เชิญร่วมทำบุญ ผ้าป่าสามัคคี ตัดถนนเส้นใหม่สู่ รพ.๕๐ พรรษาฯ อุบลฯ
โรงพยาบาล ๕o พรรษา มหาวชิราลงกรณ จังหวัดอุบลราชธานี ได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นโรงพยาบาลทั่วไป มีพระภิกษุและประชาชนทั่วไปมารับบริการเป็นจำนวนมาก และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นทุกปี ในปัจจุบันมีการขยายตัวของชุมชนอย่างรวดเร็ว ประกอบกับการเดินทางมาโรงพยาบาล ๕o พรรษาฯ ในเส้นทางเดิม (ปากทางบ้านปลุกดุก ถนนอุบลตระการ – รพ. ๕o พรรษาฯ) มีความแออัด ไม่สะดวกในการสัญจร และไม่สามารถขยายช่องทางจราจรให้เพิ่มมากขึ้นกว่าเดิมได้
โรงพยาบาล ๕o พรรษาฯ หน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานภาคเอกชน ชุมชนบ้านปลาดุก หมู่ที่ 3 และชุมชนบ้านปลาดุกทอง หมู่ที่ 19 จึงได้ริเริ่มจัดทำและก่อสร้างถนนเส้นใหม่ขึ้น โดยมีโรงพยาบาล ๕o พรรษาฯ เป็นหน่วยงานหลักในการประสานและดำเนินการ
โดยถนนเริ่มต้นจาก บริเวณด้านหน้าโรงพยาบาล ๕o พรรษาฯ บริเวณบ้านปลาดุก หมู่ที่ 3 ลงไปทางทิศใต้ ผ่านบ้านปลาดุกทอง หมู่ที่ 19 ผ่านหน้าวัดป่าเทพกิตติมุณี เชื่อมต่อกับถนนสายรอบเมือง 231 บริเวณบ้านดงแสนสุข ตำบลไร่น้อย อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี รวมระยะทางทั้งสิ้น 2.6 กิโลเมตร
ถนนเส้นใหม่ เป็นแนวถนนเส้นเดิมที่มีอยู่แล้ว (กว้าง 6 เมตร) ชุมชนตามแนวถนนเดิมทั้ง 2 ฝั่ง ร่วมบริจาคที่ดินเพื่อทำถนนสาธารณะ ฝั่งละ 3 เมตร ทำให้มีช่องทางจราจรกว้างขึ้น รวมเป็น 12 เมตร และถนนบางส่วนได้ทำการตัดขึ้นมาใหม่ โดยชุมชนบ้านปลาดุก หมู่ที่ 3 และชุมชนบ้านปลาดุกทอง หมู่ที่ 19 บริจาคที่ดินรวมกัน เพื่อทำเป็นถนนสาธารณะเส้นใหม่ กว้าง 20 เมตร ยาว 800 เมตร
โครงการการสร้างถนนเส้นใหม่ โรงพยาบาล ๕o พรรษา มหาวชิราลงกรณ – ถนนสายรอบเมือง 231 มีวัตถุประสงค์ เพื่อเพิ่มความสะดวก รวดเร็ว ในการรับส่งต่อผู้ป่วย เพื่อเพิ่มช่องทางการสัญจรของผู้มารับบริการของโรงพยาบาลและชุมชนใกล้เคียง และเพื่อรองรับการขยายตัวของชุมชนเมืองในอนาคต
เฟสบุคของ นายแพทย์อาทิตย์ อรัญญาเกษมสุข Artit Arrunyagasamesuke กล่าวว่า ...สิบกว่าปีก่อนตอนที่ผมมาทำงานที่โรงพยาบาลนี้ครั้งแรก โรงพยาบาลมีแค่ตึกเล็กๆ ที่มีแผนกผู้ป่วยนอกและฉุกเฉินอยู่ชั้นล่าง และมีหอผู้ป่วย 2 หออยู่ชั้นบน แทบไม่มีเครื่องไม้เครื่องมืออะไร รักษาได้แค่โรคพื้นฐานง่ายๆ
