คณะบริหารธุรกิจ ฯ ม.ราชภัฏอุบลราชธานี บริการฟรี! ยื่นแบบภาษีเพื่อชุมชน
คณะบริหารธุรกิจและการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ขอเชิญชวนบุคลากรในมหาวิทยาลัย ผู้ประกอบการเป็นบุคคลธรรมดา และบุคคลภายนอก เข้าร่วมโครงการส่งเสริมและพัฒนาความร่วมมือกับชุมชนท้องถิ่น เพื่อความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน “ยื่นแบบภาษีเพื่อชุมชน” ฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย
รองศาสตราจารย์ ดร.ประนอม คำผา คณบดี กล่าวว่า คณะบริหารธุรกิจและการจัดการ โดยสาขาวิชาการบัญชี จัดโครงการส่งเสริมและพัฒนาความร่วมมือกับชุมชนท้องถิ่นเพื่อความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อให้บริการช่วยเหลือผู้ที่ต้องการยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา พร้อมให้คำปรึกษาการวางแผนภาษี
โดยปกติผู้มีรายได้ มีหน้าที่ต้องแสดงแบบรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามที่กำหนด ก่อนการยื่นภาษีก็ต้องเก็บรวบรวมเอกสารมากมาย และวางแผนภาษีภายในเดือนมกราคมถึงมีนาคมในปีถัดไป หลายคนมีการขึ้นเงินเดือน มีการรับงานฟรีแลนซ์ มีเงินที่ได้มาจากหลากหลายแหล่ง ซึ่งล้วนแล้วแต่ต้องยื่นภาษีทั้งนั้น หากวางแผนคำนวณภาษีไม่ดี อาจจะถูกเลื่อนฐานภาษีแบบไม่รู้ตัว แล้วตามมาด้วยภาษีที่มากเกินจะรับไหว
ซึ่งมีรายได้ประเภทต่าง ๆ ที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา อาทิ
- ค่าจ้าง เงินเดือน โบนัส OT
- เงินได้จากหน้าที่ ค่าธรรมเนียม ค่านายหน้า เบี้ยประชุม
- เงินได้จากการประกอบธุรกิจพาณิชยกรรม เกษตรกรรม
- เงินได้จากการให้เช่า ค่าเช่า ผิดสัญญาเช่า
- เงินได้ค่ารับเหมา
- ดอกเบี้ย เงินปันผล
- วิชาชีพอิสระ
- ค่าลิขสิทธิ์
วิธีการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา มี 2 วิธี
วิธีที่ 1 คำนวณภาษีจากเงินได้สุทธิ ได้แก่ เงินได้พึงประเมิน หักเงินได้ที่ได้รับยกเว้น หักค่าใช้จ่าย หักค่าลดหย่อน หักเงินบริจาค แล้วจึงนำเงินได้สิทธินั้นไปคำนวณภาษีตามบัญชีอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
ภาษีที่ต้องชำระ (ถ้ามี) = เงินได้สุทธิ x อัตราภาษี (5%-35%)
วิธีที่ 2 คำนวณจากเงินได้พึงประเมินตั้งแต่ 120,000 บาทขึ้นไป โดยไม่หักค่าใช้จ่ายหรือหักค่าลดหย่อนใด ๆ คุณด้วยอัตราภาษีร้อยละ 0.5 จะได้จำนวนภาษีที่ต้องชำระ ทั้งนี้ผู้มีเงินได้ที่มีเงินได้หลายประเภท (ไม่รวมเงินได้ประเภทที่ 1 เงินได้จากการจ้างแรงงาน)
ภาษีที่ต้องชำระ = เงินได้พึงประเมิน (เงินได้ประเภทที่ 5-8) x 0.5%
* การคำนวณภาษี ให้คำนวณทั้ง 2 วิธีเปรียบเทียบกัน ชำระภาษีตามวิธีที่คำนวณได้มากกว่า แต่ถ้าหากคำนวณภาษีตามวิธีที่ 2 แล้วไม่เกิน 5,000 บาท ให้เสียภาษีตามวิธีที่ 1
การคำนวณภาษีแบบละเอียด จากทางสรรพากร มีอยู่ 2 ขั้นตอน
ขั้นตอนที่ 1 การคำนวณ แบบขั้นบันได
ขั้นตอนที่ 2 การคำนวณแบบเหมา (หากใครที่มีรายรับจากเงินเดือนอย่างเดียว จะไม่ต้องถูกคำนวณภาษีแบบเหมาในขั้นตอนที่ 2)
