guideubon

 

ตอนที่ 13 กำเนิด 7-11 อีสานใต้ ทุกอย่างอยู่ที่ใจ

CNB-7-11.jpg

ประมาณปี 2534.. ขณะผมอยู่ที่ร้านไนท์มินิมาร์ท (ตลาดหก) มีชายวัยกลางคนหุ่นท้วม หน้าตาใจดี มาขอพบผม แนะนำตัวว่าชือ ลิขิต ฟ้าประโยชม์ ตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บจก.ซีพีเซเว่น..

ท่านบอกผมว่า จะมาติดต่อให้ทำร้าน 7-11 แบบเช่าช่วงสิทธิ (ซับแอร์เรียไลเซนต์) ในเขตอีสานใต้ ผมถามว่าอะไรทำให้มาติดต่อผม ท่านบอกได้ชื่อโกจากชมรมห้างสรรพสินค้าภูธร (ตอนนั้นทางตันตราภัณฑ์ เชียงใหม่ได้ตกลงทำแล้ว) ผมเป็นรายที่สองที่ท่านมาติดต่อ ผมตอบว่าน่าสนใจ และขอเวลาคิดดูก่อนเพื่อปรึกษาผู้ใหญ่ก่อน...

อาทิตย์ต่อมา ผมก็ติดต่อท่าน เพื่อขอรายละเอียดทั้งหมด... ท่านแจ้งว่าสำหรับเขตอีสานใต้ ทางบริษัทตัดให้ทั้งหมด 8 จังหวัดคือ อุบล สุรินท์ ศรีสะเกษ ยโสธร ร้อยเอ็ด มหาสารคาม กาฬสินธุ และมุกดาหาร รวมทั้งค่าใช้จ่ายต่างๆ

ผมนำข้อมูลมาปรึกษาคุณพ่อ ซึ่งขณะนั้นผมทำร้านไนท์มินิมาร์ทอยู่ 3 สาขา.. คุณพ่อถามว่าอะไรคือเหตุผลที่ผมอยากทำ 7-11 ผมเรียนว่า เพราะเป็นแบรนด์อินเตอร์ที่ทำทั่วโลก ใครมาอุบล ก็รู้เลยว่าร้านนี้ขายอะไร ที่สำคัญคือ เราได้เรียนรู้ระบบทำร้าน 24 ชม ด้วย..

คุณพ่อไม่ค่อยเห็นด้วย บอกการลงทุนมากเกินไปสำหรับร้านขนาดเล็กๆ แถมเปิด 24 ชม. ทำให้สิ้นเปลืองค่าแรงค่าไฟ.. สรุปคือไม่ให้ทำ... เรื่องก็จบ แบบผมยังอยากทำ แต่พ่อไม่อยากให้ทำ

2 คน 2 ความคิด... ต่างก็เชื่อในความคิดตนเอง.. จนต้นปี 2536 คุณลิขิต โทรมาบอกว่า ตกลงโกจะทำไม๊ เพราะผมรอคำตอบจนไปทำเพิ่มมาอีก 4 เขตแล้ว เหลือโกรายสุดท้าย ผู้ใหญ่เร่งมา.. ผมจึงตอบว่าทำครับ นัดวันเซ็นต์สัญญาได้เลย..

หลังจากคุยกันเสร็จ ผมก็ไปพบคุณพ่ออีกครั้งว่า ผมอยากทำ 7-11..ท่านบอกว่า เฒ่าก็รู้ว่าเราไม่มีเงินขนาดนั้น (เงินจ่ายแรกเข้า) และบ้านเราก็มีลูกหลายคน ถ้าเฒ่าอยากทำจริงๆ ก็ไปทำเองหาเงินทำเอง...

