โปรดเกล้าฯ สมณศักดิ์ หลวงพ่อเลี่ยม ขึ้นเป็น พระราชาคณะ
วันที่ 10 พฤศจิกายน 2567 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่พระบรมราชโองการ ประกาศสถาปนาสมณศักดิ์ "พระเทพวชิรญาณ" วัดหนองป่าพง จ.อุบลราชธานี ขึ้นเป็น "พระราชาคณะ” มีใจความ ดังนี้
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ มหิศรภูมิพลราชวรางกูร กิติสิริสมบูรณอดุลยเดช สยามินทราธิเบศรราชวโรดม บรมนาถบพิตร พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ประกาศว่า โดยที่ทรงพระราชดำริว่า พระสงฆ์ซึ่งดำรงในสมณคุณ มีอุปการะยิ่งแก่การพระศาสนา สมควรจะได้เลื่อนอิสริยฐานันดรในสมณศักดิ์สูงขึ้นมีอยู่
จึ่งทรงพระกรุณาโปรดสถาปนา "พระเทพวชิรญาณ" ขึ้นเป็น พระราชาคณะ เจ้าคณะรอง มีราชทินนามตามที่จารึกในหิรัญบัฏว่า "พระพรหมวชิรญาณโสภณ" วิมลสีลาจารนิวิฐ วิปัสสนานุสิฐคณาจารย์ไพศาลศาสนกิจดิลก สาธกธรรมวิจิตร มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี สถิต ณ วัดหนองป่าพง จังหวัดอุบลราชธานี มีฐานานุศักดิ์ตั้งฐานานุกรมได้ 8 รูป
ขออาราธนาพระคุณ จงรับธุระพระพุทธศาสนา เป็นภาระสั่งสอน ช่วยระงับอธิกรณ์และอนุเคราะห์พระภิกษุสามเณรในคณะและในอาราม ตามสมควรแก่กำลัง และอิสริยยศ ซึ่งพระราชทานนี้ และจงเจริญอายุ วรรณ สุข พล ปฏิภาณ คุณสารสิริสวัสดิ์ จิรัฏฐิติ วิรุฬหิไพบูลย์ ในพระพุทธศาสนาเทอญ
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 9 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2567
ประกาศ ณ วันที่ 10 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2567 เป็นปีที่ 9 ในรัชกาลปัจจุบัน
พระพรหมวชิรญาณโสภณ (เลี่ยม ฐิตธมฺโม) มีนามเดิมว่ามีนามเดิมว่า เลี่ยม จันทำ ฐิตธมฺโม เกิดเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ.2484 ที่บ้านโคกจาน ตำบลทุ่งไชย อ.อุทุมพรพิสัย จ.ศรีสะเกษ วิทยฐานะสำเร็จกสรศึกษาทางด้านพระปริยัติธรรม นักธรรมชั้นเอก เป็นพระภิกษุฝ่ายอรัญวาสี ฝ่ายมหานิกาย
เป็นพระภิกษุผู้ก้าวเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจ เพื่อหวังถอดถอนละกิเลสตัณหา มีปฏิปทา เป็นผู้มีความอดทนอดกลั้น มักน้อย สันโดษ ถ่อมตัว ไม่ยินดี ยินร้ายในลาภยศ สรรเสริญ เมื่อมามอบตัวเป็นศิษย์ของพระโพธิญาณเถร (ชา สุภทฺโท) ก็ใช้ความวิริยะอุตสาหะ พากเพียรแผดเผากิเลส เคร่งครัดในพระธรรมวินัย มีวัตรปฏิบัติที่งดงาม ตามแบบอย่างครูอาจารย์ จึงเป็นที่เคารพศรัทธาของพุทธศาสนิกชนทั่วไป
นอกจากนี้ ยังได้ทำหน้าที่เผยแผ่พระพุทธศาสนาทั้งภายในและต่างประเทศ ยังความสุข สงบเย็นแก่ผู้สนใจใฝ่ธรรม จนได้รับความไว้วางใจจากพระโพธิญาณเถร (ชา สุภทฺโท) และคณะสงฆ์ให้เป็นผู้ปกครองและดูแลพระภิกษุสามเณรของวัดหนองป่าพง และเป็นที่ปรึกษาของสาขาวัดหนองป่าพงทั้งในและต่างประเทศ ถึงแม้จะไม่ได้กำเนิดที่เมืองอุบลราชธานี แต่ก็อยู่มานานสร้างคุณูปการแก่จังหวัดอุบลราชธานีอย่างอเนกอนันต์
สำหรับ พระราชาคณะ เจ้าคณะรอง เป็นสมณศักดิ์ของพระสงฆ์ไทย มีศักดิ์สูงกว่าพระราชาคณะชั้นธรรม และรองลงมาจากสมเด็จพระราชาคณะ จึงเรียกอีกอย่างว่า รองสมเด็จพระราชาคณะ และโดยสมัยนิยม นิยมตั้งชื่อสมณศักดิ์โดยขึ้นต้นว่า พระพรหมฯ จึงเรียกอีกอย่างว่า พระราชาคณะชั้นพรหม