อุบลฯ จัดงานวันรำลึกแห่งความดีของชาวอุบลราชธานี ประจำปี 2566
วันที่ 11 พฤศจิกายน 2566 ที่บริเวณอนุสาวรีย์แห่งความดี อุบลราชธานี ทุ่งศรีเมืองอุบลราชธานี นายนคร ศิริปัญญานันท์ ปลัดจังหวัดอุบลราชธานี เป็นประธานในพิธีวางพวงมาลารำลึกความดีของบรรพชนอุบลราชธานี ในงานวันรำลึกแห่งความดี ชาวอุบลราชธานี โดยมีส่วนราชการ ภาคเอกชน และลูกหลานเชลยศึกสัมพันธมิตรชาวต่างประเทศเข้าร่วมพิธี ทั้งนี้ ผู้แทนลูกหลานเชลยศึกสัมพันธมิตรฯ กล่าวขอบคุณชาวอุบลราชธานี พร้อมมอบช่อดอกไม้ให้ Lady of Ubon และร้องเพลงสามัคคีชุมนุม และ Auld Lang Syne ร่วมกัน
นายนคร ศิริปัญญานันท์ ปลัดจังหวัดอุบลราชธานี ประธานในพิธีกล่าวรำลึกถึงความดีของบรรพชนชาวอุบลราชธานีภายหลังวางพวงมาลาว่า อนุสรณ์สถานรูปทรงแท่งสี่เหลี่ยมพร้อมคำจารึก เบื้องหน้าทุกท่าน คืออนุสรณ์สถานที่ถูกสร้างขึ้นแทนของเดิม ที่เชลยศึกฝ่ายสัมพันธมิตรได้สร้างหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ว่าอยู่รอดเพราะความเมตตา และความกล้าหาญชาวอุบล ที่เสี่ยงชีวิต ให้อาหารและน้ำ ระหว่างตกเป็นเชลยศึก
เชลยศึกเหล่านี้ ถูกนำมาจากค่ายเชลยศึก อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรีมายังจังหวัดอุบลราชธานีเพื่อสร้างสนามบินชั่วคราวของกองทัพญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่สอง หรือในภาคพื้นเอเชียเรียกว่า "สงครามมหาเอเชียบูรพา" ปัจจุบันเป็นสนามบินร้างที่บ้านหนองไผ่ อำเภอเมืองอุบลราชธานี
เมื่อสงครามสงบเชลยศึกได้ร่วมใจกันสร้างอนุสรณ์สถาน ถึงความมีเมตตาและความกล้าหาญของชาวอุบลราชธานี และจารึกไว้ว่า Ex PoW(เอกซ์ เพาว) มาจาก Ex Prisoner of War หมายถึงสร้างโดยอดีตนักโทษสงคราม คือ เชลยศึก เรียกอนุสรณ์สถานนี้ว่า "อนุสาวรีย์แห่งความดี Monument of Merit " เรียกขานสตรีชาวบ้านอุบลว่า Little Mother หรือ "คุณแม่ตัวเล็กๆ ผู้เมตตาและกล้าหาญ
เรื่องราวประวัติศาสตร์นี้ผ่านความทรงจำยาวนาน พ.ศ.2514 (ค.ศ. 1971) หน่วยทหารอากาศออสเตรเลียเฉพาะกิจที่ฐานทัพอากาศอุบลราชธานี เคยจัดกองเกียรติยศมาทำความเคารพ ณ อนุสรณ์สถานแห่งนี้ และเป็นสถานที่ชาวต่างประเทศเมื่อมาจังหวัดอุบลราชธานี มักจะมาแวะเยี่ยมชมอยู่เสมอ
จนเมื่อ พ.ศ.2551 (ค.ศ.2008) จังหวัดอุบลราชธานีจัดเป็นรูปแบบพิธีการขึ้นเป็นครั้งแรก โดยใช้แบบพิธีการสดุดีวีรชน ในสงคราม และกำหนดประกอบพิธีในวันที่ 11 เดือนพฤศิกายน หรือเดือน 11 เวลา 11.00 น. เชิญชาวไทยและชาวต่างประเทศ นักเรียน นักศึกษา อาสาสมัครและทหารผ่านศึกในสมรภูมิต่างๆ มาทำพิธีอันมีคุณค่านี้ร่วมกัน
จากนั้น พิธีรำลึกนี้ก็ได้มีเรื่อยมาจนปัจจุบัน ภายหลังจึงพบว่า รูปแบบ พิธีการ วันเวลา คล้ายกับในหลายประเทศ และตรงกับวันที่เรียกว่า "วันที่ระลึกแห่งสงคราม Remembrance Day" เป็นพิธีสากลเพื่อรำลึกถึงสงคราม
พิธีการนี้ นำมาสู่ความสนใจเพิ่มขึ้น ทั้งด้านวิชาการและกิจกรรม มีเอกสารและหลักฐานทั้งในและต่างประเทศ ตลอดทั้งมีตัวบุคคล สถานที่ สิ่งก่อสร้าง มีขบวนการเสรีไทย เราพบว่า อุบลราชธานีมีความสำคัญและมีความเกี่ยวข้องกับสงครามโลกครั้งที่ 2 เช่นเดียวกับอีกหลายจังหวัด
ที่สำคัญ มีหลักฐานน่าเชื่อว่าจังหวัดอุบลราชธานี อาจจะเป็นที่สิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่2 เราพบว่า อุบลราชธานี กองกำลังของกองทัพญี่ปุ่นชุดสุดท้ายยอมวางอาวุธและพร้อมปลดปล่อยเชลยศึก เราต้องดูแลทั้งเชลยศึกที่ได้รับการปลดปล่อยกว่า 3,000 คน พร้อมกับดูแลทหารที่ยอมวางอาวุธกว่า 10,000 คนให้กลับคืนสู่มาตุภูมิอย่างปลอดภัย
ณ โอกาสนี้ ผมขอเชิญทุกท่าน รำลึกถึงวีรชนทั้งฝ่ายทหารและฝ่ายพลเรือน บุคคลในความทรงจำนี้คือผู้กล้า ท่านผู้เสียสละ เป็นแบบอย่างที่ดีให้อนุชนรุ่นหลัง ขอดวงวิญญาณที่หาญกล้าและเสียสละไปสู่สุขคติภพชั่วกาลนาน