กาลเวลาพิสูจน์เจ้าภาพ ผ่านไป 1 ปี ราชภัฏอุบลฯ คุ้มมั๊ย?
วันที่ 24 มกราคม 2563 ครบรอบ 1 ปี ไปหมาด ๆ สำหรับ “ราชภัฏอุบลราชธานีเกมส์” หรือการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 46 ที่จัดขึ้นระหว่าง 11 – 20 มกราคม 2562 ที่ผ่านมา ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี และจังหวัดอุบลราชธานีของเรารับอาสาเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน ท่ามกลางข้อกังขามากมาย ไม่ว่าจะเรื่องสนามแข่งขัน งบประมาณที่ใช้ ตลอดจนถึงความสามารถของนักกีฬาเจ้าภาพ จะสู้เขาได้หรือ หรือจะเป็นแค่ ราชภัฏพอกะเทินอย่างที่เคยพูดๆ กัน
ว่าที่ร้อยตรี เชษฐ์ ศรีไมตรี รองอธิการบดีฝ่ายสื่อสารองค์กรและการเรียนรู้ กล่าวกับไกด์อุบลว่า ถึงแม้ว่าการแข่งขันจะจบไปนับปีแล้ว แต่การเป็นเจ้าภาพของมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานีในครั้งนั้น ถือว่าสร้างโอกาสหลายๆ สิ่งหลายๆ อย่างให้กับผู้เกี่ยวข้อง ทั้งชื่อเสียงและสีสันของจังหวัดอุบลราชธานี ที่มีโอกาสได้ต้อนรับนักกีฬาและผู้เกี่ยวข้องกับการแข่งขันกว่าสองหมื่นคน การสร้างแรงบันดาลใจสำหรับเยาวชนในจังหวัดกับการเห็นการประลองฝีมือของนักกีฬาระดับโลก เช่น น้องเมย์ รัชนก อินทานนท์ จากกีฬาแบดมินตัน การพัฒนาทักษะการจัดการแข่งขันกีฬาระดับชาติของบุคลากรและอาสาสมัครที่เกี่ยวข้อง
นอกจากนี้ “ราชภัฏอุบลราชธานีเกมส์” เมื่อปี 2562 ที่ผ่านมา ยังสร้างโอกาสสำหรับนักกีฬาเยาวชน และนักกีฬามหาวิทยาลัยของมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานีเช่นกัน นับตั้งแต่ “สถาบันราชภัฏอุบลราชธานี” ได้รับการยกฐานะขึ้นเป็น “มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี” ตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ ที่ประกาศใช้ในปี พ.ศ.2547 มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ก็เริ่มส่งนักกีฬาของเข้าร่วมชิงชัยใน “การแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย” เป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2548 ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จ.นครราชสีมา
ตลอดระยะเวลสิบกว่าปี ที่เข้าร่วมแข่งขัน จนถึงการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 45 “ราชมงคลธัญบุรีเกมส์” เมื่อปี พ.ศ.2561 ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี จ.ปทุมธานี นั้น ทีมนักกีฬามหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี เคยมีโอกาสคว้าเหรียญทองเพียงแค่ครั้งเดียว จากกีฬากรีฑา ซึ่งการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทยนั้น มีการแข่งขันในรอบคัดเลือกของภูมิภาคต่าง ๆ โดยเฉพาะกีฬาประเภททีม ก่อนที่จะผ่านไปชิงชัยในรอบมหกรรม
ว่าที่ร้อยตรี เชษฐ์ ศรีไมตรี รองอธิการบดีฯ กล่าวต่อว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ก็คล้ายมหาวิทยาลัยราชภัฏส่วนใหญ่ ที่เน้นส่งกีฬาประเภททีมเข้าคัดเลือกในภูมิภาคเป็นหลัก ซึ่งกว่าจะผ่านด่านเข้าไปสู่รอบมหกรรมได้ก็ยากเย็นพอตัว ส่วนการแข่งขันกีฬาอื่นๆ ในประเภทบุคคลที่สามารถส่งแข่งขันในรอบมหกรรมได้โดยตรงก็มีโอกาสน้อย เนื่องจากนักกีฬาในส่วนภูมิภาคบ้านเรา หากต้องไปแข่งก็ต้องชิงชัยกับนักกีฬาทีมชาติของมหาวิทยาลัยใหญ่ๆ ในส่วนกลางที่จับจองเหรียญทองไว้เกือบทุกชนิด ดังนั้น จึงยากที่มหาวิทยาลัยจะส่งกีฬาประเภทบุคคลเข้าแข่งขันในรอบมหกรรม ซึ่งต้องใช้งบประมาณสูงมาก
