คำขวัญประจำจังหวัดอุบลราชธานี มีที่มา
ในสมัยรัฐบาลพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ประกาศให้ปี พ.ศ.2530 เป็นปีแห่งการท่องเที่ยวไทย เริ่มตั้งแต่เดือนมกราคม 2530 ไปจนถึงเดือนกรกฎาคม 2531 ในช่วงเวลาดังกล่าว กำหนดให้มีกิจกรรมเกี่ยวกับการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง และเพื่อให้นักท่องเที่ยวเกิดความรู้ ความเข้าใจในแต่ละท้องถิ่น จึงได้ริเริ่มให้มีคำขวัญประจำจังหวัดขึ้น ซึ่งคำขวัญที่แต่ละจังหวัดในประเทศไทยแต่งขึ้น จะบ่งบอกถึงเอกลักษณ์ ความภาคภูมิใจ และความโดดเด่นที่มีอยู่ในจังหวัดนั้นๆ มักเป็นคำคล้องจองสั้น ๆ เพื่อให้จดจำง่าย
สำหรับจังหวัดอุบลราชธานี ได้มอบหมายให้เทศบาลนครอุบลราชธานี ร่วมกับหอการค้าจังหวัดอุบลราชธานี รับไปดำเนินการร่างตัวอย่างคำขวัญประจำจังหวัดฯ นายสุวิชช คูณผล ปราชญ์เมืองอุบลฯ ซึ่งดำรงตำแหน่งปลัดเทศบาลเมืองอุบลราชธานีสมัยนั้น เป็นหนึ่งในคณะทำงาน ได้เสนอตัวอย่างคำขวัญซึ่งรวบรวมได้จากทุกภาคส่วน เสนอต่อผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อพิจารณา และมีการเผยแพร่ในวารสารข่าวหอการค้าจังหวัดอุบลราชธานี ทำให้ตัวอย่างคำขวัญฯ แพร่กระจายไปทั่วประเทศ รับรู้กันทั่วไป หลังจากนั้น ได้มีคำขวัญจังหวัดอุบลราชธานี เพิ่มขึ้นมาอีกหลายชุด ทำให้เกิดความสับสน บางคนงุนงงว่าจะใช้คำขวัญชุดใดแน่ ในที่สุด จังหวัดอุบลราชธานี ได้มีหนังสือที่ อบ0017.2/ว 584 ลงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2543 ให้ใช้คำขวัญจังหวัดอุบลราชธานี ว่า
"เมืองแห่งดอกบัวงาม แม่น้ำสองสี
มีปลาแซบหลาย หาดทรายแก่งหิน
ถิ่นไทยนักปราชญ์ ทวยราษฏร์ใฝ่ธรรม
งามล้ำเทียนพรรษา ผาแต้มก่อนประวัติศาสตร์"
คำว่า "เมืองแห่งดอกบัวงาม" มีความหมายโดยนัย เป็นเมืองที่พระพุทธศาสนาประดิษฐานอย่างมั่นคง ดำรงตลอดมากว่า 200 ปี “ดอกบัว” คือความหมายแห่งความบริสุทธิ์ความดีงาม ความเป็นสิริมงคล ที่ชาวอุบลราชธานี มีความภาคภูมิใจยิ่ง
"แม่น้ำสองสี" เป็นจุดบรรจบของแม่น้ำมูนและแม่น้ำโขง
"มีปลาแซบหลาย" จังหวัดอุบลราชธานีมีแม่น้ำไหลผ่านถึง 3 สาย ได้แก่ แม่น้ำมูน แม่น้ำชี และแม่น้ำโขง จึงอุดมด้วยพันธุ์ปลานานาชนิด เป็นแหล่งอาหารธรรมชาติที่สำคัญของชาวอุบล
"หาดทรายแก่งหิน" แหล่งท่องเที่ยวหลายแห่งในจังหวัดอุบลฯ มีหาดทรายและแก่งหินที่สวยงาม แก่งสะพือ แก่งตะนะ หาดศรีภิรมย์ หาดวิจิตรา ฯลฯ
"ถิ่นไทยนักปราชญ์" พระญาณวโรดม (ประยูร สนฺตงฺกุโร) ได้แสดงปาฏกถาในงานบำเพ็ญกุศลศพ สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ ได้กล่าวถึงจังหวัดอุบลราชธานี ความตอนหนึ่งว่า.... คือท่านเกิดที่จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นจังหวัดของนักปราชญ์ เป็นที่น่าสังเกตว่า สมเด็จพระราชาคณะที่เป็นคนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ล้วนแต่เป็นคนเกิดที่จังหวัดอุบลราชธานีทั้งสิ้น แม้แต่นักปราชญ์ที่มีความสำคัญสูง เช่น ท่านเจ้าพระคุณ พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) ท่านก็เป็นคนจังหวัดอุบลราชธานีเช่นเดียวกัน...
"ทวยราษฎร์ใฝ่ธรรม" ชาวอุบลฯ เคร่งครัดปฏิบัติธรรมในการ "ฟังเทศน์สามัคคี" โดยไม่มีการแบ่งแยกนิกายหรือคุ้มวัด เป็นเอกลักษณ์เฉพาะชาวอุบลฯ มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2498 ต่อเนื่องโดยลำดับ จนถึงปัจจุบัน ก็ยังปฏิบัติอย่างเคร่งครัด
"งามล้ำเทียนพรรษา" มรดกภูมิปัญญา งานประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษา ซึ่งแสดงถึงศรัทธาที่มีต่อพุทธศาสนามาอย่างยาวนาน
"ผาแต้มก่อนประวัติศาสตร์" เป็นข้อความที่เพิ่่มขึ้นภายหลังเมื่อ พ.ศ.2532 เนื่องจากมีการค้นพบภาพเขียนสีประวัติศาสตร์ที่บันทึกเรื่องราวของมนุษย์ยุดก่อนประวัติศาสตร์ ที่อุทยานแห่งชาติผาแต้ม อ.โขงเจียม
ต่อมาในปี พ.ศ.2557 มีการปรับปรุงคำขวัญจังหวัดอุบลราชธานี โดยเพิ่มอีก 2 วรรคสุดท้าย ได้แก่ "ฉลาดภูมิปัญญาท้องถิ่น ดินแดนอนุสาวรีย์คนดีศรีอุบล"
"ฉลาดภูมิปัญญาท้องถิ่น" อุบลราชธานี มีชื่อเสียงในด้านการทอผ้าพื้นเมือง และภูมิปัญญาทางด้านหัตถกรรมมาช้านาน เช่น ผ้าทอเมืองอุบล เครื่องจักรสาน และเครื่องทองเหลือง
"ดินแดนอนุสาวรีย์คนดีศรีอุบล" มาจากคุณงามความดีของชาวอุบล สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ช่วยเหลือเชลยศึกจากกลุ่มประเทศฝ่ายสัมพันธมิตร ความมีน้ำใจในครั้งนั้น นำมาสู่การสร้างอนุสาวรีย์แห่งความดีที่ทุ่งศรีเมือง
สรุปคำขวัญประจำจังหวัดอุบลราชธานี มีดังนี้