วันที่ 3 เมษายน 2568 จังหวัดอุบลราชธานี จัดพิธีวางพวงมาลาสักการะ น้อมรำลึกคุณงามความดี พลตรีพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ประจำปี 2568 เพื่อรำลึกคุณงามความดี ครั้งดำรงตำแหน่งข้าหลวงต่างพระองค์สำเร็จราชการมณฑลอีสาน นำมาซึ่งความเจริญก้าวหน้าของจังหวัดอุบลราชธานี ณ พระอนุสาวรีย์พลตรีพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ บริเวณทุ่งศรีเมือง อ.เมือง จ.อุบลราชธานี
กิจกรรมภายในงาน มีการกล่าวสุนทรพจน์ น้อมรำลึกคุณงามความดี พลตรีพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ โดยนางสาวณิชา อมรชัยเลิศรัตน์ (แพรวา) นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช ซึ่งเป็นนักเรียนทุนสู้ชีวิตของโรงเรียน โดยมีใจความ ดังนี้
พลตรีพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ทรงมีพระนามเดิมว่า พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าชุมพลสมโภช เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ 37 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาพึ่ง เมื่อวันอังคารที่ 29 ธันวาคม พ.ศ.2400 เป็นต้นราชสกุลชุมพล
ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2427 ทรงได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยจาก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระเชษฐาของพระองค์ ให้เป็นข้าหลวงใหญ่ต่างพระองค์ เสด็จไปรับราชการที่มณฑลลาวกาว ต่อมาได้เปลี่ยนเป็นมณฑลอีสาน โดยครอบคลุมท้องที่จังหวัดอุบลราชธานี ยโสธร อำนาจเจริญ สุรินทร์ ศรีสะเกษ ร้อยเอ็ด มหาสารคาม นครจำปาศักดิ์ และกาฬสินธุ์ สังเกตุได้ว่าพื้นที่อณาเขตที่ท่านได้ควบคุมดูแลนั้น ครอบคลุมภาคอีสานเกือบทั้งภาค แต่ท่านเลือกประทับที่เมืองอุบลราชธานี ทรงพบรักกับหม่อมเจียงคำที่เมืองอุบลราชธานี
พระราชกรณียกิจของพระองค์ คือ ทรงจัดตั้งกองทหารที่เมืองอุบลราชธานี เมื่อปี พ.ศ.2431 / ทรงจัดตั้งโรงเรียนแผนที่ สอนให้รู้จักทำถนนหนทางทั้งถนนในและนอกเมืองอุบลราชธานี หรือ ทรงขอจัดตั้งกองตำรวจภูธรขึ้นในมณฑลอีสานประจำเมืองอุบลราชธานี ณ บริเวณหนองสะพัง คือ บริเวณวัดเหนือวัดป่าใหญ่ในปัจจุบัน และทรงริเริ่มประเพณีแห่เทียนพรรษา ซึ่งจะกลายเป็นประเพณีอันยิ่งใหญ่อลังการของอุบลราชธานีในปัจจุบัน และตั้งกองบัญชาการที่จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม ปี พ.ศ.2436 ทรงทำหน้าที่เป็นระยะเวลายาวนานกว่า 17 ปี กระทั่งปี พ.ศ. 2453 ได้เสด็จกลับกรุงเทพฯ
กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์และหม่อมเจียงคำ ทั้งสองพระองค์ได้เสียสละทรัพย์สินส่วนพระองค์ให้แก่ชาวเมืองอุบลราชธานีได้นำไปใช้ประโยชน์ ทั้งสิ้น 6 แปลง ดังนี้ แปลงที่ 1 บริเวนศาลากลางเก่า ปัจจุบันคือพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอุบลราชธานี แปลงที่ 2 ที่ตั้งสำนักงานอุบลราชธานีเทศบาลนครอุบลราชธานี แปลงที่ 3 ทุ่งศรีเมืองและ รร.อนุบาลอุบลราชธานี แปลงที่ 4 ศาลจังหวัดอุบล และบ้านพักตุลาการ แปลงที่ 5 ที่ว่าการอำเภอเมืองอุบลฯ หลังแรก แปลงที่ 6 ที่ตั้งของ รร.เบ็ญจะมะมหาราชหลังเก่า
เมื่อเสด็จกลับกรุงเทพฯ แล้วทรงได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงวัง ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงได้รับสถาปนาพระเกียรติยศเป็น พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ และได้กราบถวายบังคมลาออกจากราชการ เนื่องจากทรงชราและมีพระอนามัยไม่สมบูรณ์ กระทั่งสิ้นพระชนม์ลงเมื่อวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2465 สิริพระชันษาได้ 65 ปี
กล่าวได้ว่า กิจการหลายสิ่งหลายอย่างที่ปรากฏอยู่ในบริเวณเมืองอุบลราชธานีในทุกวันนี้ ล้วนแล้วแต่ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่สมัยที่พระองค์ทรงดำรงตำแหน่งข้าหลวงต่างพระองค์ สำเร็จราชการ หัวเมืองมณฑลลาวกาว หรือมณฑลอีสาน ประทับที่เมืองอุบลราชธานีเกือบทั้งสิ้น ต่อมา คณะกรรมการมูลนิธิอุบลราชนีอนุสาวรีย์คนดีศรีวนาลัย เป็นองค์กรแหล่งรวมพลังแห่งความรักความสามัคคี นำอดีตที่ดีมาฟื้นฟู เชิดชูในปัจจุบัน สร้างสรรค์สู่อนาคต ได้เห็นถึงความสำคัญของพระองค์ โดยต้องการให้คนรุ่นหลังได้รับรู้ จึงได้ร่วมมือจากพี่น้องประชาชนคนทั่วไปในจังหวัดอุบลราชธานีทั้ง 25 อำเภอ ที่ได้ร่วมกันบริจาค โดยไม่ใช้เงินจากทางราชการเพื่อสร้างอนุสาวรีย์ พลตรีพระเจ้าบรมเธอ กรมหลวงสรรพ์สิทธิประสงค์ ให้คงอยู่คู่เมืองอุบลราชธานีสืบต่อไป
ฉะนั้น จึงกำหนดให้ วันที่ 3 เมษายน อันเป็นวันสิ้นพระชนม์ของพระองค์ ให้เป็นวันรำลึกคุณงามความดีของพระองค์ ซึ่งนั่นก็คือวันนี้ วันที่ทุกท่านได้มารวมตัวกันเพื่อรำลึกถึงคุณงามความดีและสืบต่อเรื่องราวของพระองค์ให้ชนรุ่นใหม่ ต่อไป… ขอบพระคุณค่ะ
นางสาวณิชา อมรชัยเลิศรัตน์ (แพรวา)
ขณะนี้กำลังศึกษาอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5
นักเรียนทุนสู้ชีวิตของโรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช