โค้ชยอดเยี่ยม กีฬาปีนหน้าผา การแข่งขันกีฬาปัญญาชน 2 ปีซ้อน
คำว่าโค้ช หรือผู้ฝึกสอนกีฬา เป็นที่ทราบกันดีว่า ส่วนใหญ่จะเติบโตมาจากการเป็นนักกีฬาประเภทนั้นๆ มาก่อน เมื่อมีประสบการณ์มากขึ้น คุณวุฒิวัยวุฒิมากขึ้น จึงผันตัวจากนักกีฬาขึ้นไปเป็นโค้ชต่อไป การจะเป็นผู้ฝึกสอนกีฬา โดยที่ตัวเองไม่เคยเป็นนักกีฬามาก่อน ถือว่าเป็นเรื่องยากมากๆ แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้เลย
นางสาวหทัยกาญจน์ พลโกษฐ์ บุคลากรจากมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี เป็นผู้ทำลายความเชื่อที่ว่า จะเป็นโค้ชที่ดีต้องเป็นนักกีฬามาก่อนโดยสิ้นเชิง นอกจากเธอจะไม่เคยเล่นกีฬาชนิดนั้นๆ แล้ว นักกีฬาของเธอก็เพิ่งจะมาเริ่มเล่นกีฬานั้นเช่นเดียวกัน ปีที่ผ่านมา แม้จะเป็นการเข้าร่วมแข่งขันเป็นครั้งแรก ก็สามารถกวาดเหรียญทองได้หลายเหรียญ ตัวเธอเองก็ได้รับรางวัลผู้ฝึกสอนยอดเยี่ยม มาถึงปีนี้ ทั้งนักกีฬาก็ยังคงได้ชัยชนะ เก็บเหรียญทองกลับบ้าน และแน่นอน เธอได้รับรางวัลผู้ฝึกสอนยอดเยี่ยมอีกครั้ง เป็นปีที่สองติดต่อกัน
ด้วยความได้เปรียบในฐานะเจ้าภาพ จัดการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 46 "ราชภัฏอุบลราชธานีเกมส์" คือ ไม่มีค่าใช้จ่ายเรื่องค่าเดินทาง ค่าที่พักสำหรับนักกีฬา จึงทำให้เจ้าภาพสามารถส่งนักกีฬาเข้าแข่งขันได้ทุกชนิดกีฬา แต่ในข้อได้เปรียบก็มีอุปสรรคแฝงอยู่ เนื่องจากหลายชนิดกีฬา ทางเจ้าภาพไม่เคยมีนักกีฬาชนิดนั้นๆ อยู่เลย เรียกว่า ต้องเริ่มจากติดลบก็ว่าได้ ดังเช่น กีฬาปีนหน้าผา ที่คุณหทัยกาญจน์ พลโกษฐ์ รับหน้าที่เป็นผู้ฝึกสอน หรือโค้ช
นางสาวหทัยกาญจน์ พลโกษฐ์ หรือคุณน้ำ กล่าวกับทีมข่าวไกด์อุบลว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 46 พ.ศ.2562 และได้บรรจุกีฬาปีนหน้าผา ประเภท Bouldering เข้าในการแข่งขันครั้งนี้ด้วย โดยที่ในขณะนั้น ทางมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ยังไม่มีนักกีฬาปีนหน้าผาอยู่เลย แม้กระทั่ง หน้าผาจำลองที่จะใช้ฝึกซ้อม ก็ยังไม่มี
คุณน้ำได้เริ่มต้นเข้ามาคลุกคลีกับกีฬาปีนหน้าผา เนื่องจากทางมหาวิทยาลัยฯ ร่วมกับ สมาคมกีฬาปีนหน้าผาแห่งประเทศไทย จัดอบรมผู้ตัดสินกีฬาปีนหน้าผา Level 1 เพื่อเตรียมความพร้อมในการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน โดยคุณน้ำก็สนใจ ได้เข้าร่วมอบรมหลักสูตร ผู้ตัดสินกีฬาปีนหน้าผา Level 1 ด้วย
หลังการอบรมทางสมาคมฯ แนะนำว่า เมื่อมีสนาม มีการจัดการแข่งขัน มหาวิทยาลัยฯ น่าจะมีนักกีฬาเข้าร่วมแข่งขันด้วย ซึ่งทุกปีสมาคมฯ มีการจัดอบรม ผู้ฝึกสอนกีฬาปีนหน้าผา และจะส่งหนังสือแจ้งมาอีกครั้ง เผื่อมีผู้สนใจเข้ารับการอบรม
"โดยส่วนตัวน้ำชอบปีนต้นไม้ ไม่อยู่นิ่ง ชอบที่จะเรียนรู้ ชอบสิ่งท้าท้าย เลยสมัครเข้ารับการอบรม ผู้ฝึกสอน ซึ่งทางมหาวิทยาลัยฯ ได้ให้การสนับสนุน ส่งเข้ารับการอบรมผู้ฝึกสอนกีฬาปีนหน้าผา Level 1" คุณน้ำเล่าถึงการพัฒนาตัวเองจากการอบรมผู้ตัดสิน เป็นเข้าอบรมผู้ฝึกสอนด้วย
หลังผ่านการอบรม ได้ทำการรับสมัครนักกีฬา และเริ่มทำการฝึกซ้อม โดยใช้เวลาในการฝึกซ้อม 58 วัน เวทเสริมสร้างกล้ามเนื้อยี่สิบกว่าวัน และฝึกซ้อมปีนสามสิบกว่าวัน ซึ่งในปีแรกที่ส่งนักกีฬาเข้าแข่งขัน ก็ไม่ทำให้ผิดหวัง นักกีฬามหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี สามารถทำผลงานใน รุ่นมือใหม่ ได้ 3 เหรียญทอง และ 1 เหรียญทองแดง พร้อมกับคุณน้ำ ได้รับรางวัล ผู้ฝึกสอนยอดเยี่ยมหญิง กีฬาปีนหน้าผา ด้วย ผลงานนี้ทำให้ รศ.ธรรมรักษ์ ละอองนวล อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี อนุมัติให้จัดสร้างสนามฝึกซ้อมกีฬาปีนหน้าผา
สำหรับการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 47 ปีนี้ มหาวิทยาลัยรังสิต เป็นเจ้าภาพ คุณน้ำรับสมัครนักกีฬา ใช้เวลาในการฝึกซ้อม 43 วัน เวทเสริมสร้างกล้ามเนื้อ 20 วัน เมื่อหน้าผาแล้วเสร็จ จึงได้ฝึกซ้อมการปีน 23 วัน ซึ่งนักกีฬาก็ยังสามารถทำผลงานในรุ่นมือใหม่ ได้ 1 เหรียญทอง และ 2 เหรียญเงิน ที่สำคัญ คุณน้ำยังได้รับรางวัล ผู้ฝึกสอนยอดเยี่ยมหญิง กีฬาปีนหน้าผา อีกครั้ง เป็นสมัยที่สองติดต่อกัน
คุณน้ำ กล่าวกับไกด์อุบล ด้วยความภาคภูมิใจกับรางวัลที่ได้มา ทั้งของตนเองและของนักกีฬาว่า เทคนิคการฝึกซ้อม หลายๆ คนบอกว่า “เราไม่เก่ง” ยอมรับค่ะว่า “เราปีนไม่เก่ง” เราปีนได้ในระดับที่สรีระเราถึง และความแข็งแรงเราไหว แต่โค้ชแต่ละคนย่อมมีเทคนิคและวิธีการสอนที่แตกต่างกัน เราเรียนรู้จากการอบรม ผู้ฝึกสอนกีฬาปีนหน้าผา Level 1 จากสมาคมฯ เราเรียนรู้จากการที่เราออกกำลังกายรูปแบบต่าง ๆ เราเรียนรู้การพัฒนาจิตใจ เราเรียนรู้การบำบัดร่างกาย และเรียนรู้เทคนิคการปีนในการแข่งขันต่าง ๆ เพื่อที่จะมาดูแลน้อง ๆ นักกีฬา การฝึกซ้อม
เราจะเขียนโปรแกรมการฝึกซ้อมขึ้นมาในแต่ละสัปดาห์ และปรับเปลี่ยนไปตามสมรรถภาพร่างกายของนักกีฬา เราประยุกต์ใช้สิ่งที่มีอยู่อย่างจำกัด มาเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อทุกส่วน เราฝึกให้นักกีฬาวิเคราะห์ Hold หรือตัวจับ เราฝึกนักกีฬาอ่าน Route หรือเส้นทาง ฝึกการสร้าง Balance และฝึกวิเคราะห์สรีระและการใช้ท่วงท่าการปีนของแต่ละคน ฯลฯ รวมทั้งฝึกนักกีฬาด้วยการปล่อยให้เค้าเรียนรู้ที่จะคิดวางแผนด้วยตนเอง พร้อมกับแนะนำเสริมเพิ่มเติมในจุดที่เค้าติดขัด
สิ่งที่สำคัญที่สุดเราเรียนรู้ที่จะสู้ไปด้วยกัน ไม่กดดันกัน เชื่อมั่นกันและกัน รักและมีน้ำใจ สนุก มีความสุข และเต็มที่ไปด้วยกัน ซึ่งนับว่าเป็นโชคดีของน้ำ ที่น้อง ๆ นักกีฬาเก่ง ขยัน มีความรับผิดชอบ ตั้งใจ เพียรพยาม และใจสู้ สามารถทำผลงานได้ดี ได้รับเหรียญรางวัลต่าง ๆ ซึ่งเป็นภาพรวมของทีม จนทำให้ได้รับรางวัลผู้ฝึกสอนหญิงยอดเยี่ยมสองปีซ้อน
ขอขอบคุณท่านอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา รองอธิการบดีทุกท่าน ผู้อำนวยการกองพัฒนานักศึกษา คณบดีคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม และผู้บริหารทุกท่าน พร้อมด้วย อ.ดร.สุรศักดิ์ นิยมพานิชพัฒนา ประธานที่ปรึกษาชมรมปีนหน้าผา และ อ.ปริญญา ทุมมาลา ที่ปรึกษาชมรมปีนหน้าผา ที่ให้โอกาสและให้การสนับสนุนทุกด้าน ตลอดจนขอขอบคุณสมาคมกีฬาปีนหน้าผาแห่งประเทศไทย ที่ถ่ายทอดความรู้และจัดการแข่งขันกีฬาปีนหน้าผา สร้างโอกาสให้แก่นักศึกษา และที่สำคัญขอขอบคุณน้อง ๆ นักกีฬาชมรมปีนหน้าผาทุกคน หรือครอบครัวปีนหน้าผาที่สู้ด้วยกันตลอดมา
ปัจจุบัน นางสาวหทัยกาญจน์ พลโกษฐ์ หรือคุณน้ำ ปฏิบัติหน้าที่เป็น นักวิชาการศึกษา กองพัฒนานักศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ผ่านการอบรมอบรมผู้ตัดสินกีฬาปีนหน้าผา Level 2 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดที่จัดในประเทศไทย แล้ว กำลังรอเข้าอบรมผู้ฝึกสอน Level 2 อยู่ เพื่อพัฒนาทักษะของตนเองและนำมาถ่ายทอดแก่นักกีฬาต่อไป