guideubon

 

 

มอบรางวัล คนดี มูนมังเมืองอุบลฯ UBON BOOK FAIR 2018

คนดี-มูนมังเมืองอุบล-2561-01.jpg

วันที่ 13 สิงหาคม 2561 นายเธียรชัย พุทธรังษี รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เป็นประธานในพิธีมอบรางวัล ให้แก่ผู้ที่ได้รับการคัดเลือกเข้ารับรางวัล คนดีมูนมัง เมืองอุบลฯ ประจำปี 2561 เนื่องในงานสัปดาห์หนังสือและการเรียนรู้ อุบลราชธานี ครั้งที่ 10 UBON BOOK FAIR 2018 ที่ เวทีกลาง ชั้น 4 ห้างสรรพสินค้า สุนีย์ ทาวเวอร์ อำเภอเมืองอุบลราชธานี

คนดี-มูนมังเมืองอุบล-2561-เทอดศักดิ์-ไชยกาล.jpg

สาขาศิลปกรรม นายเทอดศักดิ์ ไชยกาล

พระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 รวมทั้งพระบรมวงศานุวงศ์อีกหลายพระองค์ ถูกถ่ายทอดด้วยหัวใจของเทอดศักดิ์ ไชยกาล ศิลปินจิตรกรรมชาวจังหวัดอุบลราชธานี

ผลงานหลายชิ้นของเทอดศักดิ์ ได้มีหนังสือ นิตยสารหลายฉบับ นำภาพเหล่านี้ไปตีพิมพ์ และทำปฏิทินแจกจ่ายประชาชนในวันสำคัญต่างๆ รวมถึงหน่วยงานราชการและเอกชน ต่างนำไปติดตามสถานที่สำคัญ

เทอดศักดิ์ ยังได้เป็นตัวแทนของจังหวัดอุบลราชธานี เข้าร่วมแข่งขันทักษะการวาดภาพอยู่หลายครั้ง ได้รับรางวัลนับไม่ถ้วน และร่วมจัดแสดงนิทรรศการภาพวาดต่างๆ ของประเทศ เทอดศักดิ์ยังได้นำภาพวาดไปประมูลในงานแสดกงนิทรรศการภาพจิตรกรรม เพื่อนำเงินช่วยเหลือนักเรียนที่เรียนดีแต่ยากจน และยังได้ร่วมถ่ายทอดศิลปะเหล่านี้ให้กับเด็กๆ อีกด้วย

นี่คือการสร้างศิลปะอันทรงคุณค่า ของชาวจังหวัดอุบลราชธานีและชาวไทยทุกคน ด้วยคุณงามความดีของท่าน คณะกรรมการมูนมังเมืองอุบลราชธานี จึงมีฉันทามติให้ นายเทอดศักดิ์ ไชยกาล สมควรได้รับรางวัล สาขาศิลปกรรม มูนมังเมืองอุบลราชธานี

คนดี-มูนมังเมืองอุบล-2561-นพดล-จันทร์เพ็ญ.jpg

สาขาวรรณกรรม รศ.นพดล จันทร์เพ็ญ

     ดุจโคมทองส่องพิภพจบสวรรค์
ยิ่งสูรย์จันทร์แจ่มจ้าอาภาแสง
พระบารมีมากล้นพ้นสำแดง
กระจ่างแจ้งเจิดจรัสอัศจรรย์

     เพ็ญแห่งพระวิริยภาพเอิบอาบหล้า
เพ็ญแห่งพระเมตตาศรัทธามั่น
เพ็ญแห่งพระกรุณาผาสุกอนันต์
เพ็ญแห่งน้ำพระทัยนั้นยิ่งยรรยง

นี่คือหนึ่งในบทกวีที่ รองศาสตราจารย์ นพดล จันทร์เพ็ญ เขียนขึ้นเพื่อถวายอาลัย ในหลวงรัชกาลที่ 9 และยังมีงานเขียนหนังสือและบทกวี ตีพิมพ์ในสื่อต่างๆ อาทิ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เดลินิวส์ สยามรัฐ มติชน คมชัดลึก เดอะเนชั่น และยังมีวารสารสตรีสาร สกุลไทย ฟ้าเมืองไทย คู่สร้างคู่สม รวมถึงเรื่องราวต่างๆ ในจังหวัดอุบลราชธานี

