guideubon

 

ทีมแพทย์แจง อาการอาพาธหลวงปู่แสง แฝงธรรมะ

หลวงปู่แสง-แฝงธรรมะ-01.jpg

วันที่ 14 พฤษภาคม 2565 ที่โรงพยาบาลพริ้นซ์ อุบลราชธานี คณะแพทย์ฯ ผู้ได้รับมอบหมายจากศิษยานุศิษย์หลวงปู่แสง ญาณวโร นำโดย นายแพทย์เศวต ศรีศิริ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพริ้นซ์ อุบลราชธานี แถลงข่าวอาการอาพาธของ “หลวงปู่แสง ญาณวโร” โดยสรุปอาการอาพาธของ ‘หลวงปู่แสง ญาณวโร’ จากประวัติการรักษาของคณะแพทย์ ดังนี้

1. การทำงานของทางเดินอาหารผิดปกติ (GI vasculopathy)
2. โรคหัวใจที่เกิดจากภาวะกล้ามเนื้อหัวใจห้องล่างซ้ายผิดปกติ (CHF c Cardiomypathy LVH)
3. โรคความดันโลหิตสูง (HT)
4. โรคต่อมลูกหมากโต (BPH)
5. ปวดหลังเนื่องจากกระดูกสันหลังคด (Low back pain c Scoliosis)

6. ข้อเข่าเสื่อมทั้ง 2 ข้าง (OA both khee)
7. โรคกระดูกพรุน (Osteoporosis)
8. โรคนอนหลับยาก (Elderly c Insomnia)
9. สมองเสื่อมและอัลไซเมอร์ระยะที่ 1 (dementia c Alzheimer’s) และ
10. ภาวะพฤติกรรมอารมณ์ที่ผิดปกติที่เกี่ยวกับสมองเสื่อม (BPSD = behavioral and psychological symtoms of dementia)

เศวต-ศรีศิริ-01.jpg

นายแพทย์เศวต ศรีศิริ ในฐานะแพทย์ผู้เคยทำการรักษาอาการอาพาธ "หลวงปู่แสง ญาณวโร" กลาวว่า คณะแพทย์ผู้ทำการรักษาอาการอาพาธของหลวงปู่แสง มากว่า 20 ปี ให้ข้อมูลและข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสุขภาพของหลวงปู่แสง โดยทางคณะแพทย์วินิจฉัยว่า มีภาวะอัลไซเมอร์ ระยะที่ 1 มีโอกาสที่ผู้ป่วยจะมีความจำถดถอยบ้าง ถามซ้ำๆ พูดซ้ำๆ เรื่องเดิม แต่ยังสื่อสารและใช้ชีวิตได้ตามปกติ ส่วนจะเป็นอัลไซเมอร์ ระยะที่ 2 หรือเปล่าแพทย์เฉพาะทางยังต้องวินิจฉัยเพิ่มเติม

ขณะเดียวกัน จากการตรวจสอบพบว่า หลวงปู่แสง มีประวัติไข้มาลาเรียขึ้นสมอง ซึ่งในทางการแพทย์ หากการตรวจซิฟิลิส (TPHA) อาจพบเชื้อลวงได้ ควรตรวจซ้ำเพื่อยืนยัน หรืออาจเคยติดเชื้อซิฟิลิสมาก่อนก็เป็นได้ หากสงสัยจริงๆ อาจใช้วิธีเจาะน้ำไขสันหลังตรวจสอบเพิ่มเติม 

สมฤทธิ์-เวียงสมุทร-01.jpg

นายแพทย์สมฤทธิ์ เวียงสมุทร นายแพทย์ชำนาญการโรงพยาบาลหัวตะพาน จ.อำนาจเจริญ ระบุว่า ไทม์ไลน์สุขภาพหลวงปู่ ตั้งแต่ปี 2552 ถึงปัจจุบัน หลวงปู่มีอาการป่วยตามวัยปวดหลังร้าวลงขา ปวดข้อ ป่วยโรคเรื้อรังทั้ง ความดันโลหิตสูง ต่อมลูกหมากโต และป่วยโรคติดเชื้ออย่าง ปอดอักเสบ

หลวงปู่ไม่ชอบรับประทานยา และไม่ชอบให้คนเข้ามาทำอะไรกับร่างกาย บางครั้งได้เพียงวัดความดัน ช่วงแรก ๆ ไม่ได้เข้าสู่กระบวนการรักษาทั่วไป และกฎเหล็กห้ามผู้หญิงจับร่างกาย แม้กระทั่งเข้าใกล้ยังไม่ได้

