พิธีฉลองสมณศักดิ์ พัดยศ และทำบุญอายุวัฒนมงคล พระเทพวราจารย์
ขอเชิญชวนชาวอุบล และพุทธศาสนิกชนร่วมพิธีฉลองสมณศักดิ์ พัดยศ พระราชาคณะชั้นเทพ และทำบุญอายุวัฒนมงคล พระเทพวราจารย์ (ศรีพร วรวิญฺญู ป.ธ.9 ,Ph.D.) เจ้าคณะจังหวัดอุบลราชธานี และเจ้าอาวาสวัดมณีวนาราม ในวันที่ 5 พฤษภาคม 2560 วัดมณีวนาราม (วัดป่าน้อย) อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ตั้งแต่เวลา 09.00 น. เป็นต้นไป
สำหรับผู้ที่มีโอกาสรู้จักท่านพระเทพวราจารย์ (ศรีพร วรวิญฺญู) ตอนเป็นท่านเจ้าคุณแล้ว หรือเคยฟังปาฐกถาธรรม เทศน์แสดงธรรม ทางสถานีวิทยุ โทรทัศน์ท้องถิ่น มีน้อยคนนักที่จะได้มีโอกาสรู้จักตัวตน และสัมผัสชีวิตที่แท้จริงของท่านในวัยเยาว์ จากชีวิตสามเณรจนเป็นมหา ปธ.6 ถึง ปธ.9 และได้ ป.โทเกียรตินิยม และปริญญาเอกจากประเทศอินเดียอีกด้วย ซึ่งโยมพี่ นางเพ็ชรา ปิ่นทอง (โยมอุปัฏฐาก) ได้เขียนไว้ในหนังสือที่ระลึก งานทำบุญฉลองพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช แต่งตั้งเจ้าคณะจังหวัดอุบลราชธานี และตราตั้งเจ้าอาวาสวัดมณีวนาราม ตีพิมพ์ พ.ศ.2552 กล่าวไว้ดังนี้
กว่าจะมาถึงวันนี้ ชีวิตของท่านเจ้าคุณ มิได้ราบรื่นเหมือนที่ใครๆ คิด ท่านมาจากครอบครัวที่ขาดแคลนไปเสียทุกอย่าง วิธีเดียวที่จะได้รับการเรียนการศึกษาที่ดี ต้องมาบวชเป็นสามเณร ที่วัดบ้านเกิดของท่าน คือวัดศรีบุญเรือง อำเภอมุกดาหาร จังหวัดนครพนม เมื่อท่านต้องย้ายเข้ามาเรียนต่อ ณ สำนักเรียนวัดมหาธาตุ ตามธรรมเนียมท่านต้องสึกแล้วบวชเพื่อเข้ามาเรียน ตามธรรมเนียมของสำนักเรียนวัดมหาธาตุ
ประมาณกลางปี 2526 แม่สายบัว วงษ์จันทรา กลับจากถือศีลอุโบสถ ณ วัดมหาธาตุ เล่าให้ฟังว่า ได้แวะไปหาท่านเจ้าคุณอาจารย์พระราชเมธี (วรวิทย์) สมณศักดิ์ในขณะนั้น แม่ได้รับอุปการะลูกสามเณรน้อยองค์หนึ่งชื่อ ศรีพร ราชิวงศ์ ข้าพเจ้าได้ไปร่วมงานบวชพร้อมแม่และน้องสาว และวินาทีแรกที่ได้รู้จักท่าน ด้วยบุคลิกที่เรียบร้อย พูดน้อย ทำให้รู้สึกถูกชะตาและเอ็นดู เพราะในเวลานั้น ท่านดูเป็นสามเณรน้อยที่ตัวเล็กผอมบาง ดูแล้วไม่ค่อยแข็งแรง ทำให้แม่ข้าพเจ้าค่อนข้างเป็นห่วงท่านเป็นพิเศษ บ่อยครั้งที่ได้มีโอกาสไปรับแม่ตอนเย็นหลังพิธีถือศีลอุโบสถ แม่จะแวะไปเยี่ยมสามเณรศิริพร โดยถวายเงินไม่มากก็น้อยไว้ให้ใช้ บางครั้งไม่เจอสามเณรศิริพร แม่จะนั่งคุยกับพระเดชพระคุณเจ้าคุณพระอาจารย์ด้วยความถูกอัธยาศัย ส่วนมากการสนทนา จะเป็นการสอบถามการเรียนของสามเณรเป็นหลัก ทำให้ข้าพเจ้าเริ่มต้นเรียนรู้ชีวิตของสามเณรศรีพร ได้ติดตามเฝ้าดูการเรียนของเณรน้อยองค์นี้มาตลอด