รองศาสตราจารย์ นพดล จันทร์เพ็ญ ภูมิลำเนาเดิม เป็นคนอำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง สำเร็จการศึกษาปริญญาตรีเศรษฐศาสตร์ เกียรตินิยมอันดับ 1 ปริญญาโทและปริญญาเอกเศรษฐศาสตร์ จาก Washington University เซนต์หลุยส์ สหรัฐอเมริกา หลังจบการศึกษา ได้เข้ามาเป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี

ธรรมชาติคือแรงบันดาลใจสำคัญในการเขียนบทกวีของ รองศาสตราจารย์ นพดล จันทร์เพ็ญ และการเขียนบทกวี เป้นงานที่เขียนขึ้นเพื่อช่วยสังคม โดยไม่เคยคิดมูลค่าแม้แต่บาทเดียว เพราะสิ่งตอบแทนคือความสุขที่ได้มา ด้วยคุณงามความดีของท่าน คณะกรรมการมูนมังเมืองอุบลราชธานี จึงมีฉันทามติให้ รองศาสตราจารย์ นพดล จันทร์เพ็ญ สมควรได้รับรางวัล สาขาวรรณกรรม มูนมังเมืองอุบลราชธานี

คนดี-มูนมังเมืองอุบล-2561-ชลธิษ-จันทร์สิงห์.jpg

สาขาสื่อ นายชลธิษ จันทร์สิงห์

นายชลธิษ จันทร์สิงห์ เกิดเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2511 ที่บ้านนาหว้า ตำบลกระเดียน อำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี จากการทำงานด้านออกแบบสิ่งพิมพ์ ทำให้เขาได้ซึมซับกับงานด้านสื่อ จนพัฒนาตัวเองขึ้นสู่การเป็นผู้ช่วยบรรณาธิการให้กับหนังสือพิมพ์ปทุมมาลัยในปี 2535 เขาโลดแล่นอยู่ในวงการสื่อมวลชนจังหวัดอุบลราชธานีมาอย่างยาวนาน จนได้รับเลือกให้เป็น นายกสมาคมสื่อมวลชนอุบลราชธานี

การเป็นผู้นำสื่อเมืองอุบล ทำให้ต้องหาทางพัฒนาวงการและคนในสายอาชีพนี้อยู่เสมอ หนึ่งในงานสำคัญของเขาก็คือ ได้ร่วมเสนอและผลักดันกฎหมาย เพื่อตั้งสภาวิชาชีพสื่อมวลชน ด้วยคุณงามความดีของท่าน คณะกรรมการมูนมังเมืองอุบลราชธานี จึงมีฉันทามติให้ นายชลธิษ จันทร์สิงห์ สมควรได้รับรางวัล สาขาสื่อ มูนมังเมืองอุบลราชธานี

คนดี-มูนมังเมืองอุบล-2561-ธนพรรณ-แก้วจันดี.jpg

สาขาผู้ทำคุณประโยชน์ต่อสังคม นางธนพรรณ แก้วจันดี

นางธนพรรณ แก้วจันดี หรือ ครูอ๋อย เกิดเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2497 ที่บ้านทุ่งปริญญา ตำบลขุหลุ อำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี เป็นลูกคนที่ 5 จากพี่น้องทั้งหมด 9 คน หลังจบการศึกษาสายครูอนุบาล ได้เข้ารับราชการครูครั้งแรกที่โรงเรียนบ้านดอนหมู ในอำเภอตระการพืชผล และย้ายไปอีก 2 โรงเรียนในอำเภอเดียวกัน ได้ใช้ความรู้ความสามารถที่ได้ร่ำเรียนมา บวกกับความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาระบบการเรียนการสอนชั้นอนุบาลในท้องถิ่นให้ดีขึ้น จึงทุ่มเททำงานจนได้รับรางวัลครูดีเด่นระดับจังหวัด

