ย้อนอดีตการจัดตั้งจังหวัดยโสธรและอำนาจเจริญออกจากจังหวัดอุบลราชธานี
จากกรณี นายปัญญา เศวตธรรม นายอำเภอเขมราฐ ยื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เรื่องขอยกฐานะอำเภอเขมราฐขึ้นเป็นจังหวัดเขมราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2560 นั้น ทำให้มีผู้กล่าวถึงการแยกออกจากจังหวัดอุบลราชธานีไปตั้งจังหวัดใหม่ถึง 2 จังหวัดด้วยกัน ส่งผลให้จังหวัดอุบลราชธานีที่เคยเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่มากที่สุดในประเทศไทย กล่าวคือเมืองที่มีพื้นที่ทั้งหมด 22,686 ตารางกิโลเมตรเศษ แบ่งการปกครองเป็น 21 อำเภอ 2 กิ่งอำเภอ มากที่สุดในประเทศไทย และมีประชากรประมาณ 1,450,000 คนนับเป็นที่สองรองจากกรุงเทพฯ เสียอันดับนั้นไป ไกด์อุบลขอย้อนอดีตการตั้งจังหวัดทั้งสองดังนี้
ในต้นปี พ.ศ. 2515 คณะปฏิวัติอันมี จอมพลถนอม กิตติขจร เป็นหัวหน้าคณะปฏิวัติ ได้ดำเนินการจัดตั้งจังหวัดยโสธร ด้วยการออกประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 70 เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2515 โดยให้แยกอำเภอยโสธร อำเภอกุดชุม อำเภอเลิงนกทา อำเภอคำเขื่อนแก้ว อำเภอมหาชนะชัย และอำเภอป่าติ้วรวม 6 อำเภอ ออกจากจังหวัดอุบลราชธานี ร่วมจัดตั้งเป็นจังหวัดยโสธร ทั้งนี้ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม พ.ศ.2515 เป็นต้นไป นับเป็นจังหวัดในลำดับที่ 71 ของประเทศไทย
ในปี พ.ศ.2536 ขณะที่จังหวัดอุบลราชธานี แบ่งพื้นที่การปกครองเป็น 25 อำเภอ 3 กิ่งอำเภอ รัฐบาลสมัยนายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี ก็ได้ดำเนินการจัดตั้งจังหวัดอำนาจเจริญขึ้น นับเป็นจังหวัดในลำดับที่ 75 ของประเทศไทย ด้วยการประกาศใช้พระราชบัญญัติจัดตั้งจังหวัดอำนาจเจริญ พ.ศ.2536 เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ.2536 โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ.2536 เป็นต้นไป พระราชบัญญัติดังกล่าว กำหนดให้แยกอำเภออำนาจเจริญ อำเภอชานุมาน อำเภอปทุมราชวงศา อำเภอพนา อำเภอเสนางคนิคม อำเภอหัวตะพาน และกิ่งอำเภอลืออำนาจ ออกจากการปกครองของจังหวัดอุบลราชธานี ร่วมตั้งขึ้นเป็นจังหวัดอำนาจเจริญ
ปัจจุบัน จังหวัดอุบลราชธานี มีเนื้อที่ประมาณ 16,112 ตารางกิโลเมตร หรือ 10.6 ล้านไร่ มีขนาดพื้นที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของภาค และเป็นอันดับ 5 ของประเทศ รองจาก นครราชสีมา เชียงใหม่ กาญจนบุรี และตาก ตามลำดับ