การเป็นคนมีมานะเรียนเก่ง เพราะแสวงหาความรู้จากสำนักเรียนที่อื่นเสริม นอกเหนือจากการเรียนรู้ที่สำนักเรียนวัดมหาธาตุ แม้นบางครั้งจะมีอุปสรรคในด้านการศึกษา หรืออุปสรรคทางด้านสุขภาพ แต่ท่านก็ไม่เคยท้อแท้ใจ จนเรียนจบได้ ปธ.6 ซึ่งพวกเราในครอบครัวรู้สึกดีใจ และตื่นเต้น และยิ่งดีใจยิ่งขึ้นเมื่อในไม่กี่ปีถัดมา ท่านก็สอบได้ ปธ.9 ได้รับพระราชทานพัดยศ ที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามในพระบรมมหาราชวัง
ประมาณปี 2530 ครบกำหนดบวชของท่าน ข้าพเจ้าพร้อมสามีและน้องทั้งสอง รวมทั้งน้องชายทั้งสองคนของข้าพเจ้า ได้มีโอกาสทำหน้าที่เป็นเจ้าภาพงานบวชแทนแม่ของข้าพเจ้า ซึ่งขณะนั้นต้องพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลด้วยโรคหัวใจ พิธีบวชที่อุโบสถวัดศรีบุญเรือง อำเภอมุกดาหาร จังหวัดมุกดาหาร เป็นพิธีที่เรียบง่ายสมถะ และเป็นครั้งแรกที่ได้มีโอกาสรู้จักพ่อสมานและแม่สอน ราชิวงศ์ พร้อมน้อง 3 คนของสามเณรศรีพร ได้เห็นความเป็นอยู่ของทั้งครอบครัว ทำให้เข้าใจถึงหัวใจของการต่อสู้ของสามเณรของท่านในเวลาต่อมา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ข้าพเจ้าสามารถสัมผัสความรักความห่วงใยของแม่สามเณรศรีพรได้เป็นอย่างดี หรืออาจเป็นได้ว่า ข้าพเจ้าเป็นลูกของแม่ตัวเอง และเป็นแม่ของลูกชายทั้งสอง และเป็นพี่ๆ ของน้องหลายคน ทุกอย่างจึงไม่ต้องมีคำอธิบาย
เมื่อท่านเป็นพระแล้ว บุคลิกท่านดูดี แข็งแรง สง่างดงาม น่าภูมิใจในความรู้สึกของแม่ข้าพเจ้า และพวกพี่ๆ มหาศรีพรก็มีความมุมานะที่จะเรียนต่อให้สูงขึ้นไปอีก โดยกำหนดว่า จะไปเรียนต่อที่ต่างประเทศข้าพเจ้าจึงได้ช่วยสนับสนุนเรื่องทุนการศึกษา ให้ท่านได้มีโอกาสเรียนต่อในระดับปริญญาโทและเอกตามที่ท่านได้ตั้งใจไว้ รวมทั้งรวมเวลาที่เรียนทั้งหมด 5 ปี แม้จะมีอุปสรรคนานัปการในประเทศที่ไม่คุ้นเคย ภาษา อากาศ และความลำบากต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศอินเดีย ซึ่งขาดแคลนเรื่องสุขอนามัย และคุณภาพชีวิตของคนในสังคม ข้าพเจ้าได้เขียนจดหมายไปพูดคุยกับเจ้าคุณศรีพรบ่อยครั้ง และให้กำลังใจ ตอนหนึ่งในใจความยังจำได้จนบัดนี้คือ ถ้าท่านอยู่ประเทศอินเดียได้ตลอดรอดฝั่ง ท่านจะอยู่ที่ใดในโลกก็ได้ในโลกนี้
