ไขปริศนา กระจกสีฟ้า สิมวัดแจ้ง
วัดแจ้ง อ.เมือง อุบลราชธานี สร้าง พ.ศ.2418 โดยเจ้าราชบุตร (หนูคำ บุตโรบล) หนึ่งในคณะอาญาสี ผู้ปกครองเมืองอุบลราชธานี ตรงกับสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ก่อนการปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน ภายในวัดมีโบราณสถานสำคัญ คือ สิม
สิมวัดแจ้ง สร้าง พ.ศ.2455 โดยญาคูเพ็ง เจ้าอาวาสลำดับที่ 6 ลักษณะสถาปัตยกรรมสิมวัดแจ้ง เป็นทรงพื้นถิ่นอีสาน ก่ออิฐถือปูนตั้งบนฐานเอวขัน ในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ขนาด 3 ห้อง ด้านหน้าเป็นมุขโถง โครงสร้างอาคารใช้เสาและผนังรับน้ำหนักโครงสร้างหลังคาจั่ว
เอกลักษณ์ของวัดแจ้ง คือ ตัวแทนสิมพื้นถิ่นอีสาน ที่เน้นความเรียบง่ายและประโยชน์การใช้สอย เช่นเดียวกับสิมวัดบูรพาราม วัดบ้านตำแย และวัดบ้านนาควาย จังหวัดอุบลราชธานี ทั้งโดดเด่นด้วยงานสลักไม้ประดับสิม ที่แสดงฝีมือช่างพื้นถิ่นอีสานในพุทธศตวรรษที่ 25
กรมศิลปากร ประกาศขึ้นทะเบียน และกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานวัดแจ้ง ในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 21 ตุลาคม 2523 เนื้อที่ ประมาณ 1 ไร่ 1 งาน 49 ตารางวา สิมวัดแจ้งได้รับการบูรณะมาแล้วถึง 4 ครั้ง คือ ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2495, 2513, 2527 และ 2546 ตามลำดับ
โดยล่าสุดเป็นครั้งที่ 5 พ.ศ.2561 ซึ่งทำให้เกิดคำถามขึ้นกับคนที่พบเห็นมากมายว่า ทำไมสิมวัดแจ้ง ถึงได้ประดับกระจกสี ของเดิมมีหรือไม่ หรือตกแต่งเพิ่มเติมเอง
เรื่องกระจกสีสิมวัดแจ้งนี่เอง ทำให้เฟซบุ้คของ แสนบุญ ติ๊ก อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณคดี กล่าวถึง เบื้องหลังแสงสีฟ้าที่สีหน้า...สิม วัดแจ้ง เมืองอุบลราชธานี สายสัมพันธ์การเมืองที่ใกล้ชิดระหว่างสยามและล้านช้างเวียงจันทน์ไทอุบล อย่างน่าสนใจ ดังนี้
วัดแห่งนี้มี ศาสนาคารสิม หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า โบสถ์ ที่มีความโดดเด่นน่าสนใจ ข้อมูลอ้างอิงบันทึกการสร้างของวัด กล่าวว่า สิมหลังนี้สร้างขึ้นเมื่อ ปี พ.ศ.2455 ซึ่งผู้เขียนมีความเห็นต่าง โดยสันนิษฐานว่า เดิมน่าจะมีสิมเก่ามาก่อนแล้ว เพราะอย่างน้อย จากช่วงปีที่ตั้งวัด พ.ศ.2418 จนถึงราวปี พ.ศ.2436 หลังจากได้สร้างวัดมากว่า 18 ปี และวัดได้รับวิสุงคามสีมาเมื่อปี พ.ศ.2436 จึงน่าจะมีการสร้างสิมมาก่อน ด้วยเหตุผลเพราะ เป็นวัดที่สร้างโดยกลุ่มชนชั้นปกครองระดับเจ้าราชบุตร
