ปฏิทินเทศน์สามัคคี ปีที่ 62 ประเพณีหนึ่งเดียวในประเทศ!!
ในคำขวัญจังหวัดอุบลราชธานี มีคำว่า "เมืองแห่งดอกบัวงาม" มีความตามนัยยะ หมายถึง เมืองที่ยึดมั่นในพระพุทธศาสนา (ดอกบัวหมายถึงพระพุทธศาสนา) และคำว่า "ทวยราษฎร์ใฝ่ธรรม" เพราะชาวอุบลฯ ตั่งมั่นในฝักใฝ่ในพระธรรมคำสั่งสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เข้าวัดฟังธรรมสม่ำเสมอ จนเกิดประเพณีเทศน์สามัคคี ซึ่งจัดต่อเนื่องกันมาปีนี้ เป็นปีที่ 62 แล้ว เทศน์สามัคคีคืออะไร ไกด์อุบลขออนุญาตเล่าให้ฟัง ดังนี้ครับ
ไกด์อุบล : ในช่วงเข้าพรรษา 3 เดือน จังหวัดอุบลราชธานี มีประเพณีที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาเป็นเวลานาน มากกว่าหกสิบปีแล้ว คือ การเทศน์สามัคคี หรือ การเทศน์ธรรมัสสวนะสามัคคี ครับ หมายถึง การที่ชาวอุบล จะหมุนเวียนไปฟังเทศน์ตามวัดต่างๆ จนครบทุกวัดตามที่กำหนดไว้ จนกลายเป็นประเพณีหนึ่งเดียวของไทย อยู่ในอุบลฯ บ้านเรานี่เอง
การฟังเทศน์สามัคคีของพุทธศาสนิกชนชาวอุบลฯ มีที่มาที่ไป กล่าวคือ เนื่องจากภาวะบ้านเมืองในช่วง พ.ศ.2498 มีผู้เอาลัทธิคอมมิวนิสต์เข้ามาเผยแพร่ ซึ่งเป็นลัทธิที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของชาติ รัฐบาลจึงมีนโยบายโดยมอบหมายให้ทุกจังหวัดดำเนินการหาทางป้องกัน สำหรับจังหวัดอุบลราชธานี ได้ตกลงจัดให้มีการฟังเทศน์สามัคคีในช่วงเข้าพรรษา หมุนเวียนกันไปตามวัดต่างๆ ในเขตเทศบาลเมืองอุบลราชธานีและวารินชำราบ โดยใช้ชื่อว่า "การเทศธรรมัสสวนะสามัคคี" โดยมี พระธรรมบัณฑิต (ญาณ ญาณชาโล) เจ้าอาวาสวัดสุปัฏนารามวรวิหาร และนายโพธิ์ ส่งศรี มรรคทายกวัดทุ่งศรีเมือง เป็นผู้นำ เริ่มดำเนินการเมือง พ.ศ.2498 นั้นเอง
ไกด์อุบล : ในปีแรก พ.ศ.2498 มีวัดที่เข้าร่วมโครงการ 4 วัด คือ วัดมณีวนาราม วัดสุปัฏนารามวรวิหาร วัดทุ่งศรีเมือง และวัดสุทัศนาราม กำหนดเทศน์วันพระแรกของวันเข้าพรรษา จนถึงวันพระสุดท้ายที่ออกพรรษา ในแต่ละวันพระนั้น จะเทศน์เรื่องอะไร ใครเป็นผู้เทศน์ เทศน์เวลาไหน และวัดไหนก่อนหลัง โดยพระเมธี รัตนโบบล (กิ่ง มหปฺผลเถร) เจ้าอาวาสวัดมณีวนาราม เป็นผู้แสดงธรรม รูปที่ 1 กัณฑ์ที่ 1
เพียงปีเดียว การเทศน์สามัคคีก็ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว ใน พ.ศ.2499 มีวัดเข้าร่วมกิจกรรมเพิ่มขึ้นเป็น 22 วัด ซึ่งอีก 18 วัด ที่เพิ่มเติมเข้ามา ได้แก่ วัดพลแพน วัดศรีอุบลรัตนาราม วัดสารพัฒนึก วัดเลียบ วัดมหาวนาราม วัดไชยมงคล วัดสว่างอารมณ์ วัดบูรพา วัดกลาง วัดใต้พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ วัดทองนพคุณ วัดพระธาตุหนองบัว วัดปทุมมาลัย วัดหลวง วัดแจ้ง เป็นวัดฝั่ง อ.วารินชำราบ อีก 3 วัด คือ วัดวารินทราราม วัดแสนสำราญ และวัดผาสุการาม วัดสุดท้ายที่ได้เข้าร่วมในกลุ่ม คือ วัดศรีประดู่ (พ.ศ.2558) รวมทั้งสิ้น 23 วัด