ครูอ๋อย ทุ่มเททำงานจนมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ แต่สิ่งที่ทำกลับไร้ค่า เมื่อต้องพ่ายแพ้ให้กับระบบสังคม ที่ตอบแทนคนใกล้ชิดมากกว่าคนที่ทำงานจริง จึงลาออกจากราชการในปี 2539 เพื่อมาตั้งโรงเรียนเอง โรงเรียนอนุบาลน้องหญิง อำเภอตระการพืชผล คือดอกผลที่เกิดจากความตั้งใจของครูอ๋อย ที่มุ่งมั่นสร้างสถานศึกษาให้ดีที่สุด ด้วยจิตวิญญาณของความเป็นครู เมื่อชีวิตประสบความสำเร็จตามฝันแล้ว ชีวิตที่เหลือ ก็มีแค่การแบ่งปัน ด้วยคุณงามความดีของท่าน คณะกรรมการมูนมังเมืองอุบลราชธานี จึงมีฉันทามติให้ นางธนพรรณ แก้วจันดี สมควรได้รับรางวัล สาขาผู้ทำคุณประโยชน์ต่อสังคม มูนมังเมืองอุบลราชธานี

คนดี-มูนมังเมืองอุบล-2561-ปิยทัศน์-ทัศนิยม.jpg

สาขาเกษตรกรรม นายปิยทัศน์ ทัศนิยม

ย้อนหลังไปเมื่อปี 2533 นายปิยทัศน์ ทัศนิยม คือหนึ่งในมนุษย์เงินเดือนบริษัทเอกชนที่มีรายได้ค่อนข้างสูง แต่เขาไม่ได้มีความสุขกับวิถีแบบนี้มากนัก และเริ่มรู้สึกเบื่อหน่ายกับการใช้ชีวิตแบบเร่งรีบ แม้มีรายได้มาก แต่รายจ่ายก็มากเช่นกัน จึงตัดสินใจนำเงินเก็บที่มีอยู่ ไปซื้อที่ดินเกือบ 40 ไร่ ที่บ้านหนองมัง ตำบลโนนกลาง อำเภอสำโรง จังหวัดอุบลราชธานี แล้วหันมาทำเกษตร ปลูกข้าว ปลูกผัก โดยใช้สารเคมีเหมือนเกษตรกรทั่วไป แต่สุดท้ายเขาก็รู้ว่า การทำเกษตรแบบเคมีนั้นไม่ใช่คำตอบ เพราะได้รับผลพวงจากสุขภาพของตัวเอง จึงตัดสินใจหันหลังให้กับระบบเคมี 

แม้จะโดนดูถูก ถากถางจากเพื่อนบ้านและญาติพี่น้องในสิ่งที่กำลังทำว่า จะไปไม่รอด แต่เขาก็เชื่อมั่นว่า นี่คือสิ่งที่ถูก และมุ่งมั่นที่จะผลิตอาหารปลอดภัยให้คนได้กิน โดยใช้คำสอนของในหลวงรัชกาลที่ 9 เรื่องความพอประมาณในการดำรงชีวิต เป็นแรงผลักดันในการทำงาน ทำให้เขาประสบความสำเร็จ ในการเป็นเกษตรกรที่ปลูกพืชโดยไม่ใช้สารเคมี แต่สามารถเลี้ยงตัวเองได้ และความรู้ต่างๆ ที่เกิดขึ้น เขายังได้ถ่ายทอด ส่งต่อ สู่เพื่อนเกษตรกรมากมาย เพื่อให้ช่วยกันผลิตอาหารปลอดภัยสำหรับเราทุกคน 

ด้วยคุณงามความดีของท่าน คณะกรรมการมูนมังเมืองอุบลราชธานี จึงมีฉันทามติให้ นายปิยทัศน์ ทัศนิยม สมควรได้รับรางวัล สาขาเกษตรกรรม มูนมังเมืองอุบลราชธานี

