เปลี่ยนชื่อ อุทยานธรณีผาชัน สามพันโบก เป็น อุทยานธรณีอุบลราชธานี
วันที่ 26 ตุลาคม 2566 คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอุทยานธรณี กรมทรัพยากรธรณี มีหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี และผู้อำนวยการอุทยานธรณีอุบลราชธานี (นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี โดยตำแหน่ง) เรื่อง การรับรองผลประเมินซ้ำเพื่อคงสถานะการเป็นอุทยานธรณีประเทศไทยและการขอเปลี่ยนแปลงพื้นที่ และเปลี่ยนชื่อของอุทยานธรณีผาชัน สามพันโบก
โดยคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอุทยานธรณี ได้พิจารณารับรองให้อุทยานธรณีผาชัน สามพันโบก เป็นอุทยานธรณีประเทศไทย ต่ออีก 4 ปี มีผลตั้งแต่วันที่ 22 สิงหาคม 2566 ถึง 21 สิงหาคม 2570 พร้อมทั้งให้อุทยานธรณีผาชัน สามพันโบก ดำเนินการตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ในการกำหนดเป้าหมายและแผนงานการพัฒนาเพื่อเป็น อุทยานธรณีโลก ของยูเนสโกต่อไป
ทั้งนี้ คณะกรรมการเห็นชอบการขอเปลี่ยนแปลงพื้นที่และเปลี่ยนชื่อของอุทยานธรณีผาชัน สามพันโบก เป็นอุทยานธรณีอุบลราชธานี
สำหรับเหตุที่มีการเสนอขอเปลี่ยนชื่ออุทยานธรณี จาก "อุทยานธรณีผาชัน สามพันโบก จังหวัดอุบลราชธานี" เป็น "อุทยานธรณีอุบลราชธานี" นั้น แหล่งข่าวกล่าวกับไกด์อุบลว่า ในเริ่มแรกผาชัน สามพันโบก กำลังเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง จึงตั้งชื่อตามชื่อของแหล่งท่องเที่ยวนั้น แต่เมื่อมีการดำเนินการของอุทยานธรณีต่อเนื่อง พบว่าต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน หน่วยงานต่างๆ อำเภอต่างๆ ขาดความเข้าใจ ซึ่งเมื่อเสนอเปลี่ยนชื่อเป็นอุทยานธรณีอุบลราชธานี คนในพื้นที่มีการตอบรับให้ความร่วมมือมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้เกิดความร่วมมือจากทุกภาคส่วน
เพื่อให้สอดคล้องกับ แนวทางการตั้งชื่อของอุทยานธรณีระดับสากล และสอดคล้องกับพื้นที่จริงที่ประกอบด้วยหลายอำเภอ และรวมพื้นที่อุทยานแห่งชาติผาแต้ม อุทยานแห่งชาติแก่งตะนะ วนอุทยานน้ำตกผาหลวง เขื่อนสิรินธร และพื้นที่เชื่อมโยง
ซึ่งนอกจากการเสนอขอเปลี่ยนชื่อแล้ว ยังขอปรับและขยายขอบเขตอุทยานธรณี โดยเพิ่มตำบลนิคมสร้างตนเองลำโดมน้อย และตำบลช่องเม็ก อำเภอสิรินธร ซึ่งมีพื้นที่รวมจำนวน 1,800.60 ตารางกิโลเมตร เนื่องจากลักษณะภูมิประเทศเป็นภูเขาเควสต้า ที่มีความโดดเด่นและมองเห็นวิวทิวทัศน์สวยงามทั้งใกล้และไกล มีการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรณีในพื้นที่ดังกล่าว วัดสิรินธรวรารามภูพร้าวตั้งอยู่บริเวณส่วนยอดของภูเขาเควสต้า เป็นวัดที่ใช้ภูมิทัศน์อันสวยงามบนยอดเขาอันเงียบสงบ ทำให้ผู้คนที่มาเยือนได้โอกาสน้อมนำธรรมเข้ามาสู่ตน เขื่อนสิธินธร ส่วนของภาครัฐจะผลิตไฟฟ้า พื้นผิวน้ำผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ส่วนของภาคเอกชนมีการเลี้ยงปลาในกระชัง แปรรูปปลาธรรมชาติและผลิตเฟอนิเจอร์จากไม้ใต้น้ำ บริเวณรอบอ่างเก็บน้ำ ประกอบกิจกรรมการท่องเที่ยว
หลังจากนี้ ทางจังหวัดอุบลราชธานีจะได้ดำเนินการสร้างการรับรู้ในการเปลี่ยนชื่ออุทยานธรณี การมีส่วนร่วม และการสื่อสารกับชุมชนท้องถิ่นต่อไป