เชิญประกวดสุนทรพจน์ “ตามรอยพระยุคลบาท ช่วยชาติได้อย่างไร”ชิงถ้วยพระราชทานฯ
ขอเชิญร่วมประกวดสุนทรพจน์ ถวายงานผ่านภาษา “ตามรอยพระยุคลบาท ช่วยชาติได้อย่างไร”ชิงถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หัวข้อ “สามัคคีนำทางสร้างสันติสุข”
มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ร่วมกับ สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์ จัด การประกวดสุนทรพจน์อุดมศึกษาเฉลิมพระเกียรติฯ ครั้งที่ 15 (รอบคัดเลือกภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) ประจำปี 2557 ชิงถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หัวข้อ “สามัคคีนำทางสร้างสันติสุข” และขอเชิญ นิสิต นักศึกษา และผู้สนใจ เข้าร่วมชมการประกวด โดยมี ตัวแทนสถาบันอุดมศึกษา ในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 36 สถาบันเข้าร่วมประกวดในครั้งนี้ กำหนดจัดงานในวันศุกร์ที่ 20 กันยายน 2557 เวลา 08.30 น.เป็นต้นไป ณ ห้องแกรนด์บอลรูม อาคารเทพรัตนสิริปภา มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
การประกวดสุนทรพจน์อุดมศึกษาเฉลิมพระเกียรติฯ นับว่าเป็นกิจกรรมสร้างสรรค์พัฒนาสังคมของสมาคมศิษย์เก่าจุฬาฯ ที่มุ่งก่อเกิดสารัตถประโยชน์ ในการช่วยเพิ่มพูนความรอบรู้ เคียงคู่ประสบการณ์ให้แก่นิสิตนักศึกษาจากสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ ทั่วประเทศ นอกเหนือจากการเรียนตามหลักสูตรปกติ และช่วยเสริมสร้างค่านิยมในการแสดงออกของเยาวชนไทยอย่างมีประโยชน์ เกิดคุณค่า ทั้งยังสร้างเสริมให้เกิดการเรียนรู้เกี่ยวกับพระราชกรณียกิจในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อันมีเป็นอเนกประการ สืบสานพระราชกรณียกิจ ตามแนวทางแห่งพระราชดำริและน้อมนำพระราชปณิธานไปใช้ให้เกิดประโยชน์ ในการดำเนินชีวิตและแก้ไขปัญหา อีกทั้งเป็นการสร้างเสริมทัศนคติและปลูกฝังเจตคติ ให้แก่นิสิตนักศึกษา ที่จะมุ่งมั่นบำเพ็ญตนและประพฤติปฏิบัติ ตามรอยทางแห่งพระยุคลบาท เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาประเทศชาติ และประชาชนอีกทางหนึ่ง
สุนทรพจน์ มีความหมายตามรูปคำคือ การพูดดี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เคยมีพระราชดำรัสเกี่ยวกับการพูดดีว่าเป็นการพูดที่มีสาระ ผู้ฟังได้ประโยชน์จากสาระนั้นๆ นำไปคิดเป็นแนวทาง และปฏิบัติตามแนวทางนั้นได้ ผู้พูดพูดอย่างสบาย ผู้ฟังก็สบายๆ นำสาระประโยชน์จากการฟังไปใช้ตามวัตถุประสงค์ของผู้พูด ไม่ว่าจะเป็นด้านความรู้ ความคิดหรือแนวทางปฏิบัติ รูปแบบการเขียนสุนทรพจน์ แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนนำ เนื้อหา และส่วนลงท้าย
ส่วนนำ เป็นการบอกกล่าวให้ผู้ฟังทราบว่าผู้พูดเป็นใคร พูดในฐานะอะไร โอกาสใด แล้วนำเข้าสู่เนื้อหา ด้วยวิธีการเร้าความสนใจ เช่น การใช้สุภาษิต คำคม เหตุการณ์ปัจจุบันที่สอดคล้องกับเรื่องราวที่จะกล่าวต่อไป ซึ่งไม่ควรยาวนัก
ส่วนเนื้อหา คือ หัวใจสุนทรพจน์ แยกประเด็นให้ชัดเจน ตีประเด็นให้แตก ขยายความให้ตรงประเด็น ยกตัวอย่างตามประเด็น อย่าให้ตกประเด็นที่สำคัญ ตรวจสอบได้ ต่อ เติม หรือตัดประเด็นต่างๆ ให้เหมาะสมกับเวลา หลักฐานอ้างอิงต้องถูกต้อง
ส่วนลงท้าย อาจทำได้หลายวิธี เช่นสรุปเนื้อหา เสนอข้อคิดหรือแนวทางปฏิบัติ เน้นประเด็นสำคัญ ตั้งความหวังหรือกระตุ้นให้คิดหรือทำต่อไป ด้วยการใช้ภาษา หรือคารมที่ชวนให้เกิดความประทับใจแก่ผู้ฟัง
สอบถามราบละเอียดได้ที่ ศูนย์ประสานงานการประกวดสุนทรพจน์อุดมศึกษาเฉลิมพระเกียรติฯ ครั้งที่ 15 สำนักงานพัฒนานักศึกษา มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โทรศัพท์ 045-353009