“การจัดทีมจึงต้องจัดทีมผู้ชายไปดูแลทั้งแพทย์ พยาบาล และผู้ช่วย ทั้งช่วงที่ไปดูแลที่วัด หรือแม้แต่แอดมิตเข้าโรงพยาบาล ก็ต้องประสานทีมผู้ชายไปดูแล

ปี 2558-2560 เริ่มมีอาการท้องผูก นอนไม่หลับ ซึ่งมีการเพิ่มยามากขึ้น และมีทีมแพทย์หลายกลุ่มเข้ารักษา จึงต้องมีการทำบัญชีลงบันทึกแพทย์ ทั้งการรักษา และการจ่ายยา เพื่อไม่ให้ซ้ำซ้อน ต่อมาช่วงปี 2560 เริ่มมีอาการภาวะหัวใจทำงานล้มเหลว และภาวะลำไส้อุดตันบางส่วน

กลางปี 2561 หลวงปู่ย้ายไปภาคเหนือ พระอาจารย์ที่ดูแลหลวงปู่ โทรมาแจ้งว่า หลวงปู่มีอาการแปลก ๆ โดยเริ่มสัมผัสผู้หญิง ทั้งที่ก่อนหน้านี้มีความเคร่งมาก แต่หลังได้รับแจ้งครั้งนั้น ก็ไม่มีการแจ้งอาการดังกล่าวอีก

กระทั่งหลังปี 2562 หลวงปู่ก็ย้ายกลับมาภาคอีสาน จึงได้กลับมาดูแลต่อ หลังเกิดเหตุการณ์ล่าสุด ก็ได้หารือกัน ทราบว่าก่อนหน้านี้หลวงปู่เคยไปทำ MRI สมอง จึงทำเรื่องขอข้อมูลจากโรงพยาบาลทางภาคเหนือ แล้วพบว่า มีการวินิจฉัยจากทีมแพทย์และมีผู้เข้าไปรับยามาแล้ว 2 ครั้ง แต่ตรวจสอบไม่ได้ว่าหลวงปู่ฉันมาต่อเนื่องหรือไม่ จึงคาดว่า อาจขาดยาตัวนั้น จากจำนวนครั้งที่ไปรับยา

พงษ์พัฒน์-พิมสะ-01.jpg

นายแพทย์พงษ์พัฒน์ พิมสะ นายแพทย์ชำนาญการ ระบุว่า เมื่อปี 2559 -2561 ได้เข้าร่วมดูแล ซึ่งเคยได้รับแจ้งว่าหลวงปู่เคยมีการเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรม โดยมีอาการนอนไม่หลับเป็นพื้นฐาน และ ภาวะสับสนจากความสูงอายุ ทางอายุรแพทย์ต้องมองหาว่า มีภาวะผิดปกติในระบบต่าง ๆ หรือไม่ 

กระทั่งพบว่า โรคกำเริบมากขึ้น โดยภาวะอัลไซเมอร์มักเกิดได้กับผู้สูงอายุเป็นปกติ อายุหลวงปู่เกือบ 100 ปี ทำให้ภาวะนี้เกิดขึ้นได้ ความรุนแรงของอัลไซเมอร์ อาจแสดงออกมาในลักษณะความจำระยะสั้นเริ่มเสีย ความจำระยะยาวยังทำได้ เช่น การแจกพระ ซึ่งเป็นพฤติกรรมปกติและเป็นความจำระยะยาว ทำให้หลวงปู่ยังแจกพระอยู่

ต่อข้อสงสัยที่ว่า หลวงปู่ชราภาพและมีหลายโรค ในความเห็นของแพทย์ เป็นไปได้ไหมว่า ในอนาคตการรับกิจนิมนต์ หรือการที่หลวงปู่จะพบปะลูกศิษย์ควรเป็นเวลา นายแพทย์พงษ์พัฒน์ พิมสะ ให้คำอธิบายที่แฝงไปด้วยธรรมะ ดังนี้