การที่มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี รับเป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 46 “ราชภัฏอุบลราชธานีเกมส์” เมื่อต้นปี 2562 ที่ผ่านมา และนับเป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏแห่งแรกที่รับหน้าที่เจ้าภาพทัวนาเมนต์นี้ ทำให้สามารถใช้โอกาสในการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน ส่งนักกีฬาภูธร เข้าร่วมการแข่งขันประลองฝีมือกับนักกีฬาทีมชาติได้อย่างไม่จำกัด และสามารถคว้าเหรียญรางวัลได้ถึง 6 เหรียญทอง 3 เหรียญเงิน และ 7 เหรียญทองแดง เป็นที่น่าสังเกตว่า ได้เหรียญทองจากกีฬาประเภทบุคคลแทบทั้งสิ้น อีกทั้งยังเป็นกีฬาที่ไม่เคยมีโอกาสส่งนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขันอีกด้วย เช่น เพาะกายและฟิตเนส ปีนหน้าผา เป็นต้น
เจ้าภาพปิดฉากสวย คว้าทองเหรียญที่ 6 มวยไทยสมัครเล่นชาย
กีฬาเพาะกาย ม.ราชภัฏอุบลฯ เจ้าภาพ ได้อีก 2 เหรียญทอง
ฮีโร่!! ม.ราชภัฏอุบลฯ คว้า 3 ทอง 1 ทองแดง + โค้ชยอดเยี่ยม
จากการแข่งขันในคราวที่แล้ว ทำให้มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ตัดสินใจลงทุน ส่งนักกีฬาประเภทบุคคลในหลายชนิดกีฬาที่ประสบความสำเร็จเมื่อครั้ง “ราชภัฏอุบลราชธานีเกมส์” เมื่อต้นปี 2562 เข้าแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 47 “The Sun Games” ที่มหาวิทยาลัยรังสิต เป็นเจ้าภาพระหว่างวันที่ 10 – 19 มกราคม พ.ศ.2563 ที่เพิ่งเสร็จสิ้นลงไป
ถือเป็นการต่อยอดที่สำคัญ ที่นักกีฬามหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี สามารถคว้าเหรียญรางวัลมาได้อีกถึง 3 เหรียญทอง 6 เหรียญเงิน และ 2 เหรียญทองแดง ในกีฬาเพาะกายและฟิตเนส กีฬาปีนหน้าผา และกีฬาลอนโบวล์ส โดยที่ครั้งนี้ ไม่มีความได้เปรียบจากการเป็นเจ้าภาพเหมือนครั้งที่ผ่านมา
นอกจากนี้ ยังมีนักกีฬาของมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานีถึง 2 คน ที่สามารถรักษามาตรฐาน คว้าเหรียญรางวัลได้ต่อเนื่องจากการแข่งขันครั้งที่แล้ว ได้แก่ นายธัญดนัย บุญช่วย และ นายชานน สันต์สี จากกีฬาเพาะกายและฟิตเนส
อีกทั้งยังมีนักกีฬาและผู้ฝึกสอนของทีมมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ได้รับรางวัลสำคัญจากการแข่งขันอีกสองรางวัล คือ รางวัลนักกีฬายอดเยี่ยมหญิงกีฬาลอนโบวล์ส “นางสาวจารุวรรณ ช่างดี” และรางวัลผู้ฝึกสอนยอดเยี่ยมกีฬาปีนหน้าผา “นางสาวหทัยกาญน์ พลโกษฐ์ ซึ่งทั้งหมดนี้ คือ นักกีฬาและผู้ฝึกสอนหน้าใหม่ ที่เพิ่งเริ่มต้นการเล่นกีฬาและฝึกสอนกีฬาเหล่านี้เมื่อการแข่งขัน “ราชภัฏอุบลราชธานีเกมส์” เมื่อปีที่ผ่านมาแท้ ๆ
แม้ “ราชภัฏอุบลราชธานีเกมส์” จะจบลงไปแล้วนับปี แต่ “โอกาส” ที่เกิดขึ้นจากครั้งนั้น ยังมีผลอย่างต่อเนื่อง ทั้งต่อชื่อเสียงของมหาวิทยาลัย ชื่อเสียงของชาวจังหวัดอุบลราชธานี และชื่อเสียงของเด็กนักศึกษาลูกอีสานอีกหลายคน ที่บางคนกำลังจะมีข่าวดีในไม่ช้านี้...