โดยอาจเป็นซ่อมแปลงใหม่ในอีก 19 ปีต่อมาใน พ.ศ.2455 ซึ่งนำสร้างโดย ญาท่านเพ็ง (ซึ่งเป็นอดีตเจ้าอาวาสรูปที่ 2 อยู่ในช่วงราวปี พ.ศ.2440-2457) ท่านเป็นผู้ควบคุมอำนวยการก่อสร้าง ซึ่งท่านเองเป็นลูกศิษย์ญาท่าน หอ อดีตเจ้าอาวาสรูปแรก ซึ่งท่านเป็นพระเถระผู้ใหญ่ซึ่งเคยจำพรรษาอยู่ที่วัดหลวง ซึ่งเป็นวัดแรกสร้างของเจ้าเมืองอุบลมาก่อน ทำให้สิมหลังนี้ มีความโดดเด่นในเชิงช่างสร้างสรรค์ที่น่าสนใจ
สิมหลังนี้ สะท้อนให้เห็นถึงโลกทัศน์ใหม่ แห่งภูมิปัญญาการสร้างสรรค์ จากแบบแผนวิถีวัฒนธรรมล้านช้างพื้นเมืองอุบล ที่มีการปะทะสังสรรค์ต่อรองในเชิงช่าง ระหว่างความเป็นสยามและลาวล้านช้างสายสกุลช่างเวียงจันทน์ แตกต่างจากยุคสร้างบ้านแปลงเมืองที่นำเข้ารูปแบบเชิงช่างล้านช้างเวียงจันทน์เป็นกระแสหลัก สัมพันธ์กับขนบจารีตของยุคนั้นๆ เช่น รูปแบบวิหารวัดหลวง ที่พังไปแล้ว
โดยสิมวัดแจ้งหลังนี้ ในยุคซ่อมสร้างในปี พ.ศ.2455 แสดงให้เห็นว่า รสนิยมใหม่ที่แสดงออกผ่านองค์ประกอบสถาปัตยกรรมส่วนต่างๆ เช่น ฐานเอวขันแบบบัวงอนผสมกับแบบแผนฐานปัทม์แบบช่างหลวงสยาม
พนักบันได ยังคงสืบคติรูปสัตว์ทวารบาลรูปจระเข้ เทพเจ้าแห่งน้ำ เฉกเช่นพญานาค ซึ่งเป็นคติพื้นเมืองเดิม ส่วนตัวเรือนมีช่องหน้าต่าง มีหย่องหน้าต่างลวดลายพื้นเมืองอีสาน คันทวยแบบนาคขดคดโค้งประดับกระจกหลากสีที่ได้รับการยกย่องอย่าง น.ณ.ปากน้ำ ผู้เชี่ยวชาญศิลปะไทยโบราณได้แสดงความประทับใจที่มีต่อ
“…คันทวยจำหลักไม้(สิมวัดแจ้ง เมืองอุบล) ศิลปะลักษณะพื้นเมืองของอีสาน แม้จะจำหลักเป็นรูปนาคปิดทองประดับกระจกเช่นเดียวกับภาคกลาง แต่นายช่างจำหลักได้สอดแทรกความคิดลงไป เห็นรูปร่างแปลกตากว่าที่เห็นในภาคกลาง การออกแบบตัวลายก็งามเป็นลักษณะพื้นเมืองโดยแท้” (น.ณ ปากน้ำ)
“ และบริเวณแผงหน้าจั่วสามเหลี่ยมมีรูปลวดลายประดับที่บอกเราตัวตน ประกอบด้วยรูปแกะสลักเป็นรูปดอกบัว อันน่าจะหมายถึงที่มาของชื่อเมืองอุบล ลวดลายช่อดอกกาละกับ ซึ่งเป็นแม่ลายสำคัญของสกุลช่างหลวงเวียงจันทน์ ที่นิยมใช้มากตามวัดต่างๆ ในเขตเมืองอุบล แบบแผนลวดลายกระจังรวนแบบสยาม ซึ่งพบมากในแถบเมืองอุบล หรือสาหร่ายรวงผึ้งแบบสยาม ที่ผสมผสานกับฮวงผึ้งแบบล้านช้างได้อย่างมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นเฉพาะตัว
