ความเป็นมาของ เจดีย์พระโพธิญาณ วัดหนองป่าพง
ไกด์อุบลมีโอกาสไปวัดหนองป่าพงปีละหลายๆ ครั้งครับ วันเกิดตัวเอง วันเกิดของสมาชิกในครอบครัว ก็จะหาซื้อข้าวของเครื่องใช้ เช่น น้ำดื่ม น้ำหวาน นมกล่อง ผงซักฟอก น้ำยาล้างห้องน้ำ กระดาษชำระ ไม้กวาด ฯลฯ จัดเป็นสังฆทานเอง ไปถวายพระที่ศูนย์มรดกธรรม ภายในวัดหนองป่าพง นอกจากนี้ ทั้งก่อนวันงานและวันงานรำลึกหลวงปู่ชา ช่วงเดือนมกราคมของทุกปี ก็จะได้แวะเวียนไปออกโรงทาน บันทึกภาพ ตามสมควร ทุกครั้งที่ไป ก็จะแวะไปสักการะอัฐิหลวงปู่ชา ที่เจดีย์พระโพธิญาณ และเชื่อว่า พุทธศาสนิกชนที่เคยไปสักการะ หลายๆ ท่านจะยังไม่ทราบข้อมูลที่แน่ชัดว่า จัดสร้างมาอย่างไร มีความเป็นมาอย่างไร
นับแต่หลวงปู่ชาเริ่มอาพาธหนัก ศิษย์ที่ดูแลอย่างใกล้ชิดก็ได้เตรียมพร้อมรอรับเหตุการณ์ที่จะมาถึงอย่างไม่ประมาท ราวปี พ.ศ.2530 คณะสงฆ์ตกลงเลือกสถานที่เตรียมสร้างเมรุสำหรับงานพระราชทานเพลิงศพ โดยการตัดถนนรอบบริเวณนั้นให้เป็นสัดส่วน จัดถมดินเป็นเนินสูง ปลูกและรักษาต้นไม้ โดยตั้งชื่อสถานที่นั้นว่า "อุทยานกรรมฐาน" เพื่อเบี่ยงเบนความเข้าใจผิดของคนบาลกลุ่มที่ไม่สนับสนุนให้มีการเตรียมงานดังกล่าว
หลวงปู่ชา ละขันธ์เมื่อเช้าวันที่ 16 มกราคม 2535 ก็มีการพูดถึงเรื่องอนุสรณ์สถาน ประมาณต้นฤดูฝนในปีนั้นเอง คณะพระเถระได้เห็นชอบร่วมกันว่า จะสร้างเมรุเจดีย์ถาวร เพื่อลดความสิ้นเปลืองทั้งวัสดุและแรงงาน ได้คุณนิธิ สถาปิตานนท์ เป็นสถาปนิกผู้ออกแบบ และศาสตราจารย์อรุณ ชัยเสรี เป็นวิศวกรผู้ดูแลเรื่องวิศวกรรมโครงสร้าง กรรมวิธีและเทคโนโลยีในการก่อสร้าง โดยออกแบบให้มีเนื้อที่ใช้สอยในด้านพิธีการเต็มที่ ซึ่งเมื่องานด้านนี้ผ่านพ้นไปแล้ว เจดีย์จะกลายเป็นที่เก็บอัฐิและเป็นอนุสรณ์สถานต่อไป
งานสร้างเจดีย์พระโพธิญาณ ใช้เวลาสร้าง 6 เดือนพอดี (4 ก.ค.35 - 5 ม.ค.36) เป็นการสร้างเจดีย์ที่ดำเนินไปอย่างเงียบเชียบ ปราศจากการประชาสัมพันธ์ แม้แต่คนส่วนใหญ่ในอุบลราชธานี ก็ตกตะลึง งงงัน เมื่อข่าวความสำเร็จนี้แพร่สะพัดออกไป ผู้คนต่างพากันมาชื่นชมเจดีย์ด้วยความตื่นตาตื่นใจ บ้างกล่าวว่า "ราวกับปาฏิหารย์"
เจดีย์พระโพธิญาณ สร้างบนเนินดินสูงกลมกว้าง กั้นขอบแข็งแกร่งด้วยศิลาแลง เป็นฐานรองรับองค์เจดีย์รูปทรงระฆังคว่ำ ส่วนบนที่สูงสล้างขึ้นสู่อากาศในรูปลักษณ์คล้ายคลึงพระธาตุพนม อันสะท้อนถึงจินตนาการที่ผสมผสานศิลปวํมนธรรมในอดีตกับปัจจุบันเป็นหนึ่งเดียว โดยไม่ลืมที่จะแทรกเอกลักษณ์ของพุทธศาสนาซ้อนลงไปด้วย ดังนั้น ไม่ว่าจะมองจากมุมใด ก็จะพบภาพองค์เจดีย์ที่ดูนิ่ง สงบ สะอาด บริสุทธิ์ เต็มไปด้วยความเรียบง่าย และกลมกลืนกับแมกไม้เขียวขจีในบริเวณนั้น คล้ายเป็นสิ่งเตือนใจให้รำลึกถึงคุณธรรมของหลวงพ่อได้ตลอดเวลา
นับแต่พระโพธิญาณเถร (ชา สุภทฺโท) ละขันธ์ เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2535 สานุศิษย์ทั้งพระเณร และอุบาสกอุบาสิกา ได้ร่วมกันปฏิบัติธรรมเป็นอาจาริยบูชา ด้วยการบำเพ็ญทาน ศีล ภาวนา และถือธุดงควัตรตามแนวป่าในวัดหนองป่าพง ทุกคนต่างนั่งสมาธิ เดินจงกรมตามร่มไม้ ปฏิบัติธรรมด้วยความสงบ พร้อมร่วมกันฟังธรรมจากพระเถระ เพื่อเป็นการรำลึกถึงหลวงปู่ชา และย้ำเตือนถึงการรักษาข้อวัตรปฏิบัติที่เคยประพฤติร่วมกันมาเป็นประจำทุกปี จวนจนกระทั่งปัจจุบัน
สำหรับการปฏิบัติธรรมเป็นอาจาริยบูชารำลึก พระโพธิญาณเถร (ชา สุภทฺโท) กำหนดขึ้นระหว่างวันที่ 12-17 มกราคม ของทุกปี
เรียบเรียงโดย ไกด์อุบล