มหาศรีพร เขียนจดหมายส่งข่าวผลการเรียนมาเป็นระยะๆ ข้าพเจ้าก็ยังเจ็บจดหมายเหล่านั้นเหมือนเป็นสมบัติอันมีค่า เพราะข้อความในจดหมายเหล่านั้น เมื่อได้อ่านทุกครั้ง ช่างมีความสุขขึ้นใจและภูมิใจในผลสำเร็จของแต่ละชั้นของท่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ได้รับเกียรตินิยมอันดับ 1 ภาษาบาลี และได้รับรางวัล 150 รูปี ถึงแม้เงินจะไม่มาก แต่ความภูมิใจมันยิ่งใหญ่กว่า เพราะการที่เราได้ให้โอกาสใครสักคนได้เรียน ทำสิ่งที่เขาฝันและตั้งใจ จนประสบความสำเร็จตามขั้นตอน ซึ่งมิใช่เรื่องง่ายๆ เลย ซึ่งท่านก็สามารถฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆ จนประสบความสำเร็จตามความตั้งใจ โดยสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาเอก จนไทยใครเรียกท่านว่า ดอกเตอร์พระมหาศรีพร วรวิญญู ป.ธ.9 Ph.D. มันนำมาซึ่งความสุขใจและภูมิใจไม่เฉพาะเราเท่านั้น ที่มีน้องชายที่เก่งเช่นนี้ มันหมายถึงความภูมิใจอันยิ่งใหญ่ และชื่อเสียงของสำนักเรียนวัดมหาธาตุ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระเดชพระคุณอาจารย์คณะแปด เป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับพระและสามเณรในรุ่นต่อมา เป็นเหตุน้อมนำให้ข้าพเจ้าศรัทธา อุปการะให้ทุนการศึกษาและบริจาคทรัพย์เพื่อการเรียน ของสามเณรและพระ ในสำนักเรียนคณะแปดวัดมหาธาตุ และสำนักเรียนวัดโมลีโลกยาราม กทม. ให้สำเร็จการศึกษาในระดับสูงมากมายหลายรูปจนถึงปัจจุบัน
เมื่อท่านได้กลับสู่เมืองไทยในปีแรก ท่านได้ไปดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการศูนย์สังฆศาสน์ธำรง ที่บ้านหนองบัว ตำบลนนทรี อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี หลังจากนั้นไม่นาน ก็ได้รับทราบว่าท่านได้ถูกขอตัวมาช่วยงานมหาจุฬาฯ ที่อุบลราชธานี และมาจำพรรษาที่วัดมหาวนาราม หลังจากนั้นก็แทบไม่ค่อยได้ติดต่อแต่ทราบข่าวความก้าวหน้าของท่านเป็นระยะๆ
ประมาณก่อนพรรษาของปี 2540 ข้าพเจ้าและสามีได้มีโอกาสขึ้นไปเยี่ยมเยือนด้วยความห่วงใย และให้กำลังใจในการทำงาน ตอนนั้นท่านเป็น ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายบริหารศูนย์อบรมเด็กก่อนวัยเรียน พร้อมได้รับทราบว่า ท่านได้ปลูกบ้านให้พ่อและแม่อยู่ในที่เดิมที่ท่านเคยเติบโตมาตั้งแต่ยังเด็กๆ พร้อมกับอุปการะน้องๆ ทั้ง 3 คนให้ได้มีการศึกษาเล่าเรียนในระดับสูง ในเวลาต่อมาท่านได้รับพ่อและแม่มาอุปการะเลี้ยงดู โดยเฉพาะแม่ของท่านเริ่มมีปัญหาเรื่องสุขภาพ ต้องดูแลอย่างใกล้ชิด แสดงให้เห็นถึงความกตัญญูมีจิตใจที่เสียสละและอ่อนโยน เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และเป็นพระที่สมถะ มัธยัสถ์ อดออม ด้วยความเป็นพระสงฆ์ที่ธรรมดาๆ รูปหนึ่ง ซึ่งใครเลยจะคิดว่าสามารถจะตอบแทนและทำสิ่งเหล่านี้ได้
