พระเจ้าใหญ่มิ่งมงคลอุบลเทพนิมิต วัดพลแพน อ.เมืองอุบลฯ
วัดพลแพน ตั้งอยู่ใจกลางเมือง หัวมุมติดถนน 2 ด้าน คือ ถนนพลแพน และถนนพโลรังฤทธิ์ จัดว่าเป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่งของจังหวัดอุบลราชธานี มีประวัติการสร้างเมื่อประมาณ พ.ศ.2430-2431 ผู้นำในการสร้างวัดคือ พระพิทักษ์ชุมพล (บัวรินทร์) และพ่อกวนเมืองแพน จึงได้นำเอาท้ายชื่อของทั้งสองท่านมารวมกัน ตั้งเป็นชื่อวัดว่า วัดพลแพน ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ.2531 เป็นวัดที่ประดิษฐานพระเจ้าใหญ่มิ่งมงคลอุบลเทพนิมิต พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์อีกองค์หนึ่งของอุบลราชธานี และมีพระพุทธรูปหินแกะสลักโบราณที่ชาวบ้านในชุมชนให้ความเคารพอีกด้วย
สำหรับพระเจ้าใหญ่มิ่งมงคลอุบลเทพนิมิต เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นขนาดใหญ่ ศิลปะลาว สกุลช่างเมืองอุบลราชธานี ขนาดความสูงประมาณ 4.50 เมตร หน้าตักกว้าง 3.25 เมตร องค์พระแสดงปางมารวิชัย นั่งขัดสมาธิราบ พระพักตร์รูปไข่ มีไรพระศกเป็นทรงหนามขนุน พระรัศมีเป็นเปลวซ้อนกัน อุษณีษะใหญ่ พระขนงโค้ง พระเนตรเหลือบต่ำ พระนาสิกงุ้มบาน พระกรรณยาวเรียว พระโอษฐ์แย้มสรวล องค์พระครองจีวรหมเฉียง สังฆาฏิเป็นแผ่นใหญ่ยาวจรดพระนาภี พระหัตถ์ทั้ง 4 นิ้ว ยาวเสมอกัน ประดิษฐานเหนือฐานก่ออิฐถือปูนรูปสี่เหลี่ยม ที่ฐานด้านหลังเบื้องซ้ายองค์พระ ส่วนฐานเฉพาะส่วนหน้าก่อปูนปั้นรูปบัวคว่ำบัวหงาย
ประวัติความเป็นมา
หลังการสร้างวัดพลแพนในราว พ.ศ.2430 อันถือเป็นวัดแห่งใหมในเมืองอุบลราชธานีเวลานั้น เสนาสนะภายในวัด ได้ทยอยสร้างขึ้นโดยลำดับ แต่ยังคงไม่มีปูชนียวัตถุเป็นที่เคารพกราบไหว้ เมื่อการตั้งวัดมั่นคงขึ้นแล้ว พระครูวิโรจน์รัตโนบล (รอด นนฺตโร สมจิต) เจ้าคณะจังหวัดอุบลราชธานี "กิตติมศักดิ์" เจ้าอาวาสวัดทุ่งศรีเมือง พร้อมด้วยศิษย์ใกล้ชิด คือ พระใบฎีกาสังข์ ฐิตมุโม วัดคำนกเปล้า และพระมหาคูณ ปญญาชฺโชโต วัดนามน ได้นำสร้างอุโบสถหรือสิมหลังเดิม เมื่อ พ.ศ.2472 มีรูปทรงคล้ายกับสิมวัดแจ้ง
สองปีต่อมา พ.ศ.2474 พระครูวิโรจน์รัตโนบล ได้นำสร้างองค์พระเจ้าใหญ่ขึ้น เพื่อประดิษฐานเป็นพระประธานในสิมวัดพลแพน ถวายพระนามว่า "พระเจ้าใหญ่เชิงชุม" โดยมีพระลูกศิษย์ทั้งสองเป็นกำลังสำคัญ ซึ่งทั้งสองท่านได้เคยให้สัมภาษณ์ไว้ตรงกับข้อมูลของวัดพลแพน ดังที่ยกมาว่า '"...พระประธานในพระอุโบสถวัดพลแพน เป็นฝีมือสร้างของญาท่านดีโลด จำลองมาจากพระเหลาเทพนิมิตร พระพุทธรูปองค์สำคัญของอำเภอพนา ซึ่งญาท่านดีโลดได้ไปบูรณปฏิสังขรณ์วิหารพระเหลาจนสำเร็จ หลังจากนั้นได้มาสร้างพระอุโบสถวัดพลแพน พระเหลาถูกถอดแบบมาด้วย... " (อำพล เจน, 2548: 9)
พระเจ้าใหญ่เชิงชุม ได้รับการถวายพระนามใหม่เป็น "พระเจ้าใหญ่มิ่งมงคลอุบลเทพนิมิต" เพื่อให้สอดคล้องกับองค์พระเหลาเทพนิมิต ตันแบบในการสร้าง เมื่อ พ.ศ.2514 ในยุคที่พระครูสาทรมงคลกิจ (สาร์ สายหงษ์) รองเจ้าคณะอำเภอเมืองอุบลราชธานี เป็นเจ้าอาวาส และในปี พ.ศ.2518 ได้รื้ออุโบสถหลังเดิม ก่อสร้างเป็นวิหารใหญ่ขึ้นทดแทน โดยใช้เป็นเสนาสนะกลาง คือ อุโบสถและวิหารในหลังเดียวกัน