ในแง่ของการดูแล จริงๆ อยากให้ทุกอย่างเป็นไปในแนวทางการแพทย์ มีการจำกัดในการถวาย ในการหลายๆ อย่าง แต่ในแง่การปฏิบัติของหลวงปู่เอง ท่านไม่ได้สนใจในร่างกายขันธ์ 5 อะไรของท่านอยู่แล้ว ท่านอยู่เพื่อโปรดคณะศิษย์หรือพวกเรา ดังนั้นการที่เราสั่งห้ามอะไรบางอย่าง ท่านบอกว่า... ลูกถ้าเวลาพ่อออกมา หลายคนมาไกล บางคนมาจากต่างประเทศ บางคนมาจากกรุงเทพฯ บางคนมาจากหลายๆ แล้ว ณ วันนึง ถ้าเราไปจัดการแบบนั้นทั้งหมด คือ ท่านก็จะรู้สึกว่า ท่านไม่ได้ทำกิจที่ท่านจะต้องทำ ท่านอยากให้เราได้ คือ การปฏิบัติ ท่านสอนให้เรารักกัน อภัยซึ่งกันและกัน อย่าไปว่าเขา ท่านบอกให้เรามีความรู้สึกว่า ทุกๆ คนมันมีความทุกข์เหมือนกันลูก เขาก็ทุกข์เขาจึงมาหาเรา การที่เขามาหาเรา เขาทุกข์แล้ว ถ้าเราไม่ต้อนรับ ไม่ดูแลเขา จะไม่ใช่ทางที่หลวงปู่เคยสอน

ดังนั้น ทุกๆ ครั้ง แม้หลวงปู่จะอาพาธ จะป่วย คนมาจากที่ไหน ท่านก็เรียกเข้าไปได้ บอกว่าเขามาไกลลูก ให้เขามากราบ กราบเสร็จนิดๆ หน่อยๆ ก็พอแล้ว นั่นคือศรัทธาของศาสนิกชนที่เขามาดูแล

ดังนั้น จึงเป็นการยากที่เราจะจัดการทุกๆ อย่าง อันนั้นคือดีที่สุดที่อยากจะทำ แต่มันต้องประกอบไปทั้งสองอย่าง ถามว่าท่านอยู่เพื่ออะไร ท่านไม่ได้อยู่เพื่อใคร ไม่ได้อยู่เพื่ออะไรแล้ว ใครจะให้อะไรท่าน ท่านก็ไม่ได้สนใจอยู่แล้ว หรือใครจะมาเยินยอ หรือไม่เยินยอ ไม่ได้มีผลกระทบอะไรกับท่านเลย สิ่งที่เกิดขึ้นท่านไม่ได้สนใจต่างๆ เหล่านี้อยู่แล้ว

โลกธรรมแปดไม่ได้กระเทือนใจท่านอยู่แล้ว แต่ท่านอยู่เพื่อสงเคราะห์ ให้เห็นถึงความศรัทธาในพระพุทธศาสนาให้คงอยู่ในตรงนี้ และให้พวกเราที่กำลังเดินตามรอยพุทธศาสนา สามารถที่จะอยู่ได้ นี่คือสิ่งที่ท่านมอบให้พวกเรา

ดังนั้น เวลาที่ใครมาต่างๆ ท่านทำให้เขาเปลี่ยนใจได้ จากคนที่ผิดศีล 5 กรรมบทสิบผิดหมดเลย หลวงปู่เปลี่ยนจิตเขาได้ สามารถสร้างศรัทธาในศาสนาพุทธได้ สามารถทำให้เขาไม่ก้าวล่วงบุคคลอื่น ไม่ทำร้ายบุคคลอื่นด้วยกายวาจาใจได้ อันนี้เป็นสิ่งที่ประเสริฐ และการที่ทำแบบนี้ได้ มันไม่เยอะนะครับ

การที่เราจะไปจำกัดอะไรบางอย่าง เราคิดว่า นั่นเป็นประโยชน์ของการที่ท่านได้สร้างศรัทธา เราก็อาจจะไม่ได้ไปจัดการแบบนั้นทั้งหมด แต่ถามว่าเราอยากทำไหม อยากทำ เราจึงทำได้ในส่วนที่ท่านเมตตา

การดูแลรักษาหลวงปู่ เป็นไปในแนวทางที่ ลูกศิษย์ดูแลครูบาอาจารย์ ไม่ใช่หมอดูแลคนไข้ จึงมีความยากในการที่จะต้องไปจัดการทั้งหมดตามสิ่งที่เป็น standard of care ในปัจจุบันนี้

หลวงปู่แสง-แฝงธรรมะ-02.jpg

 

copyright 2005 www.GuideUbon.com สำนักงานไกด์อุบลดอทคอม เลขที่ 89/1 ถนนพโลรังฤทธิ์ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี 34000 ติดต่อไกด์อุบล : webmaster@guideubon.com | msn : guide_ubon@hotmail.com | Tel : 080-4850511