ประเภทของใช้
ผ้าทอเมืองอุบล ผ้าฝ้ายทอมือ หมอนขิด ผ้าขาวม้า ผ้าไหม เครื่องทองเหลือง เครื่องจักรสานจำพวกกระด้ง กระติ๊บข้าว ข้องใส่ปลา ตะกร้า นักท่องเที่ยวสามารถหาซื้อได้จากร้านขายของที่ระลึก บริเวณถนนเขื่อนธานี ใกล้กับโรงแรมราชธานี หรือจากบริเวณตลาดในตัวเมือง
ประเภทอาหาร
ได้แก่ หมูยอ กุนเชียง ไส้กรอกอีสาน และ เค็มบักนัด (เค็มสับปะรด) ซึ่งเป็นอาหารพื้นเมืองที่ขึ้นชื่อของจังหวัดอุบลราชธานี ทำด้วยเนื้อปลาสวายหรือปลาเทโพ หั่นเป็นชิ้นยาวๆ ดองในน้ำเกลือและเนื้อสับปะรดที่ซอยเป็นชิ้นเล็กๆ บรรจุในขวดแก้ว สามารถนำมาปรุงเป็นอาหารได้หลายอย่าง เช่น อาหารประเภทหลน มีจำหน่ายทั่วไปในตัวเมือง
บ้านท่าข้องเหล็ก
ตั้งอยู่บนทางหลวงหมายเลข 226 สายอุบล-ศรีสะเกษ ประมาณ 3 กม. (ข้างโรงเรียนวารินชำราบ) เป็นหมู่บ้านซึ่ง ทำหม้อดิน กันทั้งหมู่บ้าน โดยนำดินเหนียวในลุ่มแม่น้ำมูล มานวดให้เข้าเนื้อแล้วผสมกับแกลบและอื่นๆ ซึ่งเป็นวิธีที่น่าสนใจมาก วิธีนี้ ไม่มีเครื่องจักรมาเกี่ยวข้องเลย
บ้านปะอาว
ตั้งอยู่ตำบลหนองขอน ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 18 กม. ตามทางหลวงหมายเลข 23 ทางไปยโสธร ถึงหลักกิโลเมตรที่ 273 เลี้ยวขวาไปอีก 3 กม. เป็นหมู่บ้านที่เก่าแก่มากแห่งหนึ่งของจังหวัดอุบลราชธานี เป็นหมู่บ้านที่มีอาชีพที่เป็นสัญลักษณ์ประจำหมู่บ้าน ซึ่งได้รับการถ่ายทอดจากบรรพบุรุษ คือ การทำเครื่องทองเหลือง กรรมวิธีการผลิตยังเป็นแบบดั้งเดิม นอกจากนี้แล้ว ในหมู่บ้านยังมีศูนย์สาธิต และจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทองเหลือง และทอผ้าไหมที่สวยงาม เปิดทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดราชการ
ฆ้องทองเหลืองที่บ้านทรายมูล
ตั้งอยู่ในเขตอำเภอพิบูลมังสาหาร ห่างจากตัวอำเภอราว 15 กม. ตามทางหลวงหมายเลข 2222 (พิบูล-โขงเจียม) ชาวบ้านในหมู่บ้านมีฝีมือในการทำฆ้องทองเหลือง
ชุมชนบ้านกุ่ม
เป็นชุมชนเกษตรกรรมที่มีความหลากหลาย ส่วนใหญ่จะทำการเกษตรตามฤดูกาล เช่น ปลูกข้าวในฤดูฝน หลังจากนั้นก็ปลูกพืชผักจำพวกถั่ว ข้าวโพด มัน และทำการประมงซึ่งสามารถทำได้ตลอดปี เป็นชุมชนที่ยังคงดำรงวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม ยังคงมีการแลกเปลี่ยนผลิตผลที่ได้ซึ่งกันและกิน สำหรับการทอผ้าในอดีตเป็นการใช้เวลาว่างหลังการทำงานตามปกติ หรือการทอเพื่อนำมาใช้สอย ปัจจุบัน การทอผ้า ของชุมชนนี้ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการส่งเสริมชุมชนของอุทยานแห่งชาติผาแต้ม เพื่อเสริมรายได้ให้กับชาวบ้านและชุมชน โดยมีผู้เข้าร่วมโครงการประมาณ 15 หลังคาเรือน ผ้าที่ทอคือ ผ้าฝ้าย นำมาย้อมสีจากธรรมชาติ
ชุมชนบ้านท่าล้ง ชาวบลู (บรู)
เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่พูดภาษาตระกูลมอญ-เขมร เช่นเดียวกับชาวกวย แต่เรียกชื่อต่างกันตามสภาพภูมิประเทศ ชาวบลูอาศัยอยู่ใกล้ภูเขา จึงเรียกตัวเองว่า "บลู" ซึ่งภาษากวยแปลว่าภูเขา อาศัยอยู่ 3 หมู่บ้าน คือ บ้านเวินบึก บ้านท่าล้ง และบ้านหินคก ในเขตอำเภอโขงเจียม เป็นกลุ่มจักสาน กระติบข้าวสานด้วยไม้ไผ่ ที่สืบทอดต่อกันมานานจนถึงปัจจบัน
หมู่บ้านหัตถกรรมเวินบึก
ตั้งอยู่ในเขตอำเภอโขงเจียม เป็นจุดที่แม่น้ำโขงไหลออกจากประเทศไทย และเป็นบริเวณที่เห็นพระอาทิตย์ขึ้นก่อนใคร หมู่บ้านนี้ ทอผ้าไหมมัดหมี่ส่งให้กับร้านค้าจิตรดา โดยได้รับการส่งเสริมการทอผ้า จากโครงการส่งเสริมศิลปาชีพบ้านเวินบึกในพระบรมราชินูปถัมภ์ และยังมีหมู่บ้านเข้าร่วมโครงการอีก 2 แห่ง คือ บ้านห้วยหมากใต้และบ้านท่าแพ |