และส่วนที่สำคัญคือ ที่หน้าบัน หรือสีหน้าที่มีความแตกต่างจากวัดอื่นๆ กล่าวคือมีการใช้รูปสัตว์ในวรรณคดีอย่างรูปคชสีห์ ซึ่งถือเป็นรูปสัญญะของกลุ่มเจ้านายพื้นเมืองที่มีฐานานุศักดิ์รองมาจากเจ้าเมือง ซึ่งน่าจะสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกับ คตินิยมรูปสัตว์ที่ทำนกหัสดีลิงด์ประเภทดั่งที่คุณพ่อบำเพ็ญ ณ อุบล ได้อธิบายว่า เมรุรูปคชสีห์ ใช้กับผู้ที่ถึงอสัญกรรม ที่มีตำแหน่งรองลงมาจากเจ้าอาญาสี่ แต่เป็นผู้มีเชื้อสายสืบมาจากอาญาสี่ ไม่มีสิทธิ์นำศพขึ้นนกหัสดีลิงค์ เจ้านายและประชาชนจึงทำเมรุขึ้นอีกแบบหนึ่งเป็นรูปคชสีห์ ประกอบหอแก้ว แล้วเชิญศพขึ้นประดิษฐานบนหอแก้ว แล้วก็ชักลากไปพิธีฌาปนกิจ
เมรุคชสีห์ ครั้งสุดท้ายคือเมรุเผาศพพระอุบลกิจประชากร (ท้าวบุญเพ็ง บุตรโฮบล) ดังนั้นการปรากฏรูปคชสีห์ในส่วนสีหน้าที่สำคัญนี้ ย่อมสื่อความสัมพันธ์อย่างมีนัยยะสำคัญกับผู้สร้างวัดแจ้ง แห่งนี้ ประกอบข้างซ้ายขวาช้างเอราวัณ (อีกนัยยะหนึ่งหมายถึงเทพแห่งทิศตะวันออก) และมีรูปพระอินทร์ประทับอยู่ด้านบน (ซึ่งถูกโจรกรรมหายไปนานแล้วน่าจะก่อนปีพ.ศ.2510) คตินี้ช่างพื้นเมืองอุบลน่าจะได้รับอิทธิพลร่วมมาจากสยามเช่นเดียวกับสิมวัดทุ่งศรีเมือง สำนักช่างที่มีความสัมพันธ์เชิงช่างกับสยามอย่างแนบแน่น ซึ่งก็ปรากฏการใช้รูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณที่สีหน้าสิมด้วยเช่นกัน หากแต่ในวัดพื้นเมืองทั่วๆ ไป คตินี้ไม่เป็นที่นิยมในหมู่ช่างพื้นบ้าน
ส่วนยอดที่เป็นเครื่องลำยองต่างๆ ล้วนเป็นลักษณะสกุลช่างพื้นบ้านเมืองอุบล โดยเฉพาะรูปนาคสะบัดหงอน ส่วนวัสดุมุงหลังคา เดิมมุงด้วยแป้นไม้หรือกระเบื้องไม้ ราวปี พ.ศ.2495 จึงมีการซ่อมแปลงเป็นกระเบื้องดินเผาตามบันทึกของ วิโรฒ ศรีสุโร ในหนังสือสิมอีสาน
และล่าสุดเมื่อปี พ.ศ.2561 หน่วยงานที่ดูแลได้ทำการบูรณะซ่อมแซมใหม่อีกครั้ง ด้วยการติดกระจกสีตามหลักฐานเดิมยืนยันว่า มีการประดับกระจกสี ซึ่งแตกต่างจากการซ่อมครั้งก่อนหน้า ซึ่งไม่ได้มีการติดกระจกสีตามแบบแรกสร้าง ทำให้เกิดวิวาทะในสังคม ทั้งกลุ่มนักอนุรักษ์ซึ่งเข้าใจว่า เดิมไม่มีกระจกสีทั้งหมด ได้ทำให้สิมหลังนี้เป็นที่สนใจเป็นอย่างมาก ทั้งกลุ่มคนรุ่นใหม่และรุ่นเก่าที่เข้าไปถามหาความจริง
ทั้งหมดจะเห็นถึงการผสมผสานกันไปมาของ 2 สกุลช่าง ทั้งราชสำนักเวียงจันทน์และราชสำนักสยาม เฉกเช่นเดียวกันกับพัฒนาการทางสังคมวัฒนธรรม ที่เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไม่เคยหยุดนิ่งตายตัว ก่อให้เกิดเป็นนวัตศิลป์ใหม่ไทย-อุบล ที่มีอัตลักษณ์ของตัวเองผ่านเป็นบทบันทึกทางประวัติศาสตร์สมัยที่ส่งผ่านงานช่างสร้างสรรค์ ณ สิมวัดแจ้ง แห่งเมืองอุบลและอีสานในเวลาต่อมา