guideubon

 

ประกาศสงกรานต์ ปีพุทธศักราช 2567 ปีมะโรง

นางสงกรานต์-2567-01.jpg

ประกาศสงกรานต์ ปีพุทธศักราช 2567

ปีมะโรง (เทวดาผู้ชาย ธาตุทอง) ฉอศก จุลศักราช 1386 ทางจันทรคติ เป็น ปกติ มาสวารทางสุริยคติ เป็น อธิกสุรทิน

วันที่ 13 เมษายน เป็น วันมหาสงกรานต์ ทางจันทรคติตรงกับวันเสาร์ ขึ้น 5 ค่ำ เดือน 5 เวลา 22 นาฬิกา 24 นาที

นางสงกรานต์ ทรงนามว่า มโหธรเทวี ทรงพาหุรดทัดดอกสามหาว อาภรณ์แก้วนิลรัตน์ ภักษาหารเนื้อทราย พระหัตถ์ขวาทรงจักร พระหัตถ์ซ้ายทรงตรีศูล เสด็จไสยาสน์ลืมเนตรมาเหนือหลัง มยุรา (นกยูง) เป็นพาหนะ

นางสงกรานต์-2567-02.jpg

วันที่ 16 เมษายน เวลา 02 นาฬิกา 15 นาที 00 วินาที เปลี่ยนจุลศักราชใหม่เป็น 1386 ปีนี้ วันอังคาร เป็น ธงชัย, วันพฤหัสบดี เป็น อธิบดี, วันจันทร์ เป็น อุบาทว์, วันเสาร์ เป็น โลกาวินาศ

ปีนี้ วันอังคาร เป็นอธิบดีฝน บันดาลให้ฝนตก 300 ห่า ตกในโลกมนุษย์ 30 ห่า ตกในมหาสมุทร 60 ห่า ตกในป่าหิมพานต์ 90 ห่า ตกในเขาจักรวาล 120 ห่า นาคให้น้ำ 7 ตัว

เกณฑ์ธัญญาหาร ได้เศษ 5 ชื่อ วิบัติ ข้าวกล้าในภูมินาจะเกิดกิมิชาติ จะได้ผลกึ่ง เสียกึ่ง

เกณฑ์ธาราธิคุณ ตกราศีวาโย (ลม) น้ำน้อย

ที่มา : ฝ่ายโหรพราหมณ์ กองพระราชพิธี สำนักพระราชวัง

นางสงกรานต์-2567-03.jpg

ตำนานนางสงกรานต์

นางสงกรานต์ เป็นธิดาของท้าวกบิลพรหม หรือท้าวมหาสงกรานต์ และเป็นนางฟ้าอยู่บนสรวงสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา (สวรรค์ชั้นที่ 1 ในทั้งหมด 6 ชั้น) ซึ่งมีหน้าที่ในการรับศีรษะของท้าวกบิลพรหมแห่รอบเขาพระสุเมรุในแต่ละรอบปี หรือในวันสงกรานต์นั้นเอง โดยมีเกณฑ์กำหนดที่ว่า วันสงกรานตํ คือวันที่ 13 เมษายน ตรงกับวันใดก็ให้นางสงกรานต์ประจำวันนั้นเป็นผู้แห่ นางสงกรานต์มีทั้งหมด 7 องค์ ได้แก่

วันอาทิตย์ นาม นางทุงษะ
ทัดดอกทับทิม เครื่องประดับปัทมราช (พลอยสีแดง)
ภักษาหารมะเดื่อ หัตถ์ขวาถือจักร
หัตถ์ซ้ายถือสังข์ มีครุฑเป็นพาหนะ

วันจันทร์ นาม นางโคราคะ
ทัดดอกปีบ เครื่องประดับมุกดา (ไข่มุก) ภักษาหารน้ำมัน หัตถ์ขวาถือพระขรรค์ หัตถ์ซ้ายถือไม้เท้า มีเสือเป็นพาหนะ

วันอังคาร นาม นารากษส (ราก-สด)
ทัดดอกบัวหลวง เครื่องประดับโมรา ภักษาหารโลหิต หัตถ์ขวาถือตรีศล หัตถ์ซ้ายถือธนู มีสุกร (หมู) เป็นพาหนะ

วันพุธ นาม นางมณฑา
ทัดดอกจำปา เครื่องประดับไพฑูรย์ ภักษาหารนมเนย หัตถ์ขวาถือเหล็กแหลม หัตถ์ซ้ายถือไม้เท้า มีคัสพะ (ลา) เป็นพาหนะ

วันพฤหัสบดี นาม นางกิริณี
ทัดดอกมณฑา เครื่องประดับมรกต ภักษาหารถั่วงา หัตถ์ขวาถือขอช้าง หัตถ์ซ้ายถือปืน มีช้างเป็นพาหนะ

วันศุกร์ นาม นางกิมิทา
ทัดดอกจงกลนี เครื่องประดับบุษราคัม ภักษาหารกล้วยน้ำว้า หัตถ์ขวาถือพระขรรค์ หัตถ์ซ้ายถือพิณ มีกระบือ (ควาย) เป็พาหนะ

วันเสาร์ นาม นางมโหธร
ทัดดอกสามหาว (ผักตบ) เครื่องประดับนิลรัตน์ ภักษาหารเนื้อทราย หัตถ์ขวาถือจักร หัตถ์ซ้ายถือตรีศูล มีนกยูงเป็นพาหนะ

นางสงกรานต์-2567-04.jpg

อนึ่ง ท่าทางของนางสงกรานต์ จะกำหนดตามเวลาที่พระอาทิตย์ย้ายเข้าสู่ราศีเมษ หรือเวลามหาสงกรานต์ตามที่คำนวณได้ ซึ่งเกณฑ์ในการกำหนดท่าทางของนางสงกรานต์ เป็นดังนี้

เวลามหาสงกรานต์
ถ้าเป็นเวลารุ่งสางถึงเที่ยง (06.00-11.59 น.) นางสงกรานต์ยืนมา
ถ้าเป็นเวลาเที่ยงถึงเย็น (12.00-17.59 น.) นางสงกรานต์นั่งมา
ถ้าเป็นเวลาค่ำถึงเที่ยงคืน (18.00-23.59 น.) นางสงกรานต์นอนลืมตามา
ถ้าเป็นเวลาเที่ยงคืนถึงเช้ามืด (00.00-.5.59 น.) นางสงกรานต์นอนหลับตามา

 

copyright 2005 www.GuideUbon.com สำนักงานไกด์อุบลดอทคอม เลขที่ 89/1 ถนนพโลรังฤทธิ์ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี 34000 ติดต่อไกด์อุบล : webmaster@guideubon.com | msn : guide_ubon@hotmail.com | Tel : 080-4850511