คนดี-มูนมังเมืองอุบล-2561-ฉลาด-ส่งเสริม.jpg

สาขาศิลปะการแสดง นายฉลาด ส่งเสริม

เสียงกลอนลำท่วงทำนองอุบล น้ำเสียงที่ไพเราะและมีความเอกลักษณ์นี้ หลายๆ คนที่ได้ยิน ไม่ต้องบอกก็รู้ว่าเป็นใคร อาจารย์ ป.ฉลาดน้อย ส่งเสริม พื้นเพป็นคนอุบลราชธานีโดยกำเนิด เกิดเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2590 ที่บ้านหนองบ่อ อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี เมื่ออายุ 12 ปี อาจารย์ ป.ฉลาดน้อย ได้บวชเรียนที่วัดสุปัฏนาราม เนื่องจากได้ยินเสียงหมอลำอยู่เป็นประจำ จึงเกิดความหลงใหล และหาวิธีที่จะได้เป็นหมอลำ จึงเป็นจุดเริ่มต้นในการเข้าสู่วงการหมอลำ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาชื่อ ป.ฉลาดน้อย จึงเกิดขึ้น

อาจารย์ ป.ฉลาดน้อย ได้ออกฝึกหัดตามคณะหมอลำไปเรื่อยๆ จนในกี พ.ศ.2514 ได้ไปอยู่คณะหมอลำที่ขอนแก่น คณะอุบลพัฒนา ได้ลำอยู่หลายเรื่อง หนึ่งในนั้นคือเรื่อง นางนกกระยางขาว และทำให้เริ่มมีชื่อเสียงขึ้นมา ด้วยความที่ไม่ลืมบ้านเกิด อาจารย์ ป.ฉลาดน้อย จึงกลับมาตั้งคณะหมอลำที่อุบลฯ และในปี พ.ศ.2521 ก็ได้อัดบันทึกแผ่นเสียง จึงทำให้มีชื่อเสียงโด่งดังมากยิ่งขึ้น ไม่ใช่แค่ได้ถ่ายทอดศิลปะหมอลำในแถบภาคอีสาน หรือภายในประเทศเท่านั้น ในปี พ.ศ.2542 อาจารย์ ป.ฉลาดน้อย ก็ได้มีโอกาสนำผลงานการลำทำนองอุบล ไปแสดงในหลายๆ ประเทศ

ผลงานการลำที่โดดเด่น สอดแทรกด้วยศิลปะวัฒนธรรมและคำสอนได้ถูกสร้างสรรค์มาเรื่อยๆ จนกระทั่งในปี พ.ศ.2548 อาจารย์ ป.ฉลาดน้อย ส่งเสริม ได้รับยกย่องเชิดชูเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปการแสดง (หมอลำ) ท่านได้ถ่ายทอดศิลปะการลำให้ลูกศิษย์อยู่เรื่อยมา และช่วยงานทางจังหวัด งานการกุศลต่างๆ อยู่บ่อยครั้ง ด้วยคุณงามความดีของท่าน คณะกรรมการมูนมังเมืองอุบลราชธานี จึงมีฉันทามติให้ นายฉลาด ส่งเสริม สมควรได้รับรางวัล สาขาศิลปการแสดง มูนมังเมืองอุบลราชธานี

คนดี-มูนมังเมืองอุบล-2561-อาชีวศึกษาอุบล.jpg

ประเภทองค์กร/กลุ่ม ได้แก่ วิทยาลัยอาชีวศึกษาอุบลราชธานี 

วิทยาลัยอาชีวศึกษาอุบลราชธานี สถานศึกษาที่เปิดสอนสายอาชีพ ให้ทักษะวิชาความรู้แก่ลูกหลานเมืองอุบลราชธานี และพื้นที่ใกล้เคียงมายาวนานกว่า 81 ปี ภายใต้การบริหารงานของ นายธวัชชัย พันธ์นิกุล ผู้อำนวยการวิทยาลัยอาชีวศึกษาอุบลราชธานี ได้ร่วมแรงร่วมใจกันในการทำงาน สร้างสรรค์สิ่งที่ดีงามให้เกิดขึ้นกับจังหวัดอุบลราชธานี แผ่นดินเกิดแห่งนี้ ไม่ว่าจะเป็นสืบสาน อนุรักษ์ศิลปะวัฒนธรรม ประเพณีที่ดีงามของท้องถิ่น อาทิ

