ยายไหล ศิริโสตร์ วีรสตรีแห่งคุณงามความดีที่ชาวต่างชาติยกย่อง
“เราคือข้าของแผ่นดิน จำไว้นะลูก เราต้องมีเมตตา ช่วยเหลือผู้ที่ตกทุกข์ได้ยากโดยไม่ต้องหวังสิ่งใดๆ ตอบแทน” นี่คือคำสอนสั่งของยายไหล ศิริโสตร์ จากคำบอกเล่าของนางรังษี ศิริโสตร์ ซึ่งเป็นลูกคนที่ 9 ของยายไหล ศิริโสตร์ เล่าให้ฟัง
เมื่อประมาณปี 2484-2488 เกิดสงครามมหาเอเชียบูรพาขึ้น ญี่ปุ่นได้ส่งทหารเข้าสู่ประเทศไทย และได้จับทหารของฝ่ายสัมพันธมิตรประกอบด้วย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อังกฤษ ฝรั่งเศส ฯลฯ ไว้เป็นจำนวนมาก จังหวัดอุบลราชธานีเป็นอีกจังหวัดหนึ่งที่ญี่ปุ่นได้ใช้เป็นที่กักกันเชลยศึก ทหารเหล่านี้มีความอดอยากและทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัส ถูกทรมานและถูกบังคับทำงานโดยไม่ให้หยุดพัก บางคนอดอยากและขาดแคลนข้าวปลาอาหารและเครื่องนุ่งห่มเป็นอย่างมาก
นางรังษี ศิริโสตร์ ลูกคนที่ 9 ของยายไหล
ในเหตุการณ์นี้ ได้เกิดวีรสตรีแห่งคุณงามความดี วีรสตรีแห่งธรรมะ ซึ่งถือว่าเป็นวีรสตรีที่แปลกที่สุดก็ว่าได้ เพราะเป็นวีรสตรีทีไม่ต้องไปฆ่าใคร แต่เป็นบุคคลที่ให้ชีวิตใหม่กับอีกหลายคนที่ตกทุกข์ได้ยาก จึงได้รับขนานนามให้เป็น "แม่ผู้ชุบชีวิตใหม่" ยายไหล ศิริโสตร์ วีรสตรีของชาวอุบลราชธานี
ยายไหล ศิริโสตร์ คือ เป็นผู้กล้าหาญที่ไม่กลัวภัยอันตราย ที่อาจจะเกิดขึ้นกับตนเองและครอบครัวเลยและแม่ (ยายไหล) ก็บอกกับพวกเราเสมอว่า “เราคือข้าของแผ่นดิน จำไว้นะลูก เราต้องมีเมตตา ช่วยเหลือผู้ที่ตกทุกข์ได้ยาก โดยไม่ต้องหวังสิ่งใดๆ ตอบแทน”
จากเหตุการณ์เหล่านั้น ทำให้ผู้เรียบเรียงเริ่มคิดตามอย่างน่าอัศจรรย์ เพราะบรรดาเหล่าทหารฝั่งตรงข้ามกับกลุ่มสัมพันธมิตร ก็คีอญี่ปุ่น มีความโหดเหี้ยมมาก ใครขโมยน้ำมันหากโดนจับได้จะถูกจับกรอกน้ำมัน ขโมยตะปูก็เอาตะปูตีขา ถ้าจับได้ว่าคิดหนี หรือมีใครให้ความช่วยเหลือก็จะฆ่าให้ตายตามกันไป
มีอยู่ครั้งหนึ่ง คืนนั้นฟ้าร้อง ฝนตกหนักมาก แม่ (ยายไหล) ได้พายเรือนำเชลยศึกจำนวน 3 คน หลบหนีโดยให้เชลยศึกแอบอยู่ข้างเรีอในน้ำ เกาะลอยไปเรื่อยๆ แม่เสี่ยงชีวิตหลายครั้ง บางทีเห็นพวกเชลยศึกเป็นไข้ป่า ฉันกับแม่ก็แอบเอายาไปให้