ในยุคนั้น (2536) ผมเองยังทำแบบกงสีคือ ทำกับครอบครัวพ่อแม่ ไม่ได้มีเงินเก็บมากมาย จึงมานั่งคิดว่าจะเอาเงินมาจากไหน เลยโทรไปปรึกษาคุณวรวัชร ที่ทำร้าน 7-11 ที่เชียงใหม่ คุณวรวัชรแนะนำว่า ตอนนี้มีไฟแนนท์มากมายเค้ารับจำนองอุปกรณ์ของร้าน7-11 โกหาเงินแค่ก่อสร้างส่วนอุปกรณ์จำนองได้ 100% ส่วนสินค้าก็เครดิตจากซัพพลายเออร์

ผมจึงถามว่าเรามาร่วมทุนกันทำดีไม๊ หลายๆ คนในห้างภูธรที่ทำร้าน 7-11.. ผมจึงชวนเพื่อนๆ คือ วรวัชร (7-11 เชียงใหม่) หาญชัย (7-11อุดร) ธีรชัย (7-11หาดใหญ่) มาหุ้นด้วย ตั้งบริษัท CNB(1993) ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น บ.ยิ่งยงมินิมาร์ท จำกัด.. ส่วนหุ้นเพื่อนๆ ต่อมาก็ไขว้คืนกันจนหมด...

แม้จะได้เงินเพื่อนมาก้อนหนึ่ง ก็ยังไม่พออยู่ดี ผมโทรไปปรึกษาสินเชื่อแบงค์กรุงเทพ อุบล ที่รู้จักกันว่า  ผมอยากกู้เงินสักก้อน เค้าบอกไม่ยาก โกเขียนเช็คมาออกตั๋วเลย ผมงงบอกว่า ง่ายขนาดนั้นเลยเหรอ (ช่วงนั้นพอดีเป็นช่วงเงินนอก BIBF เข้ามา แบงค์หาวิธีปล่อยเงินกู้พอดี)

วันที่ 25 พค 2536 ผมเดินทางเข้า กท ไปเซ็นต์สัญญาเป็นผู้เช่าช่วงสิทธิทำร้าน 7-11ในเขตอีสานใต้.. แต่ก่อนวันนั้น ผมได้แจ้งคุณลิขิตว่า 8 จว.มันเยอะไป ขอทำเป็น 2 เฟส คือ เฟสแรก 3 จว. อุบล สุรินทร์ และศรีสะเกษ ส่วนที่เหลือขอเป็นเฟสสอง และเมื่อครบ 3 ปี ทางบริษัทถามว่า โกจะทำเฟสสองไม๊ ผมบอกไม่เอา เพราะตอนนั้นการทำ 7-11 เป็นสิ่งที่เหนื่อยมาก...และต่อมาอำนาจได้เป็นจังหวัด ผมจึงได้เขตเป็น 4 จังหวัดถึงปัจจุบัน...

การทำร้าน 7-11 หลังจากเซ็นต์สัญญากลับมา ผมวางแผนเปิดร้าน 7-11 ซึ่งเราต้องทำเองลงทุนเองทั้งหมด แต่เพื่อมีแบบอย่างสาขาแรก ทางส่วนกลางจึงส่งช่างและทีมงานมาทำให้ดู แต่เราลงทุน และให้เราส่งทีมไปเรียนระบบการจัดการร้านที่ส่วนกลาง..

สาขาแรกเปิดที่กิโลศูนย์ ตรงข้ามแบงค์ไทยพาณิชย์ 7-11 สาขาแรกขายดีมาก ได้รับการตอบรับจากชาวอุบลแบบอุ่นหนาฝาคั่ง ตอนนั้นสเลอปี้ได้รับความนิยมมาก สาขาที่สองคือ สาขาเขื่อนธานี (ปิดแล้ว) สาขาที่สาม ห้าแยกวาริน (ยังเปิดอยู่) สาขานี้ยังคงสภาพเดิมๆ เช่นพื้นกระเบื้องที่ยังใช้ของเก่าตั้งแต่ปี 2536 สาขาที่สี่ตลาดหก (ย้าย) และสาขาที่ห้าสรรพสิทธิ (ยังเปิดแต่ปรับปรุงไม่เหลือสภาพเดิม)...