ด้วยผลงานการสอน การปกครอง และการเผยแผ่ธรรมะ ที่ท่านทำเป็นประจำ โดยไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคใดๆ จนกระทั่งได้รับแต่งตั้งดำรงตำแหน่ง รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย วิทยาเขตอุบลราชธานี และในเวลาต่อมา ข้าพเจ้าได้มีโอกาสขึ้นไปเยี่ยมท่านอีกหลายครั้ง หลายวาระและให้กำลังใจพร้อมบริจาคทรัพย์บางส่วน สมทบทุนเพื่อซื้ออุปกรณ์ของใช้ในวิทยาเขตของท่าน ซึ่งขณะนั้นท่านได้กำกับดูแล ในการดำเนินการก่อสร้างอยู่ และนี่ก็เป็นความภูมิใจอีกวาระหนึ่งที่ได้เห็นความก้าวหน้าอันงดงาม และอีกไม่กี่ปีต่อมา ด้วยผลงานอันดีเด่นจากการมุมานะทำงานอย่างหนัก ก็ได้รับทราบจากท่านว่า เดินทางมากรุงเทพฯ เพื่อเข้าเฝ้ารับพระราชทานสมณศักดิ์ แต่งตั้งเป็นเจ้าคุณพระศรีวรเวที พ.ศ.2543
นางเพ็ชรา ปิ่นทอง
ข้าพเจ้าและครอบครัว ได้มีโอกาสร่วมแสดงความยินดี ทำบุญฉลองกับท่าน ณ พระอุโบสถวัดโมลีโลกยาราม กทม. ซึ่งเป็นอีกวาระหนึ่งที่พวกเราสุดแสนจะภูมิใจในรางวัลชีวิตของท่าน ที่เป็นเจ้าคุณที่อายุน้อยและประสบความสำเร็จในเบื้องต้นอย่างงดงามเช่นนี้ และเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2552 ท่านเจ้าคุณได้เข้าเฝ้าสมเด็จ ณ วัดสระเกษ เพื่อรับพระบัญชาแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะจังหวัดอุบลราชธานี
ประวัติย่อ... พระเทพวราจารย์ (ศรีพร ป.ธ. 9, Ph.D.)
นามเดิม พระมหาศรีพร วรวิญฺญู (ราชิวงศ์)
ภูมิลำเนา บ้านศรีบุญเรือง อ.เมือง จ.มุกดาหาร
พ่อ – แม่ นายสมาน – นางสอน ราชิวงศ์
วัน/เดือน/ปีเกิด 5 พฤษภาคม 2508 วันพุธ ปีมะเส็ง
การทำงาน – เจ้าคณะจังหวัดอุบลราชธานี เจ้าอาวาสวัดมณีวนาราม อำเภอเมืองอุบลราชธานี
การศึกษา
- ป.ธ. 9 (เปรียบธรรม 9 ประโยค) วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ กรุงเทพมหานคร ปี 2532
- M.A. (Pali & Sansakrit) (First Class) ปี พ.ศ. 2536 (ปริญญาโท สาขาวิชาภาษาบาลีและสันสกฤต) เกียรตินิยม
- Ph.D. (Pali) (ปริญญาเอก สาขาภาษาบาลี) ปี พ.ศ. 2539
สมณศักดิ์
พ.ศ. 2543 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ในราชทินนามที่ “พระศรีวรเวที”
พ.ศ. 2552 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราช ในราชทินนามที่ “พระราชธีราจารย์”
พ.ศ. 2559 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ ในราชทินนามที่ “พระเทพวราจารย์”