สำหรับการเตรียมเอกสารก่อนยื่นแบบฯ ปีภาษี 2566 แบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ “คนโสด” และ “คนมีคู่”
การลดหย่อนภาษี ปี 2566
หลังจากได้ยอดภาษีที่ต้องจ่ายคร่าว ๆ แล้ว ก็ต้องมองหาตัวช่วยอย่างการลดหย่อนภาษี ทำจะทำให้เราไม่ต้องจ่ายภาษีหรือจ่ายน้อยลง จะมีอะไรที่ช่วยลดหย่อนภาษีให้กับเราได้บ้าง
ค่าลดหย่อนพื้นฐาน
- ค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท
- ค่าลดหย่อนคู่สมรส 60,000 บาท (ต้องเป็นสามี-ภรรยาตามกฎหมาย โดยที่คู่สมรสต้องไม่มีเงินได้แต่หากมีเงินได้ต้องยื่นภาษีร่วมกัน)
- ค่าลดหย่อนบุตร 30,000 บาท ต่อบุตร 1 คน (อายุตั้งแต่แรกเกิด-20 ปี)
- ค่าฝากครรภ์และทำคลอดบุตร สูงสุดไม่เกิน 60,000 บาท
- ค่าลดหย่อนบิดามารดา 30,000 บาทต่อ 1 คน สามารถนับรวมบิดา-มารดาคู่สมรสได้ สูงสุดไม่เกิน 120,000 บาท
- ค่าลดหย่อนผู้พิการหรือทุพพลภาพ 60,000 บาทต่อคน (ต้องมีบัตรประจำตัวผู้พิการ)
ค่าลดหย่อนเกี่ยวกับการลงทุน
- กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, กบข., สงเคราะห์ครูเอกชน 15% ของเงินได้ ตามที่จ่ายจริงไม่เกิน 500,000 บาท
- กองทุนการออมแห่งชาติ ลดหย่อนตามจริง ไม่เกิน 13,200 บาท
- กองทุน RMF 30% ของเงินได้ ไม่เกิน 500,000 บาท
- กองทุน SSF 30% ของเงินได้ ไม่เกิน 200,000 บาท
- เงินลงทุนธุรกิจวิสาหกิจเพื่อสังคม ลดหย่อนตามจริง ไม่เกิน 100,000 บาท
ค่าลดหย่อนเกี่ยวกับประกันชีวิต
- ประกันชีวิต, ประกันสะสมทรัพย์ ลดหย่อนได้ตามจริง ไม่เกิน 100,000 บาท
- ประกันสุขภาพ ลดหย่อนตามจริง ไม่เกิน 25,000 บาท
- ประกันสุขภาพบิดามารดา ลดหย่อนตามจริง ไม่เกิน 15,000 บาท
- ประกันชีวิตแบบบำนาญ ลดหย่อนตามจริง ไม่เกิน 200,000 บาท และต้องเป็นประกันที่มีความคุ้มครองมากกว่า 10 ปีขึ้นไป
- เงินสมทบกองทุนประกันสังคม ลดหย่อนตามจริง ไม่เกิน 6,300 บาท
- ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อซื้อ เช่าซื้อ หรือสร้างอาคารที่อยู่อาศัย ลดหย่อนตามจริง ไม่เกิน 100,000 บาท
ช็อปดีมีคืน 2566
- ลดหย่อนได้ตามจริง ไม่เกิน 40,000 บาท โดยเป็นการซื้อของในร้านที่ออกใบกำกับภาษีทั่วไป 30,000 บาท และใบกำกับภาษีแบบอิเล็กทรอนิกส์ 10,000 บาท
ค่าลดหย่อนเกี่ยวกับการบริจาค
- เงินบริจาคทั่วไป ลดหย่อนได้ตามจริง ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังลดหย่อน
- บริจาคเพื่อการศึกษา การกีฬา การพัฒนาสังคม โรงพยาบาลของรัฐ จะได้รับการลดหย่อนภาษี 2 เท่าของเงินบริจาค
- บริจาคให้พรรคการเมือง ตามจ่ายจริง ไม่เกิน 10,000 บาท
ผู้สนใจเข้าร่วมโครงการ ฯ สามารถสแกน QR Code ร่วมกิจกรรม ตั้งแต่บัดนี้ ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2567
สนใจสมัครเข้าเรียนสาขาวิชาการบัญชี คณะบริหารธุรกิจและการจัดการ เปิดรับสมัครรอบโควตาพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระหว่างวันที่ 14 ก.พ.-1 มี.ค. 2567 ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://bba.ubru.ac.th/ สมัครออนไลน์ได้ที่ https://admission.ubru.ac.th/
สอบถามเพิ่มเติมที่ ผศ.ดร.วรนุช กุอุทา โทร. 095-9941642