นอกจากนั้น ยังมีคำบอกเล่าถึงเรื่องราวชีวิตที่เสี่ยงตาย เพราะเคยช่วยเชลยศึกอย่างมากมาย อาทิ การช่วยเหลือของยายไหลที่มีความเฉลียวฉลาดเป็นอย่างมาก ทั้งๆ ที่ไม่สามารถสื่อสารด้วยคำพูดที่เป็นภาษาเดียวกันได้ แต่ได้ใช้ภาษาท่าทางให้สัญญาณยักคิ้วบ้างหรืออื่นๆ ตามสถานการณ์ ยายไหลไม่ให้กล้วยทั้งหวี แต่จะแบ่งให้ทีละลูก ให้บุหรี่ก็ให้ทีละมวน และขนม กับข้าวเสื้อผ้าต่างๆ ก็ต้องแอบให้อยู่เรื่อยๆ เรื่องราวความทุกข์ความเจ็บปวดต่างของทหารฝ่ายพันธมิตรนั้น เป็นที่น่าเวทนาต่อยายไหล ศิริโสตร์ และพี่น้องประชาชนชาวอุบลราชธานีเป็นอย่างยิ่ง
ความดีที่ไม่ได้ทำกันง่ายๆ ความดีที่เกิดจากการปลูกฝังมากับบรรพบุรุษ มันเป็นการถ่ายทอดทางพันธุกรรม และนี่คือความดีทีไม่มีวันลืม ของทหารชาวพันธมิตร และแม้แต่ญี่ปุ่น ไม่ว่าฝ่ายพันธมิตรหรือแม้แต่ญี่ปุ่นจะแพ้หรือจะชนะ ชาวอุบลราชธานีให้ความช่วยเหลือโดยไม่เลือกข้างเลย เป็นน้ำใจที่ประเสริฐที่สุด เป็นแม่พระที่ให้ชีวิตใหม่แก่พวกเขาจริงๆ การประกอบคุณงามความดี ซึ่งถือเป็นคุณธรรมอันสูงสุดที่บ้านอื่นไม่มี
มาวันนี้...คงได้เริ่ม จุดประกายให้ทั่วโลกได้รับรู้กันแล้วว่า... เมืองอุบลราชธานีเป็นเมืองแห่งคุณงามความดี ฝ่ายสัมพันธมิตรให้ความเคารพนับถือและยกย่อง ยายไหล ศิริโสตร์ เปรียบดังแม่คนที่ 2 ของเหล่าทหารเชลยศึก เพราะเป็นผู้ให้ข้าวให้น้ำ ให้ชีวิตใหม่แก่ผู้ยากไร้เหล่านั้นฝ่ายสัมพันธมิตร ชึ่งเป็นเชลยศึก จึงได้ระลึกถึงคุณงามความดีของชาวอุบลราชธานี ที่มีจิตเมตตากรุณา ได้พร้อมใจกันสร้างอนุสาวรีย์แห่งนี้ขึ้น เพื่อเป็นการระลึกว่า ครั้งหนึ่งในชีวิตของพวกเขา ไดัเป็นเชลยศึกอยู่ที่นี่ และได้รับความเมตตากรุณาจากชาวอุบลราชธานี จนทำให้มีกำลังใจทีจะต่อสู้เพื่อให้มีชีวิตรอดต่อไป และพร้อมใจกันให้นามอนุสาวรีย์แห่งนี้ว่า “อนุสาวรีย์แห่งความดี”
เรื่องโดย อาจารย์ธัญญธร ดวงศรี
และขอขอบคุณผู้ให้ข้อมูลทุกท่าน
ทุกวันที่ 11 เดือน 11 เวลา 11.00 น. ชาวต่างชาติจะมารวมตัวกันที่อนุสาวรีย์แห่งความดี บริเวณทุ่งศรีเมือง อุบลราชธานี เพื่อเป็นการรำลึกถึงคุณงามความดีที่ชาวอุบลมีต่อบรรพบุรุษของเขา และจังหวัดอุบลราชธานี ก็ได้กำหนดเป็นกิจกรรมสำคัญ เรียกว่า "วันรำลึกแห่งความดีชาวอุบลราชธานี" โดยจัดกิจกรรมขึ้นเป็นประจำทุกปี มีหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน มาร่วมวางพวงมาลาร่วมกับชาวต่างชาติด้วย