ในปี 2536 เพียง 6 เดือน ผมเปิดได้ 5 สาขา ซึ่งนับว่าเร็วมากในยุคนั้น ส่วนหนึ่งเพราะเรามีไนท์มินิมาร์ท มีทีมงานอยู่แล้ว แต่ปีต่อๆ มาผมก็เปิดน้อยลงๆ แต่สัญญาบังคับว่า เราต้องเปิดให้ครบทุกจังหวัดใน 3 ปี ทำให้ผมต้องเปิดสาขาที่ 12 ที่จังหวัดสุรินทร์ คือสาขาภักดีชุมพล...

ตามที่เล่าให้ฟังเบื้องต้นว่า เราต้องบริหารทุกอย่างเองตั้งแต่ก่อสร้างร้าน รับและอบรมพนักงานจนถึงนำเข้าสินค้าเอง ยิ่งมีสาขามากขึ้น โกดังเก็บสินค้าก็ต้องใหญ่ขึ้น โชคดีว่าระยะแรกๆ เรารับสินค้าจากยิ่งยงเป็นส่วนใหญ่ จึงลดภาระการเก็บสินค้าไปได้บ้าง แต่เมื่อสาขามากขึ้น การสั่งสินค้าจากยิ่งยงก็มีปัญหามากเรื่อง ชนิดขายไม่เหมือนกัน ผมจึงไปสร้างโกดังที่ถนนคลังอาวุธ แต่เราก็เพิ่มภาระการส่งสินค้าไปถึงสุรินทร์ด้วย นี่เป็นอีกเหตุผลที่ผมไม่ต่อสัญญาเฟสที่สอง...

การทำ 7-11 ของผมแบบที่เล่าตอนแรกคือ ทำแบบไม่มีเงินจริงๆ ทุกอย่างต้องหมุนเงินสด ค่าก่อสร้างต้องคิดว่า จะประหยัดได้อย่างไร ผมต้องลงไปศึกษาการก่อสร้างทุกอย่างเพื่อประหยัด อาทิเช่น อุปกรณ์ทุกชิ้นต้องส่งมาจาก กท มีทั้งค่าขนส่งและค่าติดตั้ง ผมก็บอกให้ช่างเราเรียนรู้ แล้วจ้างรถ 10 ล้อ เข้าไปรับอุปกรณ์ทั้งหมด เพื่อมาติดตั้งเอง และทำมาจนถึงปัจจุบัน..

แต่ปัญหาการทำร้าน 7-11 ที่หนักที่สุดอีกเรื่องคือ เรื่องพนักงาน เพราะจะมีการเข้าออกมาก คุณภาพการบริการ แต่ด้วยสไตร์บริหารแบบถึงลูกถึงคนของผม ทำให้พนักงานหลายคนตั้งใจทำงานด้วยทุ่มเทกับงาน จนทำให้ร้านเราได้รับคำชมเรื่องความสะอาด ความเป็นระเบียบจากส่วนกลางเสมอๆ..

แต่แล้ววันหนึ่งประมาณปี 2542 ผมก็รู้สึกเบื่อ 7-11 มากจึงโทรไปแจ้งฝ่ายบัญชี ขอขายคืน ซึ่งตอนนั้นผมมี 15 สาขา... ขอยกไปตอนต่อไปครับ...

ภาพ:วันเซ็นต์สัญญา (จากซ้าย)คุณลิขิต ฟ้าประโยชม์ คุณก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ ผม(ไพบูลย์ จงสุวัฒน์) คุณวรวัชร ตันตรานนท์ คุณธีรชัย เชี่ยงเห็น...

ตำนานค้าปลีกเมืองอุบล-7-11-โกเฒ่า-01.jpg