ทั้งนี้ กำหนดเอาวัดมณีวนาราม (วัดป่าน้อย) เป็นวัดแรก และวัดสุปัฏนารามวรวิหาร เป็นวัดสุดท้ายในการเทศน์ธรรมมัสสวนะสามัคคี ส่วนวัดอื่นให้จับสลากว่าวัดไหนจะได้ก่อนหลัง หัวข้อที่นำเอามาเทศน์นั้น ได้กำหนดเป็นปีๆ ไป โดยแต่ละครั้งจะเริ่มเวลา 13.40 น. ใช้เวลาเทศน์ประมาณ 30-40 นาที
โครงการเทศน์สามัคคีนี้ เป็นรวมกลุ่มปฏิบัติธรรมโดยยึดศรัทธาเป็นที่ตั้ง บางคนไปฟังทุกรอบ ทุกวัดจนครบตลอดเทศกาลเข้าพรรษา และสังเกตุว่าจะมีสมาชิกเข้ามาฟังเทศน์ ปฏิบัติธรรม เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในแต่ละปี เป็นประเพณีการฟังเทศน์สามัคคีที่มีหนึ่งเดียวในประเทศไทย อยู่ในจังหวัดอุบลราชธานี "เมืองนักปราชญ์" นั่นเอง
เรียบเรียงข่าวโดย ไกด์อุบล
ปฏิทินเทศน์สามัคคี ปีที่ 62 พ.ศ.2560
ไกด์อุบล : เดือนกรกรฏาคม
12 ก.ค.60 วัดมณีวนาราม หัวข้อ ธัมมัสสวนานิสงส์
16 ก.ค.60 วัดศรีประดู่ หัวข้อ ธรรมมีอุปการะมาก 2 อย่าง
19 ก.ค.60 วัดสว่างอารมณ์ หัวข้อ ธรรมเป็นโลกบาล คือคุ้มครองโลก 2 อย่าง
22 ก.ค.60 วัดเลียบ หัวข้อ ธรรมอันทำให้งาม 2 อย่าง
26 ก.ค.60 วัดใต้พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ หัวข้อ ธรรมของฆราวาส 4
30 ก.ค.60 วัดทองนพคุณ หัวข้อ สังคหวัตถุ 4 อย่าง
ไกด์อุบล : เดือนสิงหาคม
2 ส.ค.60 วัดบูรพา หัวข้อ สุจริต 3 อย่าง
6 ส.ค.60 วัดวัดสารพัฒนึก หัวข้อ กุศลมูล 3 อย่าง
9 ส.ค.60 วัดปทุมมาลัย หัวข้อ อกุศลมุล 3 อย่าง
12 ส.ค.60 วัดมหาวนาราม หัวข้อ บุคคลหาได้ยาก 2 อย่าง
16 ส.ค.60 วัดผาสุการาม หัวข้อ บุญกิริยาวัตถุ 3 อย่าง
19 ส.ค.60 วัดพลแพน หัวข้อ อคติ 4
23 ส.ค.60 วัดวารินทราราม หัวข้อ ปธาน คือ ความเพียร 4 อย่าง
26 ส.ค.60 วัดพระธาตุหนองบัว หัวข้อ อิทธิบาท 4 อบ่าง
30 ส.ค.60 วัดไชยมงคล หัวข้อ อริยสัจ 4
ไกด์อุบล : เดือนกันยายน
2 ก.ย.60 วัดศรีอุบลรัตนาราม หัวข้อ อนันตริยกรรม 5
7 ก.ย.60 วัดแจ้ง หัวข้อ พละ ธรรมเป็นกำลัง 5 อย่าง
10 ก.ย.60 วัดกลาง หัวข้อ นิวรณ์ 5
14 ก.ย.60 วัดแสนสำราญ หัวข้อ ขันธ์ 5
17 ก.ย.60 วัดหลวง คาราวะ 6
21 ก.ย.60 วัดสุทัศนาราม หัวข้อ อริยทรัพย์ 7
24 ก.ย.60 วัดทุ่งศรีเมือง หัวข้อ สัปปุริสธรรม 7 (ทอดผ้าป่า)
30 ก.ย.60 วัดสุปัฏนารามวีวิหาร หัวข้อ โพชฌงค์ 7 (กัณฑ์สรุป)