และเป็นโรงพยาบาลสงฆ์ที่ไม่ค่อยมีพระมารักษา เพราะถ้าพระอาจารย์อาพาธด้วยโรคง่ายๆ เช่น ไข้หวัด ท้องเสีย ท่านก็ไปตาม รพ.สต.ใกล้ๆ วัด แต่พอพระอาจารย์อาพาธด้วยโรครุนแรง พอมาที่โรงพยาบาล ก็จะถูกส่งตัวไปที่โรงพยาบาลจังหวัดที่มีศักยภาพสูงกว่า ซึ่งถ้าเป็นแบบนี้ พระที่ไหนจะมารักษา
ตอนมาทำงานที่โรงพยาบาลนี้ครั้งแรก จำได้ว่า ใครต่อใครต่างก็เล่าตำนานการก่อตั้งโรงพยาบาลให้ผมฟัง
โรงพยาบาลนี้ เป็นโรงพยาบาลสงฆ์แห่งแรกในภาคอีสาน เกิดขึ้นเนื่องจากมีคนเห็นว่าขณะนั้นโรงพยาบาลสงฆ์ในประเทศไทยมีเพียงแห่งเดียวอยู่ที่กรุงเทพฯ ในขณะที่พระสงฆ์ร้อยละ 60 – 70 จำวัดอยู่ในภาคอีสาน จึงน่าจะมีโรงพยาบาลสงฆ์ในภาคอีสานที่คอยอุปฐากพระสงฆ์โดยเฉพาะบ้าง
บุคคลที่เป็นกุญแจสำคัญในการก่อตั้งโรงพยาบาลสงฆ์ภาคอีสานก็คือ “หลวงพ่อ” ของพี่น้องชาวโรงพยาบาล ๕๐พรรษาฯ หรือ พระพรหมวชิรญาณ (สมณศักดิ์ในขณะนั้น) เจ้าอาวาสวัดยานนาวา ท่านเป็นผู้ประสานทั้งฝ่ายพระสงฆ์และฝ่ายฆราวาส ทั้งในและต่างประเทศ
ด้วยเงินทุนที่ระดมมาจากทุกภาคส่วน และที่ดินที่มีผู้บริจาคให้ โรงพยาบาลสงฆ์แห่งแรกในภาคอีสานจึงเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา และต่อมาเมื่อสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช (พระอิสริยยศในขณะนั้น) เสด็จมาเปิดโรงพยาบาล พระองค์รับสั่งว่า
...อยากให้ชาวโรงพยาบาลนอกจากดูแลพระสงฆ์แล้ว ให้ดูแลประชาชนด้วย
...พร้อมทั้งพระราชทานนามให้ว่า “โรงพยาบาล ๕๐พรรษา มหาวชิราลงกรณ”
สิบกว่าปีที่ผ่านมา โรงพยาบาล ๕๐พรรษาฯ พัฒนาขึ้นอย่างก้าวกระโดด จากที่มีแค่ 2 หอผู้ป่วยในตึกเล็กๆ ก็กลายเป็น 10 หอผู้ป่วย (2 หอผู้ป่วยเป็น ICU - หอผู้ป่วยวิกฤติ) ในตึกใหญ่สูง 9 ชั้น มีแพทย์เฉพาะทางสาขาหลักครบทุกสาขา และมีทันตแพทย์เฉพาะทางเกือบทุกสาขา เทียบเท่ากับโรงพยาบาลจังหวัด
เป็นโรงพยาบาลสงฆ์ที่มีพระภิกษุจากทั่วภาคอีสานและประเทศเพื่อนบ้านมาตรวจเดือนละเกือบ 600 รูป และอุปฐากดูแลพระสงฆ์อาพาธติดเตียงที่ไม่มีคนดูแลหลายต่อหลายรูป
และเป็นโรงพยาบาลแม่ข่ายของอุบลราชธานีตอนเหนือ รับผู้ป่วยจาก 12 อำเภอโดยรอบ เพิ่มความสะดวกให้แก่ประชาชน และลดความแออัดในโรงพยาบาลจังหวัด