- การจัดตั้งหอศิลป์ราชธานีศรีวนาไล เพื่อรวบรวมโบราณวัตถุชิ้นสำคัญของชาติและท้องถิ่น ให้เยาวชนรุ่นหลังได้เรียนรู้สืบไป

- กิจกรรมสนับสนุนการมีส่วนร่วมในงานประเพณีแห่เทียนพรรษาในจังหวัดอุบลราชธานี เป็นประจำทุกๆ ปี ได้แก่ การเป็นหน่วยงานหลักร่วมกับ ททท. จัดโครงการประติมากรรมเทียนนานาชาติ ด้วยการหล่อเทียนให้กับศิลปินนานาชาติ รังสรรค์ผลงานประติมากรรม พร้อมนำคณะครู นักเรียน นักศึกษา เป็นผู้ช่วยศิลปิน เพื่อเรียนรู้ศิลปะ และแลกเปลี่ยนภาษา พร้อมวัฒนธรรม กับนานาประเทศ กิจกรรมประดับและตกแต่งรถบุษบกอัญเชิญเทียนพระราชทานและผ้าอาบน้ำฝนพระราชทาน กิจกรรมแสดงการร่ายรำประจำขบวนแห่ต้นเทียนพรรษา และมีส่วนร่วมในการเป็นคณะกรรมการตัดสินต้นเทียนพรรษา

- โครงการศิลปินสัญจร เรียนรู้ศิลปะจากศิลปินแห่งชาติ

- สถานศึกษาเป็นศูนย์กลางในการต้อนรับอาคันตุกะสำคัญของประเทศเพื่อนบ้านผู้มาเยือน ทั้งในระดับจังหวัด และระดับประเทศ ทั้งนี้ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างยิ่งที่วิทยาลัยอาชีวศึกษาอุบลราชธานี ได้สนองงานใต้เบื้องพระยุคลบาท ด้วยการถวายงานจัดทำพระกระยาหารถวาย พระสุธารสถวายทุกครั้งที่พระบรมวงศานุวงศ์เสด็จฯ ที่จังหวัดอุบลราชธานี และจังหวัดพื้นที่ใกล้เคียง 

นับจากอดีตมาจนถึงปัจจุบัน จากวันนั้นถึงวันนี้ วิทยาลัยอาชีวศึกษาอุบลราชธานี ได้รับการยอมรับว่า เป็นสถานศึกษาที่มีคุณภาพ การันตีจากผลงานต่างๆ ที่สร้างชื่อเสียงให้กับจังหวัดอุบลราชธานี และประเทศไทย ตอกย้ำสู่การเป็นอุบลเมืองนักปราชญ์ อาทิ

- ได้รับคัดเลือกเป็นสถานศึกษารางวัลพระราชทาน ระดับอาชีวศึกษา ประเภทสถานศึกษาขนาดใหญ่ ครั้งที่ 3 ในปี พ.ศ.2556 และครั้งที่ 4 ใน พ.ศ.2560

- ได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดคลิปวีดีโอของสหประชาชาติ ในการประชุมผู้นำระดับประเทศ เกี่ยวกับการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติแห่งสหประชาชาติ

- ได้รับรางวัล Top Grade Award ในปี พ.ศ.2560 และในปี 2561 ได้รับรางวัล 1st prize รางวัลที่ 1 และรางวัล Best Technique Award จากการแข่งขันแกะสลักหิมะนานาชาติ ณ มหาลัยวิศวกรรมฮาร์บิ้น  ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน

