กรมการศาสนา ร่วมกับ สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดอุบลราชธานี จัดงานสัปดาห์ “มาฆบูชาอาเซียน เพื่อส่งเสริมสัมพันธไมตรีกับประเทศอาเซียน ในมิติศาสนาและวัฒนธรรม” จังหวัดอุบลราชธานี ประจำปี 2568 ระหว่างวันที่ 8-9 กุมภาพันธ์ 2568 ณ วัดสิรินธรวรารามภูพร้าว อำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี ประเทศไทย และ วัดหลวงปากเซ แขวงจำปาสัก สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เพื่อส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมในมิติทางพุทธศาสนา สานสัมพันธ์อาเซียน เนื่องในเทศกาลมาฆบูชา
โดยการนำกิจกรรมวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา มาใช้เป็นสื่อกลางสานสัมพันธ์อันดีของประเทศในภูมิภาคอาเซียน และนำมิติด้านศาสนา วัฒนธรรม มาเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีกับประเทศเพื่อนบ้าน ไทย-ลาว อีกทั้ง ในปี พ.ศ. 2568 เป็นปีแห่งการเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-ลาว ครบรอบ 75 ปี โดยประเทศไทย จัดพิธีทางพุทธศาสนา และกิจกรรมส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมในมิติศาสนาและวัฒนธรรม
มีการสาธิตจัดทำขันหมากเบ็ง การสาธิตจัดดอกไม้บูชาถวายพระ การสาธิตจัดชุดดอกไม้เวียนเทียน การจัดแสดงสินค้าชุมชนคุณธรรมพลังบวร OFOS การแสดงดนตรีชุด “สายธรรมแห่งมหานทีสีทันดอน” ในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2568 ณ วัดสิรินธรวรารามภูพร้าว อำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี
และในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2568 สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว จัดกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาและกิจกรมเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-ลาว ครบรอบ 75 ปี โดยมีพิธีเจริญพระพุทธมนต์ เนื่องในเทศกาลมาฆบูชา และพิธีทอดผ้าป่าสามัคคี 2 แผ่นดิน และรับชมการแสดงศิลปวัฒนธรรมอาเซียนเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรมอาเซียน (ไทย-สปป ลาว) ณ วัดหลวงปากเซ แขวงจำปาสัก สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
วัดสิรินธรวรารามภูพร้าว หรือที่ชาวบ้านนิยมเรียกว่า วัดภูพร้าว หรือ วัดเรืองแสง เดิมพื้นที่ตั้งวัดเป็นป่า มีหน้าผาสูง ไม่มีแหล่งน้ำ จึงไม่มีชาวบ้านอาศัยอยู่ จนราว พ.ศ. 2495–2498 พระอาจารย์บุญมาก ฐิติปัญโญ เดินทางจากประเทศลาวมาพักปักกลดที่ภูพร้าว และให้ชื่อว่า “วัดภูพร้าว” ต่อมาราว พ.ศ. 2516–2517 พระอาจารย์บุญมากได้เดินทางกลับไปยังวัดภูมะโรง เมืองจำปาสัก เนื่องจากเกิดความไม่สงบทางการเมืองในประเทศลาว วัดภูพร้าวจึงถูกปล่อยร้างเรื่อยมา
เมื่อ พ.ศ. 2535 อำเภอสิรินธรได้แยกตัวออกจากอำเภอพิบูลมังสาหาร จึงได้เปลี่ยนชื่อวัดมาเป็น “วัดสิรินธรวราราม” ตามชื่ออำเภอ จน พ.ศ. 2542 พระครูกมลภาวนากร เจ้าอาวาสและผู้บูรณะพัฒนาวัดภูหล่น ตำบลสงยาง อำเภอศรีเมืองใหม่ จังหวัดอุบลราชธานี ได้เข้ามาบูรณะวัดจนได้รับอนุญาตตั้งวัดเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2545 ในนาม “วัดสิรินธรวรารามภูพร้าว” มีเนื้อที่วัดทั้งหมด 15 ไร่ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2547
จุดเด่นของวัด คือ อุโบสถที่ผนังภายนอกมีงานพุทธศิลป์รูปต้นกัลปพฤกษ์เรืองแสง โดยช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดในการดูต้นไม้เรืองแสง คือ เวลา 18.00-20.00 น. ต้นกัลปพฤกษ์จะเรืองแสงโดดเด่นสะดุดตา และด้วยวัดนี้ตั้งอยู่บนภูเขา จึงกลายเป็นจุดชมทิวทัศน์ที่สวยงาม มองเห็นทัศนียภาพอ่างเก็บน้ำและจุดผ่านแดนถาวรช่องเม็ก ซึ่งในช่วงกลางวันต้นกัลปพฤกษ์ต้นนี้จะดูดแสงแดดเอาไว้ เมื่อตกกลางคืนก็จะปรากฏเป็นต้นไม้เรืองแสงงดงาม ตัวอุโบสถมีต้นแบบมาจากวัดเชียงทอง ประเทศลาว
วัดหลวงปากเซ หรือ วัดโพธิ์ระตะนะสาสะดาราม เป็นวัดในปากเซ แขวงจำปาสัก ประเทศลาว อยู่บริเวณที่แม่น้ำเซโดนไหลไปบรรจบกับแม่น้ำโขง เกิดเป็นเส้นสายน้ำสองสีที่ตัดกันระหว่างน้ำเซสีเขียวเข้มกับน้ำของหรือน้ำโขงสีน้ำตาลอ่อน เป็นหนึ่งในวัดที่ใหญ่ที่สุดในบรรดา 20 วัดในปากเซ ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเซดอนใกล้กับสะพานข้ามแม่น้ำและสนามบิน มีภาพเขียนที่สวยงามมากมายเกี่ยวกับชีวิตของพระพุทธเจ้าและคำสอนของพระองค์ มีสวนที่ได้รับการดูแลเป็นอย่างดีและประตูไม้ที่แกะสลักอย่างวิจิตรบรรจง นอกจากปากเซจะเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของลาวใต้แล้ว เมืองนี้ยังเป็นศูนย์กลางทางศาสนาของลาวใต้อีกด้วย เพราะเป็นที่ตั้งของวัดหลวงปากเซ ศูนย์กลางแห่งวัฒนธรรมและแหล่งรวมจิตใจของชาวลาวใต้มาอย่างยาวนาน
8 กุมภาพันธ์ 2568
เวียนเทียน วันมาฆบูชา-อาเซียน อุบล-จำปาสัก
12 กุมภาพันธ์ 2568
เวียนเทียน วันมาฆบูชา เพ็ญ เดือน 3
เมื่อเวียนเทียนเสร็จเรียบร้อย สามารถนำเทียนกลับบ้านได้ มอบให้เป็นชิ้นงานที่ระลึกในปีนี้