
หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ อุบลราชธานี เป็นส่วนราชการส่วนกลาง สังกัดหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร กระทรวงศึกษาธิการ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันพุธที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2538 และพระราชทานพระราชานุญาตให้ใช้ชื่ออาคารว่า "หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร อุบลราชธานี" เป็นสถาบันระดับชาติที่ทุกประเทศมีไว้ เพื่ออนุรักษ์และเก็บรักษาเอกสารที่ล้นกระแสการปฏิบัติงานของส่วนราชการไว้เป็นเอกสารประวัติศาสตร์ อันเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติสืบไป
อาคารและที่ตั้ง
ลักษณะอาคารเป็นอาคารคอนกรีตแข็งแรง 3 ชั้น หลังคาทรงไทย ส่วนยอดหลังคาทำเป็นองค์พระธาตุพนม สัญลักษณ์แห่งพื้นถิ่นอีสาน เนื้อที่อาคาร 2,000 ตารางเมตร ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลตำบลอุบล ถนนเลี่ยงเมือง หมู่ 10 บ้านหนองหอย ตำบลแจระแม อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ในบริเวณพื้นที่สาธารณะเดิมที่เคยใช้เป็นสนามม้า จำนวน 22 ไร่
อาณาเขต
ทิศเหนือ จด แฟลตที่พักอาศัยข้าราชการกรมการปกครองและสนามกีฬาเทศบาลตำบลอุบล
ทิศใต้ จด ศูนย์วิทยพัฒนา มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช อุบลราชธานี
ทิศตะวันออก จดซอยสีห์พนมและถนนเลี่ยงเมือง
ทิศตะวันตก จด กองกำกับการ 3 กองบังคับการฝึกพิเศษ (ค่ายพระยอดเมืองขวาง)
โครงสร้างหอจดหมายเหตุแห่งชาติ
พระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการ กรมศิลปากร กระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2538 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2541 ได้กำหนดหน้าที่ของหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ไว้ดังนี้
- รวบรวม ประเมินคุณค่า เก็บรักษา ให้บริการเอกสารสำคัญของชาติแก่หน่วยราชการ องค์การรัฐวิสาหกิจ และประชาขนทั่วไป
- ดำเนินการเกี่ยวกับงานการศึกษา ค้นคว้า และวิจัย เพื่อพัฒนาและเผยแพร่เอกสารสำคัญของชาติ
- บันทึกเหตุการณ์สำคัญของชาติที่เกิดขึ้นทั้งในประเทศ และนอกประเทศ
- ดำเนินการเกี่ยวกับภาพยนตร์แห่งชาติ
- ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงาน ของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง หรือที่ได้รับมอบหมาย
บทบาทหน้าที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ อุบลราชธานี
นอกเหนือจากมีบทบาทหน้าที่ ตามโครงสร้างของหอจดหมายเหตุแห่งชาติแล้ว ยังมีหน้าที่สำคัญในการติดต่อประสานงาน กับทุกส่วนราชการใน 19 จังหวัด ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในส่วนการถือปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยงานสารบรรณ พ.ศ.2526 โดยเฉพาะในเรื่อง การรับมอบเอกสารราชการที่มีอายุครบ 25 ปี การฝากเก็บเอกสารราชการ และการทำลายเอกสารราชการ
การได้มาของเอกสารที่เก็บรักษาไว้เป็นเอกสารสำคัญของชาติ หรือเอกสารจดหมายเหตุ ในหอจดหมายเหตุแห่งชาติ จำแนกได้ดังนี้
- รับมอบเอกสารจากส่วนราชการ ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยงานสารบรรณ พ.ศ. 2526 หมวด 3 การเก็บรักษา ยืม และการทำลายหนังสือ
- รับมอบเอกสารตามมติคณะรัฐมนตรี ว่าด้วยการคุ้มครองเอกสาร พ.ศ.2520
- รับมอบเอกสารตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540
- รับมอบเอกสารจากการบริจาค การแลกเปลี่ยน การจัดซื้อและส่วนราชการมอบให้
การให้บริการของหอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ อุบลราชธานี
- บริการค้นคว้าวิจัยจากเอกสารจดหมายเหตุ ทั้งสำเนาต้นฉบับ และสำเนาไมโครฟิล์ม
- บริการให้คำแนะนำเรื่องการจัดเก็บ และทำลายเอกสารราชการตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยงานสารบรรณ พ.ศ.2526
- บริการให้คำแนะนำในการค้นคว้าวิจัยเอกสาร
หอจดหมายเหตุหอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ อุบลราชธานี เปิดทำการในวันและเวลาราชการสอบถามรายละเอียดได้ที่ โทรศัพท์ (045) 285522-3

|