จังหวัดอุบลราชธานี เป็นจังหวัดหนึ่งที่มีทำเลที่ตั้ง เป็นที่ราบอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรหลากหลายชนิด มีแม่น้ำหลายสายไหลมาบรรจบกัน ทำให้เหมาะสมแก่การพักพิงตั้งถิ่นฐานมาตั้งแต่อดีต ได้พบร่องร่อยการอยู่อาศัย ของคนตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ไม่ต่ำกว่าหนึ่งหมื่นปีมาแล้ว จากที่เคยดำรงชีพแบบสังคมล่าสัตว์ ได้พัฒนาการเข้าสู่สังคมเกษตรกรรม เมื่อประมาณ 3,000-2,000 ปี ที่ผ่านมา พบหลักฐานกระจายอยู่หลายพื้นที่ ทั้งตะวันออกและตะวันตกของจังหวัดอุบลราชธานี รวมถึงได้พบภาพเขียนสี ตามเพิงผามากในบริเวณตะวันออกริมแม่น้ำโขงด้วย ร่องรอยชุมชนโบราณสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่สำคัญ เช่น
1. แหล่งโบราณคดีบ้านโนนสาวเอ้ ตำบลกุดลาด อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี พบเศษภาชนะดินเผาที่สำคัญ คือ มีการตกแต่งผิวภาชนะ ด้วยลายเขียนสีแดง เป็นลายเส้นหยักและลายคล้ายดอกไม้ ซึ่งอาจเป็นลักษณะเฉพาะ ของภาชนะลายเขียนสีในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี
2. แหล่งโบราณคดีบ้านก้านเหลือง ตำบลขามใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี อยู่ห่างจากโนนสาวเอ้ ไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ 5 กิโลเมตร พบเศษภาชนะดินเผา ขนาดและรูปทรงต่างๆ ภาชนะดินเผาขนาดใหญ่เจาะรูตรงกลาง ซึ่งเชื่อว่าเป็นภาชนะบรรจุกกระดูก ในพิธีกรรมฝังศพครั้งที่สอง ของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ในระยะแรก จะฝังศพทั้งโครงรวมกับภาชนะดินเผา และเครื่องประดับต่างๆ ต่อมาจึงเปลี่ยนเป็นการนำกระดูกขึ้นมา บรรจุลงในภาชนะแล้วฝังอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งพบเป็นจำนวนมากในบริเวณลุ่มแม่น้ำมูล - ชี
3. ผาแต้ม อำเภอโขงเจียม เป็นกลุ่มภาพเขียนที่มีขนาดใหญ่และยาวที่สุด เขียนต่อเนื่องเต็มหน้าผา 4 แห่ง คือ ผาแต้ม ผาหมอน และผาหมอนน้อย ส่วนใหญ่เขียนด้วยสีแดง เป็นภาพมือคนมากที่สุด ภาพสัตว์ เช่น ช้าง ปลา เต่า สุนัขป่า วัน หรือ ควาย ภาพคล้ายตุ้มจับปลาแต่มีแขน และภาพสัญลักษณ์อื่นๆ รูปรอยแผ่นหินนี้ อาจเป็นภาพที่เขียนขึ้นเพื่อพิธีกรรม ความอุดมสมบูรณ์ หรือภาพเล่าเรื่องราววิถีชีวิต สภาพความเป็นอยู่ของผู้คนสมัยนั้น
ชุมชนสมัยประวัติศาสตร์ ในเขตจังหวัดอุบลราชธานี เริ่มขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 10-12 เมื่อชุมชนขนาดใหญ่ ได้รวมตัวกันหนาแน่น และพัฒนาสังคมขึ้น รวมทั้งชุมชนโบราณในเขตจังหวัดอุบลราชธานี ตั้งอยู่ในทำเลที่เหมาะสม ในการติดต่อ ทั้งจากชุมชนบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งผ่านมาทางลุ่มแม่น้ำมูล-ชี บริเวณที่ราบลุ่มริมทะเลสาบเขมร รวมถึงที่ราบลุ่มปากแม่น้ำโขง |