี ผศ.ดร.ชุตินันท์ ประสิทธิ์ปุริปรีชา พร้อมด้วยชุมชนวัฒนธรรมร่วมริ้วขบวนอัญเชิญฯ ในชุดอินเดียอีกด้วย
ผู้แสวงบุญ ณ วัดมหาวนาราม ยังได้สัมผัสประสบการณ์อันน่าดื่มด่ำของมหาสถูปสาญจีในรัฐมัธยประเทศ อินเดีย ผ่านการแสดงแบบเสมือนจริง อาจกล่าวได้ว่า พระอรหันตธาตุของพระสารีบุตร และพระมหาโมคคัลลานะ ประดิษฐาน ณ มหาสถูปสาญจี
สำหรับพิธีอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ และพระอรหันตธาตุฯ ประดิษฐาน ณ จังหวัดอุบลราชธานี นี้ เปิดให้สักการะได้ จนถึงวันที่ 13 มีนาคม 2567 หลังจากนั้น พระบรมสารีริกธาตุ และพระอรหันตธาตุฯ จะถูกอัญเชิญไปยังจังหวัดกระบี่ทางตอนใต้ "
พิธีอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตธาตุของพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ ได้แสดงถึงความสัมพันธ์อันดี และมิตรไมตรี ของทั้ง 2 ประเทศ ทั้งในส่วนของประชาชนชาวไทย และชาวอินเดีย รวมถึงพระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้าทั้งสองประเทศ อีกทั้ง ประเทศเพื่อนว่าในภูมิภาคอาเซียน สปป.ลาว กัมพูชา ได้มีโอกาสเข้ามาร่วมสักการะฯ ซึ่งการมาปรากฎของพระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตธาตุแห่งอัครสาวก พระโมคคัลลานะ และ พระสารีบุตร นั้น ณ ผืนแผ่นดินจังหวัดอุบลราชธานี ถือเป็นวาสนาบารมีของคนอุบลฯ และพี่น้องจังหวัดใกล้เคียง นับเป็นโอกาสอันหาได้ยากในชีวิตสำหรับพุทธศาสนิกชน
สำหรับขบวนเสน่ห์ประจำชาติอินเดีย สะท้อนความงดงามและความหลากหลายทางวัฒนธรรมของอินเดียเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา จากมหานทีคงคาสู่ลุ่มน้ำโขง อำนวยการขบวนโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชุตินันท์ ประสิทธิ์ภูริปรีชา อธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ในขบวนดังกล่าวเป็นขบวนการแต่งกายด้วยสาหรี่และชุดประจำชาติอินเดียหลากสีสัน ที่สะท้อนอัตลักษณ์ความร่ำรวยทางวัฒนธรรมจากดินแดนถิ่นกำเนิดของพระพุทธศาสนาและพระบรมศาสดา สื่อถึงพลังศรัทธาในการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตธาตุจากมหานทีคงคา สู่ลุ่มน้ำโขง
ภายในริ้วขบวน 80 ท่าน ประกอบไปด้วย ผู้บริหารและบุคลากรมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี นำโดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เกรียงศักดิ์ แก้วกุลชัย รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร และเครือข่ายวัฒนธรรมอินเดียจังหวัดอุบลราชธานี ประสานงานโดย ศูนย์ศึกษาอินเดียแห่งมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กองกลาง สำนักงานอธิการบดี คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และภาคีวัฒนธรรมได้แก่ สมาคมช่างตัดเสื้ออุบลราชธานี และคุ้มจันทร์หอม
อนึ่ง สาธารณรัฐอินเดียนอกจากจะเป็นประเทศที่มีศิลปวัฒนธรรม และอารยธรรมที่ยิ่งใหญ่ยาวนานแล้ว ปัจจุบันยังเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลกกว่า 1,400 ล้านคน มีขนาดเศรษฐกิจที่คาดว่าจะใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก ภายในปี 2573 มีความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และถือเป็นประเทศเพื่อนบ้านทางทะเลของไทยที่มีพรมแดนติดต่อกันในทะเลอันดามันอีกด้วย
มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มีความร่วมมืออันดีกับสถานเอกอัครราชทูตอินเดียประจำประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง และมีศูนย์ศึกษาอินเดียแห่งมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ซึ่งเป็นศูนย์การศึกษาด้านอินเดียร่วมสมัยแห่งเดียวในภาคตะวันออกเฉียงเหนืออีกด้วย