แต่ก็ต้องยอมรับความจริงว่างบประมาณในภาครัฐนั้นทั้งมีจำกัด และมีข้อจำกัด หลายต่อหลายโรงพยาบาลได้งบประมาณมาสร้างตึก แต่ยังไม่มีงบประมาณสำหรับเครื่องมืออุปกรณ์การแพทย์ที่เพียงพอเหมาะสม โรงพยาบาล ๕๐พรรษาฯ ก็ไม่ได้รับยกเว้นเช่นเดียวกัน
ดังนั้น การที่โรงพยาบาลพัฒนามาถึงปัจจุบันได้ มีเครื่องมืออุปกรณ์การแพทย์คุณภาพดีสำหรับใช้ดูแลผู้ป่วย ถ้าขาดซึ่งความช่วยเหลือจากประชาชนและภาคเอกชน ย่อมเป็นไปไม่ได้เลย
ปีนี้เป็นอีกปีที่โรงพยาบาลยังขาดแคลนงบประมาณเช่นเดียวกับทุกปีที่ผ่านมา และถือเป็นโชคดีที่ได้งบประมาณในการตัดถนนเส้นใหม่ที่ตรงดิ่งจากถนนวงแหวนถึงหน้าโรงพยาบาล ซึ่งจะช่วยประหยัดเวลาในการเข้าถึงโรงพยาบาลได้มาก เป็นประโยชน์สำหรับผู้ป่วยทั้งพระสงฆ์และฆราวาส โดยเฉพาะผู้ป่วยวิกฤติที่ต้องรับส่งตัวจากโรงพยาบาลต่างๆ โดยรอบจำนวนไม่น้อยในแต่ละวัน
ส่วนโชคร้ายในโชคดีคือ งบประมาณนี้ไม่ได้รวมค่ารังวัดที่ดิน ค่าใช้จ่ายจิปาถะ หรือค่าชดเชยต่างๆ ให้แก่ประชาชนที่อุทิศที่ดินให้เพื่อสร้างถนนสายบุญเส้นนี้ ทางโรงพยาบาลจึงต้องหางบประมาณในส่วนนี้มาเอง สะระตะแล้วน่าจะกว่าสิบล้านบาท
โชคดีในโชคร้าย (อีกที) ที่พระครูปลัดคุณวัฒน์ หรือครูบาโต เจ้าอาวาสวัดศิมาลัยทรงธรรม จ.นครราชสีมา ทราบเรื่องและอาสาเป็นธุระให้ จึงเป็นที่มาของผ้าป่าสามัคคีเพื่อร่วมสร้างทางดำเนินชีวิต ที่ปราศจากทุกข์ โศก โรคภัย เข้าสู่โรงพยาบาลสงฆ์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และเพื่อพัฒนาโรงพยาบาลสงฆ์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากพระผู้ใหญ่มากมาย
ชาวโรงพยาบาล ๕๐พรรษาฯ ต่างก็คาดหวังว่าจะได้งบประมาณเพื่อร่วมสร้างถนนสายบุญดังกล่าว และถ้าเหลือก็จะได้จัดสรรเป็นค่าเครื่องมืออุปกรณ์การแพทย์ที่โรงพยาบาลยังขาดแคลนอีกมาก
ที่เล่ามาทั้งหมดก็เพื่อจะบอกบุญผ้าป่าเพื่อโรงพยาบาลของพวกเราครับ ใครอยากร่วมบุญสามารถสมทบทุนได้ทาง
บัญชีธนาคารกรุงไทย
หมายเลขบัญชี 321-0-55489-7
ชื่อบัญชี ผ้าป่าสามัคคีเพื่อสร้างถนนโรงพยาบาล ๕๐พรรษา มหาวชิราลงกรณ
และสามารถส่งหลักฐานการโอน พร้อมทั้งแจ้งชื่อ สกุล ที่อยู่เพื่อจัดส่งใบอนุโมทนา นำไปลดหย่อนภาษีได้ทาง FB Fanpage : ผ้าป่าเพื่อโรงพยาบาล ๕๐ พรรษา มหาวชิราลงกรณ (ลดภาษีได้ 1 เท่า เพราะทางโรงพยาบาลเป็นแค่ตัวกลางช่วยอำนวยความสะดวก ส่งต่อเงินผ้าป่าและข้อมูลให้กับทางวัดครับ)