- ได้รับรางวัลชนะเลิศเรือประดับไฟฟ้า ถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในงานเทศกาลสีสันแห่งสายน้ำ มหกรรมลอยกระทง สว่างไสวมหานทีแห่งเจ้าพระยา จัดโดย ททท. 2 ปีซ้อน ในปี 2555 และปี 2556 ทั้งนี้ ในปี พ.ศ.2557 จัดทำเรือประดับไฟฟ้านำขบวนการแข่งขันเข้าสู่ปีที่ 3 พร้อมกับได้นำเรือที่ชนะเลิศจากการประกวดจัดแสดงโชว์ ในงานประเพณีไฟลเรือไฟของจังหวัดอุบลราชธานีในครั้งนี้ด้วย

- ได้รับรางวัลกิตติคุณสัมพันธ์สังข์เงิน สุดยอดองค์กรประชาสัมพันธ์ดีเด่น ครั้งที่ 24 ประจำปี 2557 ประเภทองค์กรที่นำการประชาสัมพันธ์ไปใช้ส่งเสริมกิจการให้เจริญก้าวหน้าและประสบความสำเร็จ จากสมาคมนักประชาสัมพันธ์แห่งประเทศไทย

- ได้รับการประเมินเพื่อรับรองการประกันคุณภาพการศึกษา ของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา สมศ. รอบที่ 3 ในระดับดีมาก ด้วยคะแนนเฉลี่ย 93.31 ในปี พ.ศ.2556

- ได้รับการจัดอันดับคุณภาพการศึกษาเป็นอันดับหนึ่ง ของสถานศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ในปี 2554 และปี 2555 

- รางวัลสถานศึกษาจัดระบบการศึกษาระบบทวิภาคี ระดับ 5 ดาว ในปี 2556 จากสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา

- รางวัลหน่วยงานดีเด่น สาขาการบริหารจัดการอาชีวศึกษาดีเด่น ด้านภูมิปัญญาศิลปศาสตร์ปราชญ์เมืองอุบล จากสมาคมสื่อมวลชนอุบลราชธานี ร่วมกับสมาคมผู้สื่อข่าวอุบลราชธานี ในปี 2557

- รางวัลหน่วยงานดีเด่นที่ให้การส่งเสริม สนับสนุนการแต่งกายด้วยผ้าไทย จากสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดอุบลราชธานี ประจำปี 2558

- ได้รับการยกระดับให้เป็นสถานศึกษาเฉพาะทางด้านโรงแรมในปี 2560 

- ได้รับคัดเลือกเป็นสถานศึกษาต้นแบบทวิภาคี สานพลังประชารัฐ ในปี 2560 

- ได้รับการประเมินจากสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพองค์กรมหาชน ให้เป็นองค์กรที่มีหน้าที่รับรองสมรรถนะของบุคคลตามมาตรฐานอาชีพการท่องเที่ยว การโรงเแรม ภัตตาคาร และร้านอาหาร ในปี 2560 รวมถึงรางวัลอื่นๆ อีกมากมาย

ทั้งหมดนี้ เป็นผลงานที่เกิดจากคณะผู้บริหาร ครู บุคคลากร นักเรียน นักศึกษาทุกคน ที่มุ่งมั่นตั้งใจ ทุ่มเทด้วยแรงกาย แรงใจ ที่จะพัฒนาผู้เรียนทุกคน ให้สามารถเรียนรู้ และพัฒนาตนเองได้อย่างเต็มศักยภาพ และไม่ลืมที่จะตอบแทนบุญคุณผืนแผ่นดินถิ่นเกิดเมืองอุบลคนนักปราชญ์ ด้วยสืบสานมรดกภูมิปัญญาท้องถิ่นอันล้ำค่า จากบรรพชนคนรุ่นหลังให้คงอยู่เป็นมูนมัง ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นสืบไปอย่างยั่งยืน

 

copyright 2005 www.GuideUbon.com สำนักงานไกด์อุบลดอทคอม เลขที่ 89/1 ถนนพโลรังฤทธิ์ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี 34000 ติดต่อไกด์อุบล : webmaster@guideubon.com | msn : guide_ubon@hotmail.com | Tel : 080-4850511