นางรำ ม.ราชภัฏอุบลฯ งานแห่เทียนอุบล 2566
เตรียมพบกับความตระการตางานแห่เทียนสุดยิ่งใหญ่ ด้วยขบวนเทียนหลวงพระราชทาน “ใต้ร่มพระบารมี อุบลราชธานี ฮุ่งเฮือง เมืองธรรม” จัดโดย มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ในงานประเพณีแห่เทียนพรรษาจังหวัดอุบลราชธานี “122 ปี ทวยราษฎร์ใฝ่ธรรม งามล้ำเทียนพรรษา” ระหว่างวันที่ 30 กรกฎาคม - 3 สิงหาคม 2566 ณ บริเวณทุ่งศรีเมือง ถนนรอบทุ่งศรีเมือง
ผศ.ดร.วรางคณา วุฒิช่วย ผู้ช่วยอธิการบดี ซึ่งพ่วงด้วยตำแหน่งประธานสาขาวิชานาฏศิลป์และการละคร หรือที่คณาจารย์ บุคลากร และนักศึกษา เรียกว่า “คุณแม่” ได้เล่าให้ฟังถึงที่มาของชุดการแสดง “ใต้ร่มพระบารมี อุบลราชธานี ฮุ่งเฮือง เมืองธรรม” ว่า เป็นชุดการแสดงที่จะใช้ในพิธีเปิดงานประเพณีแห่เทียนพรรษาจังหวัดอุบลราชธานี ประจำปี 2566 โดยเป็นผลงานการแสดงที่สร้างสรรค์ขึ้นมาเพื่อถวายพระพรชัยและน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ พระบารมีแห่งราชวงศ์จักรีที่ทรงปกเกล้าชาวประชาด้วยทศพิธราชธรรม ให้พสกนิกรชาวอุบลราชธานีอยู่ร่มเย็นเป็นสุขใต้ร่มพระบารมีแห่งน้ำพระทัย
พระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ ได้ทรงอุปถัมภ์พระพุทธศาสนาให้เจริญวัฒนาถาวรรุ่งเรืองมาอย่างยาวนาน จึงต้องพิถีพิถันในการประดิษฐ์ท่ารำและออกแบบชุดการแสดงเป็นอย่างมาก รวมทั้งต้องฝึกซ้อมการรำอย่างหนักให้กับนักศึกษา กำกับควบคุมวงดนตรี การขับร้องเพลง “ใต้ร่มพระบารมี อุบลราชธานี ฮุ่งเฮือง เมืองธรรม” รวมไปถึงการออกแบบชุดในการแสดงในครั้งนี้ ให้เกิดความเป็นระเบียบสวยงามและลงตัวที่สุด ทำให้มีความกดดันพอสมควร
ด้วยเวลาที่กระชั้นชิดอีกด้วย จึงทุ่มเทแรงกายแรงใจ และซ้อมอย่างหนัก เพื่อให้การแสดงในครั้งนี้สร้างความสุขและรอยยิ้มให้ผู้รับชม แม้จะเหนื่อยล้าเพียงใด แต่สิ่งที่ทำให้ “คุณแม่” ยึดมั่นเสมอมาก็คือ จะต้องทำให้การแสดงออกมาให้ดีที่สุดต้องทุ่มเทอย่างสุดกำลังความสามารถ เพื่อให้ศิลปวัฒนธรรมอันสวยงามทรงคุณค่าคงอยู่สืบไป และทุกครั้งที่การแสดงเสร็จสิ้นจะเกิดความภูมิใจในทุก ๆ ครั้ง ความเหนื่อยล้าก็จะหายเป็นปลิดทิ้ง
สำหรับชุดการแสดง “ใต้ร่มพระบารมี อุบลราชธานี ฮุ่งเฮือง เมืองธรรม” เป็นขบวนรำนำขบวนแห่เทียนพรรษา ผู้แสดงประกอบไปด้วยนักศึกษาคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สาขาวิชานาฏศิลป์และการละคร 100 คน รำถวายพระพร ฯ จากการตีบทของนาฏศิลป์ไทยตามคำร้องผสมกับท่ารำอีสาน และนักศึกษาสาขาวิชาดนตรีอีก 50 คน จาก “วงบัวอุบล” ซึ่งเป็นวงดนตรีประจำมหาวิทยาลัยที่มีความโดดเด่นไม่เหมือนใคร ในเรื่องการนำดนตรีพื้นบ้านผสมผสานกับดนตรีออเคสตราเพิ่มความสนุกสนานแปลกใหม่และทันสมัย
ซึ่งการขับร้องเพลงประกอบการแสดงในครั้งนี้ โดยอาจารย์และบุคลากรคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ในบทเพลง “ใต้ร่มพระบารมี อุบลราชธานี ฮุ่งเฮือง เมืองธรรม” ประกอบไปด้วยการเกริ่นสาละวัน ลำผญา ลำเดินอุบล เพลงแทรก ลำเต้ยโขง ปิดท้ายด้วยลำเต้ยอีสาน
กว่า 122 ปี งานประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษาจังหวัดอุบลราชธานี ที่มีมาอย่างยาวนานได้รับการสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น มีวิวัฒนาการตามยุคสมัย เกิดช่างแกะสลักเทียนรุ่นใหม่ ๆ มาต่อยอดงานพุทธศิลป์ถิ่นอารยธรรม อันล้ำค่า และขบวนฟ้อนรำหนึ่งในองค์ประกอบของขบวนแห่เทียนที่ขาดไม่ได้ เป็นทั้งสีสัน รอยยิ้ม ความทรงจำอันสวยงามสร้างความประทับใจทั้งคนแสดงและผู้ชมในทุกปี ที่สำคัญเป็นเวทีให้คณาจารย์และนักศึกษาสาขาวิชานาฏศิลป์และการละคร มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาคิดค้นท่ารำใหม่ ๆ ในทุกปีเพื่อให้ผู้ชมประทับใจ และร่วมกันอนุรักษ์มรดกอันล้ำค่านี้ไว้ให้คงอยู่สืบต่อไป