อุบลฯ ปรับมาตรการสำหรับผู้ที่มาจากพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด และพื้นที่ควบคุมสูงสุด
ตามที่ จังหวัดอุบลราชธานีได้ออกคำสั่งเรื่อง มาตรการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) สำหรับบุคคลที่เดินทางมาจากพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด และพื้นที่ควบคุมสูงสุด ลงวันที่ 3 พฤษภาคม 2564 นั้น
พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 24) ลงวันที่ 19 มิถุนายน 2564 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 21 มิถุนายน 2564 กำหนดพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ให้พื้นที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี จังหวัดปทุมธานี และจังหวัดสมุทรปราการ รวม 4 จังหวัด เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด และกำหนดพื้นที่ควบคุมสูงสุด ให้พื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดชลบุรี จังหวัดตรัง จังหวัดนครปฐม จังหวัดปัตตานี จังหวัดเพชรบุรี จังหวัดสงขลา จังหวัดสมุทรสาคร จังหวัดสระบุรี จังหวัดยะลา และจังหวัดนราธิวาส รวม 11 จังหวัด เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด
คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดอุบลราชธานี ตามมติที่ประชุม ครั้งที่ 21/2564 เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2564 ยกเลิกคำสั่งจังหวัดอุบลราชธานี ที่ 20924/2564 ลงวันที่ 3 พฤษภาคม 2564 และออกมาตรการเฝ้าระวังป้องกัน และควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) สำหรับบุคคลที่เดินทางมาจากพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด และพื้นที่ควบคุมสูงสุด ดังนี้
ข้อ 1 ให้ประชาชนที่เดินทางมาจากพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด และพื้นที่ควบคุมสูงสุด และเป็นผู้เดินทางเข้าพักในหมู่บ้าน ชุมชนในจังหวัดอุบลราชธานี ให้ดำเนินการ ดังนี้
(1) ผู้โดยสารเครื่องบินให้รายงานตัวต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ณ ท่าอากาศยานอุบลราชธานี
(2) ผู้โดยสารรถไฟ ให้รายงานตัวต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ณ สถานีรถไฟอุบลราชธานี
(3) ผู้ที่เดินทางโดยรถยนต์สาธารณะ ให้รายงานตัวต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ณ สถานีขนส่งผู้โดยสารจังหวัดอุบลราชธานี
(4) ผู้ที่เดินทางมาโดยยานพาหนะส่วนตัว ให้รายงานตัวต่อผู้นำชุมชน หรืออาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) หรือเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อในพื้นที่โดยทันที นับแต่เดินทางมาถึงจังหวัดอุบลราชธานี
(5) ให้ผู้นำชุมชนหรืออาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ที่รับรายงานตัวบุคคลตามข้อ 1 (4) บันทึกรายละเอียดการเดินทางของบุคคล และให้นำส่งแบบรายงานไปยังเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ณ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หรือสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ หรือโรงพยาบาลของรัฐในพื้นที่ภายในวันที่ได้รับรายงานตัว หากได้รับรายงานตัวในช่วงกลางคืนให้นำส่งแบบรายงานในเช้าวันรุ่งขึ้น
(6) ให้เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อในพื้นที่ตรวจคัดกรองโรคของบุคคลตามข้อ 1 แล้วออกคำสั่งให้บุคคลดังกล่าวกักตัวเอง (Home Quarantine) เป็นเวลา 14 วัน เพื่อให้คำแนะนำ ติดตาม สังเกต และบันทึกอาการทุกวัน
(7) หากบุคคลตามข้อ 1 ที่ถูกสั่งให้กักตัว มีเหตุจำเป็นต้องเดินทางไปยังพื้นที่อื่นนอกจังหวัดอุบลราชธานี ก่อนครบกำหนดกักตัว ให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขทำการวัดไข้และประเมินก่อนที่จะให้เดินทาง หากพบว่า มีอาการไข้เกิน 37.5 องศาเซลเชียส หรือมีความเสี่ยงต่อการป่วยด้วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ให้นำส่งโรงพยาบาลทันที
(8) หากพบว่ามีผู้ต้องกักตัว ไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำและมีเจตนาฝ่าฝืนอย่างชัดแจ้งจนเป็นผลกระทบต่อส่วนรวมให้ดำเนินคดีตามกฎหมายทันที และเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อพิจารณาออกคำสั่งให้กักตัวบุคคลดังกล่าว ที่สถานกักตัวบ้านยางน้อย อำเภอเขื่องใน (Local Quarantine) จนครบกำหนดเวลา
ข้อ 2 ให้เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อในพื้นที่ตรวจคัดกรองโรคของบุคคลที่เดินทางมาจากจังหวัดอื่นที่พบผู้ป่วยติดเชื้อ นอกจากพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด และพื้นที่ควบคุมสูงสุด หรือมีประวัติเดินทางไปยังสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค หากพบว่า มีอาการไข้เกิน 37.5 องศาเซลเซียส ให้พิจารณาออกคำสั่งกักตัวบุคคลดังกล่าว (Home Quarantine) เป็นเวลา 14 วัน เพื่อให้คำแนะนำ ติดตาม สังเกตและบันทึกอาการทุกวัน และให้นำความในข้อ 1 (4), (5) มาใช้บังคับกับบุคคลดังกล่าวด้วย
