guideubon

 

ตอนที่ 15 กำเนิด 7-11 อีสานใต้ จะขายคืนสิทธิเซเว่น

ขายคืนสิทธิ์-7-11-อีสานใต้-01.jpg

ปี 2536-2538 เป็นปีที่ขยายสาขาให้ครบ 12 สาขาใน 3 จังหวัด

ปี 2539-2543 การขยายตัวของเราก็ลดลง เพราะเรื่องเงินทุน และความยุ่งยากในการจัดการ ที่ต้องทำเองทุกอย่าง โดยเฉพาะการกระจายสินค้า รวมทั้งการที่ต้องไปบริหารโรบินสันยิ่งยง แต่การไม่เปิดสาขาเพิ่ม ทำให้ผมมาลงรายละเอียดการจัดการได้มากขึ้น เพราะพนักงานส่วนใหญ่ ยังไม่เข้าใจระบบการจัดการร้าน 7-11, การบริหารสินค้าในร้าน รวมทั้งการบริหารบุคคล นี่คือ 3 เรื่องที่ต้องให้ความรู้ผจก. สาขา เพราะ ผู้จัดการสาขาเป็นตัวแปรสำคัญ ในการบริหารสาขา ต้องรู้ว่าขายอะไร ขายให้ใครและขายเมื่อไร

สิ่งที่ผมคิดตอนนั้นคือ ทำอย่างไร ผจก.สาขา จะจำได้ว่าสินค้าใน 7 มีอะไรบ้าง อะไรขายดี และอะไรขายไม่ดี และขายเท่าไร ระบบส่วนกลางใช้สินค้าท๊อป 100/200/300 ถึง 500 แต่ผมคิดว่ามันจำยาก ผมจึงให้ ผจก. ทำรายงานสินค้าท๊อปไฟท์ โลว์ไฟท์ (สินค้าขายดี 5 ตัว และขายต่ำ 5 ตัว) ในแต่ละกลุ่มสินค้า นอกจากนี้ ผมก็สอนวิธีควบคุมสต๊อกสินค้า เพราะสิ่งสำคัญที่สุดคือ วิธีการสั่งสินค้าเพื่อให้มีสินค้าขายในจำนวนที่พอไม่มากไปหรือน้อยไป นี่คือเรื่องการจัดการสินค้าที่ผมสอน ผจก.สาขาในระยะแรกๆ

การทำรายงานท๊อปไฟท์โลว์ไฟท์มาส่งผม ทำให้ผมรู้ด้วยว่า สินค้าตัวไหนขายดี หรือขายไม่ดี ทำให้เวลาผมไปตรวจสาขา ก็รู้ว่าร้านขาดสินค้าหรือไม่ นั่นคือเรียนรู้จากเด็ก เพื่อควบคุมเด็ก

การบริหารจัดการร้าน ผมเน้นให้ทุกร้านต้องสะอาด สวยงามและเป็นระเบียบ เรื่องนี้ทำให้เราได้รับคำชมจากส่วนกลางเสมอๆ เพราะร้านเราสะอาดกว่าร้าน 7 ทั่วไป เวลาส่วนกลางมาตรวจร้าน เค้าถามว่า โกสอนเด็กยังไง ร้านถึงสะอาด ผมตอบว่า ผมบอกเด็กว่า ความสะอาดเป็นเรื่องปกติ ถ้าไม่สะอาดคือผิดปกติ เพราะฉะนั้น ทุกคนต้องช่วยทำให้ร้านเราเป็นปกติ ไม่ผิดปกติ

การบริหารบุคคล ผมให้ ผจก.สาขา เป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในสาขา (อาจจะผิด) เป็นผู้สั่งสินค้า บริหารคนและตรวจดูทุกอย่างให้เรียบร้อย แต่ด้วยพนักงานส่วนใหญ่อายุยังน้อย และเรียนมาน้อย (ระยะแรกๆ แทบไม่มีจบปริญญาตรีมาสมัคร) จึงมักมีปัญหาการใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผล และในยุคนั้น เราพาพนักงานไปวัดป่านานาชาติในวันพระด้วย เพื่อได้ทำบุญฟังพระธรรมเทศนาด้วย

