guideubon

 

คำสั่งจังหวัดอุบลราชธานี ระงับการแพร่ระบาดโควิด-19

คำสั่งอุบล-ป้องกันโควิด19-01.jpg

วันที่ 3 มกราคม พ.ศ.2565 นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ออกคำสั่งจังหวัดอุบลราชธานี ที่ 3-2565 ปิดสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เป็นการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 4-17 มกราคม พ.ศ.2565

เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ของประเทศไทย และในจังหวัดอุบลราชธานี มีแนวโน้มการแพร่ระบาดเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น เพื่อยกระดับมาตรการป้องกัน และควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดอุบลราชธานี มีมติให้ปิดสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) ในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี เป็นการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม พ.ศ.2565 ถึงวันที่ 17 มกราคม พ.ศ.2565 ได้แก่

1. ให้โรงเรียน หรือสถานศึกษา งดการเรียนการสอนที่ใช้อาคาร (แบบ On Site) โดยให้มีการเรียนการสอนผ่านระบบสื่อสารช่องทางหลัก (On air) ระบบอินเตอร์เน็ต (On line) แอปพลิเคชั่น (On demand) และการให้แบบฝึกหัด ให้การบ้านไปทำที่บ้าน (On hand) ตามความเหมาะสม

2. โรงภาพยนตร์ ทุกแห่ง

3. สถานออกกำลังกายยิม ฟิตเนส ทุกแห่ง

4. ร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม ปิดให้บริการในส่วนที่เป็นห้องปรับอากาศ โดยให้บริการจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม เพื่อนำกลับไปบริโภคที่บ้านหรือสถานที่อื่น ๆ (Take Away)
.
สำหรับร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีพื้นที่เปิด ที่อากาศสามารถระบายถ่ายเทได้ดี สามารถเปิดให้บริโภคอาหารและเครื่องดื่มในร้านได้

5. ให้ปิดลานกีฬา สนามกีฬาหรือสถานที่ออกกำลังกาย ที่ใช้ในการแข่งขัน ฝึกซ้อม และเล่นกีฬาประเภทที่มีการสัมผัสกันระหว่างผู้เล่น เช่น ฟุตบอล ฟุตซอล บาสเกตบอล วอลเลย์บอล ตะกร้อ ฯลฯ
.
ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นที่จะแข่งขันให้ขออนุญาตต่อคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดอุบลราชธานี โดยผู้เล่น กรรมการ ผู้จัดการแข่งขัน และบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการแข่งขันต้องจัดให้มีการตรวจ ATK ก่อนการแข่งขัน ไม่น้อยกว่า 48 ชั่งโมง

ผู้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนี้ มีโทษตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และมีความผิดตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แล้วแต่กรณี

อนึ่ง เนื่องจากเป็นกรณีที่มีความจำเป็นรีบด่วน หากปล่อยให้เนิ่นช้าไปจะก่อให้เกิดผลเสียหายอย่างร้ายแรงแก่สาธารณชน หรือผลกระทบต่อประโยชน์สาธารณะ จึงไม่อาจให้คู่กรณีใช้สิทธิโต้แย้งตามมาตรา 30 วรรคสอง (1) แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539

คำสั่งอุบล-ป้องกันโควิด19-02.jpg
คำสั่งอุบล-ป้องกันโควิด19-03.jpg