เชิญร่วมงาน วันรำลึกแห่งความดี ชาวอุบลราชธานี ประจำปี 2558
ทุกวันที่ 11 พฤศจิกายน ของทุกปี จังหวัดอุบลราชธานี จัดงาน วันรำลึกแห่งความดีชาวอุบลราชธานี ขึ้น สำหรับปี พ.ศ.2558 นี้ กำหนดจัดระหว่างวันที่ 9-11 พฤศจิกายน 2558 ณ บริเวณอนุสาวรีย์แห่งความดี ทุ่งศรีเมือง ไกด์อุบลขอเชิญชวนชาวอุบลฯ ร่วมกิจกรรมต่างๆ ดังนี้
วันที่ 9 พฤศจิกายน 2558
เวลา 16.00-17.00 น. การประกวดนิทรรศการ
วันที่ 10 พฤศจิกายน 2558
เวลา 16.00-17.00 น. การเสวนาเรื่อง "อุบลราชธานีกับสงครามโลก ครั้งที่ 2" โดยผู้ทรงคุณวุฒิ
เวลา 18.00-18.30 น. การแสดงดนตรี และการแสดงโดยลูกหลานเมืองอุบลราชธานี
เวลา 18.30-20.00 น. การแสดง แสง-สี-เสียง "อนุสาวรีย์แห่งความดี" ประวัติศาสตร์
วันที่ 11 พฤศจิกายน 2558
เวลา 08.00 น. วงดุริยางค์จาก ร.ร.เบ็ญจะมะมหาราช นำขบวนแถว นศ.วิชาทหาร และขบวนธง 7 ชาติ จากบริเวณศาลากลางหลังเก่า เคลื่อนขบวนมายังอนุสาวรีย์แห่งความดี ทุ่งศรีเมือง
เวลา 08.30 น. การบรรเลงเพลง โดยวงออเคสตร้า จาก ม.ราชภัฏอุบลราชธานี และการขับร้องประสานเสียงจาก นร. ร.ร.อนุบาลอุบลราชธานี
เวลา 09.30 น. หน่วยงานต่างๆ วางพวงมาลา ตามลำดับ
เวลา 10.30 น. ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ประธานในพิธี วางพวงมาลา
เวลา 10.45 น. ดำเนินการตามขั้นตอนสากล ผู้แทนชาวต่างประเทศวางพวงมาลา / อ่านสารสดุดี / กล่าวขอบคุณชาวอุบลราชธานี ผู้มีพระคุณต่อเชลยศึก
เวลา 10.55 น. Exhortation
เวลา 10.59 น. Play of Last Post เป่าแตรนอน
เวลา 11.00 น. Two minute silence All (ทุกท่านยืนสงบนิ่ง 2 นาที)
เวลา 11.02 น. Play of Rouse เป่าแตรปลุก
เวลา 11.03 น. ชาวต่างประเทศมอบของที่ระลึกให้ตัวแทนชาวอุบลราชธานี / นายกเทศมนตรีนครอุบลฯ / ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลฯ จากนั้นร่วมปล่อยนกพิราบ และร่วมร้องเพลงสามัคคีชุมนุม
สำหรับ อนุสาวรีย์แห่งความดีชาวอุบลราชธานี นี้ ตั้งอยู่บริเวณมุมด้านทิศเหนือของทุ่งศรีเมือง ติดกับโรงเรียนอนุบาลอุบลราชธานี ย้อนหลังไปเมื่อครั้งสงครามมหาเอเชียบูรพา ในปี พ.ศ.2484 ประเทศญี่ปุ่นได้ส่งทหารเข้าสู่ประเทศไทย และได้จับทหารของฝ่ายสัมพันธมิตรไว้เป็นเชลยศึกจำนวนมาก
จังหวัดอุบลราชธานี เป็นจังหวัดหนึ่งที่ญี่ปุ่นได้ใช้เป็นที่กักกันเชลยศึก ซึ่งประกอบด้วยชาวออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อังกฤษ ฝรั่งเศส ฯลฯ ทหารเหล่านี้ต้องทนทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัส เป็นที่น่าเวทนาต่อชาวอุบลฯ ที่พบเห็นเป็นอย่างมาก ด้วยความเป็นคนมีจิตเมตาสงสาร จึงได้พากันนำเอาอาหารเครื่องนุ่งห่มมาให้เชลยศึกเหล่านี้ แต่ก็ได้รับการขัดขวางจากทหารญี่ปุ่น ถึงขั้นทำร้ายลงโทษ แต่ชาวอุบลฯ ก็ยังแอบเอาอาหารและเครื่องใช้ไปให้เชลยศึกเหล่านี้ ด้วยความเมตตาอย่างไม่เกรงกลัวต่อภัยอันตรายใดๆ ทั้งสิ้น
ด้วยความดีดังกล่าว ภายหลังสงครามมหาเอเชียบูรพาสิ้นสุดลง ฝ่ายสัมพันธมิตรซึ่งเป็นเชลยศึกเหล่านี้ ได้ถูกปลดปล่อย และได้ระลึกถึงคุณงามความดีของชาวอุบลราชธานี ที่มีจิตเมตตากรุณา จึงได้พร้อมใจกันสร้างอนุสาวรีย์แห่งนี้ขึ้น เพื่อเป็นการระลึกว่า ครั้งหนึ่งในชีวิตของพวกเขาได้เคยเป็นเชลยศึกอยู่ที่นี่ และได้รับความเมตตากรุณาจากชาวอุบลราชธานี จนทำให้มีกำลังในที่จะต่อสู้เพื่อให้ชีวิตรอดต่อไป และพร้อมใจกันให้นามอนุสาวรีย์แห่งนี้ว่า อนุสาวรีย์แห่งความดี (The Monument of Merit) โดยในวันที่ 11 พฤศจิกายน ของทุกปี จะมีชาวต่างประเทศเช่น ประเทศอังกฤษ ออสเตรเลีย และเนเธอร์แลนด์ ได้เดินทางมาที่จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อสักการะและให้ความสำคัญกับอนุสาวรีย์แห่งความดี ที่เชลยศึกและลูกหลาน ได้สร้างไว้เป็นอนุสรณ์
และจากการสอบถามชาวต่างประเทศคือ มิสเตอร์ทอม พอร์ตเตอร์ อายุ 72 ปี ลูกครึ่งอังกฤษ-ออสเตรเลีย และมิสเตอร์ไอน์ ลีเวลลี่ ชาวออสเตรเลีย อายุ 60 ปี ที่มาร่วมสักการะอนุสาวรีย์แห่งความดีในปี 2550 ให้ข้อมูลว่า เมืองอุบลราชธานี เป็นเมืองคนดี ในอดีตเมื่อครั้งสงครามมหาเอเชียบูรพา มีบรรพบุรุษที่เป็นญาติๆ ได้ถูกทหารญี่ปุ่นกักกันไว้ที่อุบลราชธานี และมีความเป็นอยู่ที่แร้นแค้นแสนสาหัส ต่อมาเมื่อสงครามสงบ เหล่าทหารที่เคยเป็นเชลยศึกและลูกหลาน ได้มีโอกาสกลับมาร่วมรบในสงครามเวียดนาม และได้มาประจำอยู่ที่อุบลราชธานี จึงได้พร้อมใจกันสร้างอนุสรณ์สถานแห่งนี้ไว้ เพื่อเป็นอนุสาวรีย์แห่งความดีของชาวอุบลราชธานี