อุบลฯ เปิดนิทรรศการพหุวัฒนธรรม ซิกข์ ฮินดู พุทธ

วันอาทิตย์ที่ 23 กุมภาพันธ์ 2568 ณ Sikh Gurudwara (ศูนย์รวมซิกข์ศาสนาอุบลราชธานี) และ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อุบลราชธานี ร้อยตรี สรมงคล มงคละศิริ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เป็นประธานในพิธีเปิดนิทรรศการ “จากอินเดีย: ดินแดนแห่งการตื่นรู้ สู่ อุบลราชธานีศรีวนาลัย” 

นิทรรศการดังกล่าว มีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อสร้างความรู้และความเข้าใจ เกี่ยวกับความหลากหลายทางวัฒนธรรมและมรดกทางวัฒนธรรมของจังหวัดอุบลราชธานี ที่มีความเชื่อมโยงกับสาธารณรัฐอินเดียผ่านอิทธิพลของศาสนาซิกข์ ศาสนาฮินดู และศาสนาพุทธ โดยจัดแสดงเป็นระยะเวลา 1 เดือน ระหว่างวันที่ 23 กุมภาพันธ์ – 22 มีนาคม 2568 (เว้นวันจันทร์และอังคาร) ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อุบลราชธานี 

ภายในงานประกอบไปด้วย การร่วมพิธีทางศาสนา ณ Sikh Gurudwara ร่วมรับประทานอาหาร ณ โรงครัวพระศาสดาลังกัร (Langar) ร่วมพิธีอัรดาส พิธีขอพรจากพระศาสดาให้ช่วยดลบันดาลประทานพรให้กับเหล่าศาสนิกชน 

พิธีเปิดนิทรรศการและเยี่ยมชม 3 ห้องจัดแสดงผลงาน ได้แก่ 
- นิทรรศการ “อุบลราชธานี วิถีซิกข์”
- นิทรรศการ “ศิลปะและสถาปัตยกรรมวัดฮินดู : จากอินเดียใต้สู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้” และ
- นิทรรศการ “พุทธศิลป์สองลุ่มน้ำ :จากคงคาสู่แม่โขง” 

การจิบชาและอาหารว่างแบบอินเดีย การเสวนาทางวิชาการ โดยวิทยากร ได้แก่
- นางสาวเชาวนี เหล็กกล้า หัวหน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอุบลราชธานี
- ดร.ลลิดา บุญมี และ อ.ยง บุญอารีย์ คณะศิลปะประยุกต์และสถาปัตยกรรมศาสตร์
- ผศ.ดร.สมศรี ชัยวณิชยา คณะศิลปศาสตร์
พร้อมชมการแสดงวัฒนธรรมอินเดียจากชมรมนาฏกันเกรา มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี 

อนึ่งจังหวัดอุบลราชธานี ยังมีความเชื่อมโยงทางวัฒนธรรมกับสาธารณรัฐอินเดีย ทั้งในแง่ของการค้นพบโบราณสถานและโบราณวัตถุที่สำคัญ อาทิ จารึกพระเจ้าจิตรเสน อักษรปัลลวะ เทวรูปพระคเณศ พระอรรธนารีศวร รวมถึงร่องรอยอารยธรรมที่มีความสัมพันธ์กับความเชื่อในศาสนาพราหมณ์ ฮินดู และพุทธ รวมถึงมีชุมชนชาวไทยซิกข์ (ชาวไทยเชื้อสายอินเดีย) จำนวนมากที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง นิทรรศการดังกล่าวจึงเป็นสิ่งสะท้อนความสัมพันธ์อันดีระหว่างจังหวัดอุบลราชธานี ประเทศไทย และสาธารณรัฐอินเดีย อันจะนำไปสู่การต่อยอดความร่วมมือระหว่างกันในอนาคต 

ทั้งนี้ นิทรรศการ “จากอินเดีย: ดินแดนแห่งการตื่นรู้ สู่ อุบลราชธานีศรีวนาลัย” เป็นการบูรณาการการทำงานเพื่อสร้างองค์ความรู้ด้านอินเดียร่วมสมัยในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง โดยศูนย์ศึกษาอินเดียแห่งมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ร่วมกับ สำนักศิลปากรที่ 9 อุบลราชธานี และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อุบลราชธานี พร้อมภาคีเครือข่าย ศูนย์รวมศาสนาซิกข์อุบล มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โดยคณะศิลปะประยุกต์และสถาปัตยกรรมศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ และ โครงการวิจัยพหุวัฒนธรรมย่านเมืองเก่าอุบลราชธานี Indian Institute of Technology – Hyderabad และสมาคมศรีคุรุสิงห์สภา ภายใต้การสนับสนุนของสถานเอกอัครราชทูตอินเดียประจำประเทศไทย

 สำหรับผู้สนใจเข้าชมหรือประสงค์เยี่ยมชมเป็นหมู่คณะ สามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ 045 251015

Sticky