ข้อ 3 ให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน เฝ้าระวังติดตาม ค้นหาว่า มีบุคคลเดินทางมาจากพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด และพื้นที่ควบคุมสูงสุด เข้ามาในพื้นที่รับผิดชอบ หรือเข้ามาพักอาศัย ในสถานประกอบการ โรงงาน หรือสถานที่พักคนงานก่อสร้างในพื้นที่หรือไม่ โดยเคร่งครัด หากพบว่า มีผู้เดินทางมาจากพื้นที่ดังกล่าว ให้แจ้งกำกับให้มีการดำเนินการตามคำสั่งนี้ โดยเคร่งครัด
ข้อ 4 ให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน รายงานจำนวนบุคคลดังกล่าวต่อนายอำเภอทุกวัน และให้นายอำเภอรายงานผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ทุกวันก่อน เวลา 10.00 นาฬิกา จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง
ข้อ 5 ให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน ประชาสัมพันธ์ให้คนในหมู่บ้านทราบว่า หากมีผู้เดินทางมาจากพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด และพื้นที่ควบคุมสูงสุด พักอยู่กับครัวเรือนผู้ใดและครัวเรือนนั้น มีผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเรื้อรัง และเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและควบคุมโรคของกระทรวงสาธารณสุขโดยเคร่งครัด
ข้อ 6 ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นประชาสัมพันธ์ เพื่อให้ประชาชนในจังหวัดอุบลราชธานีถือปฏิบัติตามมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ดังนี้
(1) ใส่หน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่ออกจากเคหะสถาน
(2) เว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing โดยให้อยู่ห่างจากบุคคลอื่นอย่างน้อย เมตร
(3) หากพบว่ามีผู้ต้องกักตัว ไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำ และแสดงออกโดยเจตนาที่เชื่อว่าเป็นการฝ่าฝืนต่อคำสั่งอย่างชัดแจ้ง และกระทบต่อความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยและมาตรการที่คณะกรรมการโรคติดต่อกำหนด ให้ดำเนินคดีตามกฎหมายทันที และแจ้งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อโดยเร็ว
(4) ให้หมั่นล้างมือ
(5) ให้ตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย
(6) ให้ทุกหน่วยงาน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทุกคนที่เดินทางเข้าในจังหวัดอุบลราชธานี บันทึกข้อมูลการเดินทางเข้าและออกจากพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี โดยสแกนแอปพลิเคชั่น "ไทยชนะ" และ "ฮักอุบล" ก่อนเดินทางได้ที่ wwwhugubon.com พร้อมทั้งจัดเก็บภาพถ่าย QR Code ประจำบุคคลไว้เป็นหลักฐาน หรือบันทึกข้อมูลในแบบบันทึกข้อมูลที่สถานที่นั้น ๆ จัดไว้
ข้อ 7 ให้ผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด และพื้นที่ควบคุมสูงสุด เข้ามาในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี หรือเข้ามาพักอาศัยในสถานประกอบการหรือสถานที่อื่นในจังหวัดอุบลราชธานี เป็นการชั่วคราว และมีความจำเป็นอื่นต้องชับรถ พร้อมคนขนส่งสินค้าผ่าน หรือมีเหตุพิเศษอื่น ๆ อาทิ ร่วมงานตามประเพณีและทางศาสนา งานศพ หรือมาตามหมายหรือคำสั่งของศาล ให้เป็นดุลยพินิจของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ณ ที่จุดคัดกรอง ตามข้อ 1 (1) - (4) สามารถให้ความเห็นในการได้รับการยกเว้นการกักกันตัวเป็นรายกรณีได้ โดยให้ปฏิบัติตามข้อแนะนำดังรายละเอียดแนบท้ายคำสั่งนี้
ข้อ 8 สำหรับข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เดินทางมาจากพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดและพื้นที่ควบคุมสูงสุด และเป็นผู้ที่มีตำแหน่งหน้าที่ในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี ให้บุคคลดังกล่าวต้องลงทะเบียนเข้าและออกจากสถานที่ โดยการ Scan QR Code "ไทยชนะ" และ "ฮักอุบล" หรือบันทึกข้อมูลในแบบบันทึกข้อมูลที่สถานที่นั้น ๆ จัดไว้ และต้องกักตนเองที่บ้าน 14 วัน และปฏิบัติตนตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขโดยเคร่งครัดและให้หน่วยงาน ต้นสังกัดมอบหมายให้บุคคลดังกล่าวปฏิบัติหน้าที่ราชการระหว่างกักกันตัวที่บ้านพัก (Work From Home)
ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนี้ มีความผิดตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท และมีความผิดตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ทั้งนี้ ตั้งแต่ วันที่ 25 มิถุนายน 2564 เป็นต้นไป จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น