guideubon

 

แนวทางรักษาโควิดใหม่มีผล 30 พ.ย.นี้ ปรับจ่ายยาต้านไวรัส-เพิ่มใช้ LAAB

LAAB-ยาต้านไวรัส-01.jpg

วันที่ 29 พฤศจิกายน 2565 นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงการปรับแนวทางการรักษาโควิด-19 ฉบับที่ 26 ที่ใช่ในกลุ่มบุคคลากรทางการแพทย์ ว่าแนวทางการรักษาโควิดมีปรับเพื่อให้ทันสมัยและเหตุการณ์ โดยจะมีผลการใช้ 30 พฤศจิกายน 2565 นี้ ซึ่งรายละเอียด ปรับเรื่องการจ่ายยาต้านไวรัสและเพิ่มการใช้ Long Acting Antibody (LAAB) ให้มากขึ้น เน้นในการรักษาเพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน ควบคู่กับการให้ยาต้านไวรัสอื่น ที่ยังคงใช้อยู่เช่นเดิม

โดยฟาวิพิราเวียร์ ใช้ในกลุ่มเด็ก, ผู้ป่วยติดเชื้ออาการไม่มาก ไม่มีปอดบวม ใช้โมลนูพิราเวียร์ แต่หากมีอาการรุนแรงปอดอักเสบ ระดับออกซิเจนต่ำ เป็นผู้ป่วยนอกพิจารณาจ่ายยา แพกซ์โลวิด หรือหากเป็นผู้ป่วยใน และอยู่ในกลุ่มเสี่ยง 608 หรือเป็นกลุ่มคนที่ได้รับวัคซีนโควิดไม่ถึง 3 เข็ม พิจารณาจ่ายยาเรมเดซิเวียร์ ที่เป็นยาฉีด

แต่ที่พิจารณาแนวทางการรักษาแตกต่างจากเดิม คือ คนกลุ่มเสี่ยง ที่ปกติภูมิคุ้มกันต่ำ หรือฟอกไตระยะ 3, ป่วยมะเร็งจะได้รับ LAAB แล้วยังเพิ่มกลุ่มคนที่ป่วยเบาหวาน หัวใจ และหลอดเลือด รวมถึงคนที่มีภาวะถุงลมโป้งพอง ให้ได้รับ LAAB ด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม จากการติดตามสถานการณ์การติดเชื้อในขณะนี้ พบว่าแม้กราฟจะเริ่มสูงขึ้น พบผู้ป่วยติดเชื้อมากขึ้น แต่อัตราการครองเตียงโควิด จาก 7,564 เตียง มีการใช้แค่ 1,468 เตียง หรือคิดเป็น 19.4% แต่หากมองเป็นเตียงระดับ 2 และ 3 ที่ใช้สำหรับผู้ป่วยมีอาการรุนแรง ก็ใช้ไปแค่ 35% ซึ่งถือว่ายังไม่มาก คาดว่าแม้ในช่วงหยุดยาวในเดือนธันวาคม อัตราการใช้เตียงก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นถึง 50%

นพ.ธงชัย กล่าวว่า จากการติดตามข้อมูลของผู้ป่วยอาการรุนแรงและเสียชีวิต พบว่า 70% เป็นกลุ่มคนที่ไม่ได้เคยได้รับวัคซีนเลย หรือได้รับแค่ 1 เข็ม, 2 เข็ม และสูงสุดก็แค่ 3 เข็ม และยังมีโรคประจำตัวเป็นผู้สูงอายุ ดังนั้น แนวทางการป้องกันโควิดจากนี้ ต้องเพิ่มการรับวัคซีนให้ได้อย่างน้อยคนละ 4 เข็ม เพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน โดยอาจไม่ต้องนับว่าเคยติดเชื้อมากแล้ว เพราะหากเกิน 3 เดือนภูมิคุ้นกัน ทั้งวัคซีนและการติดเชื้อ ก็ทำให้ภูมิที่เคยมีลดลง ส่วนอาการคนติดรอบ 2 พบไม่รุนแรง ทั้งนี้ เป็นผลมาจากการรับวัคซีน