แต่ยังไงก็ตาม ยอดขายเราก็ไม่สูงพอที่จะมีกำไรได้ ในช่วงปี 2540-2542 ซับแอร์เรียทุกเขต ต่างก็มีปัญหากันมาก ทั้งเรื่องสภาพคล่องและกำไรที่จะมาซื้อสินค้าลงร้าน ประมาณปี 2541 วันหนึ่งผมจึงโทรหาฝ่าย บช.ซีพีเซเว่น ผมบอกว่า ผมจะขายคืนสิทธิเซเว่น เพราะรู้สึกว่าทำไม่ไหว ตอนนั้นผมมี 15 สาขา และเราคุยรายละเอียดการซื้อคืนจนพอใจ ก็นัดวันเซ็นต์สัญญา

หลังจากนั้นอาทิตย์กว่าๆ ผมก็พาครอบครัวขับรถไปเที่ยวภาคเหนือเหมือนทุกปี จุดหมายคือ เชียงใหม่ แต่เราแวะพักนครสวรรค์ ซึ่งผมมีเพื่อนสนิทคือ คุณสันติ คุณาวงศ์(เฮียเล้ง) เจ้าของห้างแฟร์รี่แลนด์ เย็นวันนั้นเฮียเล้งพาไปกินข้าว ผมก็เล่าให้ฟังว่า เฮียเล้งต่อไปผมสบายแล้ว เฮียเล้งสบายอะไร ผมบอกจะผมขายสิทธิ 7 คืนซีพี เฮียเล้งพูดแบบตกใจว่า เฮ้ย โกเฒ่า คนไทยที่มีเงินเป็น 100 ล้าน มีนับไม่ถ้วน แต่คนมี 7 แบบโกนี่ มีแค่ 2-3 คนเอง โกขายคืนแล้วจะไปทำอะไร ห้างก็ไม่ได้ทำแล้ว คิดดีๆ

 ผมใช้เวลาคิดหลายวัน ในช่วงเที่ยวภาคเหนือ และเมื่อกลับมาถึงบ้าน ก็โทรไปบอกฝ่ายบัญชีว่า ผมเปลี่ยนใจไม่ขายแล้ว นับว่าเฮียเล้งมีบุญคุณต่อผมไม่น้อยเลยที่เตือนสติในวันนั้น

หลังจากนั้นไม่กี่เดือน กลุ่มเจริญศรีที่ทำร้าน 7 ที่อุดร, ขอนแก่น, สกลนคร และหนองบัวลำภู ก็ขายคืนสิทธิให้ซีพีเซเว่นส์ ส่วนผมก็มุ่งมั่นพยายามต่อไป เดือนไหนเงินไม่พอจ่ายค่าเงินเดือนลูกน้อง ก็ใช้วิธีขายเช็คบ้าง ยืมญาติบ้าง จนกระทั่งวันหนึ่งฟ้าก็สดใสขึ้น ตามภาคต่อไปครับ

ขายคืนสิทธิ์-7-11-อีสานใต้-02.jpg

ภาพ : การเปิดสาขาเบญจะมะ วันที่ 18 พ.ย.2542 โดยผู้ว่าศิวะ มาเป็นประธาน และมีชาวหอการค้ามาร่วมพิธีเปิด

ตำนานค้าปลีกเมืองอุบล-7-11-โกเฒ่า-01.jpg

 

copyright 2005 www.GuideUbon.com สำนักงานไกด์อุบลดอทคอม เลขที่ 89/1 ถนนพโลรังฤทธิ์ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี 34000 ติดต่อไกด์อุบล : webmaster@guideubon.com | msn : guide_ubon@hotmail.com | Tel : 080-4850511